ผู้ต้องขังยังแข่งกันอ่าน! รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์เชื่อ ‘หนังสือนี่แหละเปลี่ยนคน’ จ่อแมตช์ น.ศ.สอนอ่านเขียน – ‘เบนซ์ เรซซิ่ง‘ เคยขอเป็นบรรณารักษ์ เผยในเรือนจำต้องการอีกมาก – ‘หรั่งพระนคร’ เล่า หลายคนพ้นโทษต่อยอดอาชีพ ‘ยูทูบเบอร์’ รายได้ปัง!
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 เมษายน ที่ลานสานฝัน สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มอบหมายให้ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีฯ ร่วมเปิดกิจกรรม Kick off ‘โครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ’ (Read for Release) โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และแขกผู้มีเกียรติร่วมด้วยคับคั่ง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เครือมติชน ร่วมกับ มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ได้ร่วมส่งมอบหนังสือในโครงการ ’Trust in Reading ปันความรู้ สู่โอกาสใหม่‘ ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถาน 24 แห่ง จาก 48 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 170 ปก/แห่ง เพื่อเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนโครงการ Read for Release เพิ่มพูนทักษะความรู้เพื่อต่อยอดโอกาสให้แก่ผู้ก้าวพลาด
ต่อมาเวลา 14.30 น. มีเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ความสำคัญของการอ่านหนังสือเพื่อประกอบการเลื่อนชั้นและลดวันต้องโทษจำคุก” โดย นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ดร.สิริกร มณีรินทร์ หรือ ดร.ตุ๊ก นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน, นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ Read for Release ร่วมด้วย ผู้พ้นโทษที่ประสบความสำเร็จจากการอ่าน ได้แก่ นายอริย์ธัช วรโรจน์เจริญเดช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง และ นายอัครินทร์ ปูรี หรือ หรั่งพระนคร
นายชาญกล่าวว่า โครงการนี้ เป็นนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยน ‘ดินแดนต้องห้าม กับคนต้องคำสาป’ จะทำอย่างไรให้เป็น ‘ดินแดนต้องห้ามพลาด กับคนที่สังคมต้องการ’ ซึ่งทุกนาทีเรามีปณิธานร่วมกันคือ ‘คืนคนดีกลับสู่สังคม’ ไม่ยอมแพ้ต่อกาลเวลา ซึ่งการอ่านจะทำให้คนมีความรู้ และเมื่อมีความรู้ จะมีมายเซ็ต (mindset) ซึ่งจะเปลี่ยนได้ต้องมีอะไรที่เป็น material
“เหมือนเด็กที่ต้องคลานก่อนเดิน การที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นคนหาเช้ากินค่ำที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ เราจะช่วยเขาได้ด้วยหนังสือ โดยหลักเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นมาคือ 1 เล่มอ่าน 1 เดือน ลดโทษได้ 4 วัน และ 1 ปีอ่าน 12 เล่ม ลดได้ 48 วัน” นายชาญกล่าว และว่า
ในระหว่างนี้ ต้องแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดนโยบายอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ ซี่งจะต้องมีการแก้ทั้งกฎกระทรวง และ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการประชามติ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ‘การเลื่อนชั้น’ ด้วยการอ่านหนังสือ จากชั้นกลาง เป็นชั้นดี สู่ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม โดยที่ได้ลดวันเหมือนกัน ซึ่งมีผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการในเรือนจำนำร่องทั้ง 21 แห่ง และยังเปิดโอกาสให้เรือนจำอื่นๆ ที่สนใจด้วย

ในตอนหนึ่ง นายชาญกล่าวว่า ลำพัง กรมราชทัณฑ์อย่างเดียวไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้สำเร็จ เพราะในดินแดนต้องห้ามเราเก่งในเรื่อง ‘การควบคุม’ แต่ไม่ได้เก่งในเรื่องของ ‘การแก้ไข’ ในขณะเดียวกัน การสร้าง Positive ในเรือนจำ เราทำแล้ว แต่ภายนอกเรือนจำต้องให้ภาคีเครือข่ายภายนอกช่วยอีกแรง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อน เป็นฟันเฟืองที่จะทำให้สังคมได้รับรู้ ว่าราชทัณฑ์แก้ไขแล้ว มาช่วยกันให้โอกาสได้
“คนไทยต้องรักคนไทย คนไทยต้องไม่ทิ้งคนไทย ต่อง ให้โอกาสคนไทย สังคมจึงจะปลอดภัย” นายชาญกล่าว พร้อมฝากถึงผู้ต้องขังในเรือนจำด้วยว่า
ในยุคสมัยนี้ บริหารด้วยมือเท้าแบบเดิมไม่ได้ ต้องบริหารด้วยการให้ใจ ให้เขากลับมาเป็นคนดี จากที่ก้าวร้าว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ก็ต้องใช้วิธีแบบนี้ หนังสือนี่แหละเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ และทำให้คนเปลี่ยน” นายชาญกล่าว
ในตอนหนึ่ง นายเรืองศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า ถ้าไม่มีเพื่อนที่ดีร่วมทางคอยสนับสนุนตลอดมา เราคงมาไม่ได้ถึงจุดนี้ ‘สตาร์บัคส์ประเทศไทย’ สนับสนุนมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กป็นปีที่ 21 แล้ว โดยในแต่ละปีจะรับบริจาคหนังสือทั่วประเทศ 400-500 สาขา เพื่อนำมาส่งมอบให้กับมูลนิธิของเรา โดยปีก่อนหน้าได้ 120,000 เล่ม ปีที่แล้ว 50,000 กว่าเล่ม
พร้อมยกตัวอย่าง เรือนจำกลางเขาดิน, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี, ทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานหญิงธนบุรี ที่แข่งขันกันอ่านหนังสือ
“4 ที่นี้เขาจะขิงกัน ว่าหนังสือมาแล้ว ใครได้มากกว่ากัน แข่งกันไปรับหนังสือที่บ้านของเรา ปีที่แล้วสถิติสูงสุดคือ เรือนจำเขาบิน ได้ไปเป็นหลักหมื่นเล่ม แต่จริงๆ ที่ได้มากที่สุดคือ เรือนจำระยอง เพราะมาเป็นคันรถใหญ่ๆ แล้วก็เอาน้องๆ ผู้ต้องขังมาช่วยกันขนด้วย เมื่อเอารถใหญ่มา แล้วเราจะกล้าให้น้อยๆ ได้อย่างไร”
ต้องบอกว่าสตาร์บัคส์ สนับสนุนเรามาตลอด แต่ละปี ไม่เฉพาะในเรือนจำ รวมทั้ง เด็ก คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ผู้สูงอายุ ทุกกลุ่ม แต่ในเรือนจำจะได้ประโยชน์ครอบคลุมทุกกลุ่ม“ นายเรืองศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ต้องขังต้องการไม่ได้มีแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว ยังมีอาหารกาย อาหารใจ และอาหารสมอง เราได้จากผู้บริจาคทั่วไปที่มาเป็นระยะๆ และกำลังจะมีความร่วมมือ 4 องค์กร โดยเร็วๆ นี้ เป็นโครงการซื้อบริจาค ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าร่วม เป็นท่อเชื่อมจากเราไปสู่น้องๆ ที่ต้องการ ‘การมองเห็น’ เห็นว่าเขายังมีคุณค่า เพราะสิ่งสำคัญคือการให้กำลังใจ
”เราจะบอกน้องๆ เสมอว่า ให้ทุกคนหลับตา คิดถึงแบงค์พัน ถูกตัวเราเองหรือคนอื่นก็ตามมาขยำจนยับเป็นรอย แล้วก็ปาลงพื้น กระทืบซ้ำ ถ้าเราลืมตาถ้า มีคนๆ หนึ่งเดินผ่านมา เขาจะหยิบแบงค์พันนั้นหรือไม่? เขาหยิบ เพราะแบงค์พันนั้นยังมีคุณค่า มีมูลค่า 1,000 เหมือนกัน เราจะบอกเขาว่าน้องคือแบงค์พัน ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเขา” นายเรืองศักดิ์กล่าว
ด้าน ดร.สิริกร นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า ตนอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างมาก และภาคีของเราทุกคนเชื่อในพลังของหนังสือ หนังสือจะเป็นเพื่อนของผู้ที่ต้องขัง แล้ววันหนึ่งพลังนั้นจะเปลี่ยนให้เขากลับคืนสู่สังคมได้ดีขึ้น
เราศึกษาจากกรณีศึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ฝรั่งเศส พบว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการนี้ อย่างแรกคือ 1.ต้องมีหนังสือในห้องสมุด ประเด็นที่ 2. สถิติผู้ต้องขัง ที่เห็นแล้วน่าตกใจ โดยขณะนี้มีผู้ต้องขังประมาณ 280,000 คน เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือถึง 9% หรือรวมแล้วราว 40,000 คน โดยจบชั้นประถมศึกษา 39% ในเรือนจำนำร่อง 21 แห่งมีผู้ที่ไม่รู้หนังสือมากถึง 2,899 คน
โดย ผู้บัญชาการเรือนจำ ต้องทำหน้าที่จัดการศึกษาให้ด้วย ตอนนี้ สกร.หรือ กศน.เดิม และอีกหลายที่ เข้าไปสอนหนังสือในเรือนจำ ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งหนึ่งจะช่วยได้มากคือ ‘จิตอาสา’
ดร.สิริกรเผยด้วยว่า เป็นความร่วมมือที่ไม่ว่าจะไปบอกกล่าวใคร ก็ยินดีช่วย เช่น วิริยะประกันภัย , มติชน คนที่เขียนหนังสือ ซึ่งถ้ามีเวลามากกว่านี้ตนจะไปประสานกับนักเขียนที่พอจะรู้จัก ซึ่งปัจจุบันก็นับว่าได้ความร่วมมือมากพอสมควร
“นอกจากขอรับบริจาค คิดว่า ‘จิตอาสา’ เป็นสิ่งที่จะช่วยสานต่อ จึงประสานไปยังมหาวิทยาลัย โครงการที่เป็นระบบเช่นนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น ที่มีคนข้างนอกเข้ามามีส่วนร่วม เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โชคดีที่เราเห็นเคยกิจกรรมของเขา ได้มาคุยและเชื่อมระหว่างเรือนจำอุดรธานี กับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ จะมีรายชื่อผู้ประสานงานของเรือนจำนำร่องที่มาร่วม 21 แห่ง ที่ ‘น่าจะจับคู่กัน’ ตอนนี้พยายามติดต่อไปแล้ว อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ต้องดูด้วยว่า นักศึกษาจะต้องไม่เดินทางไกล เช่น เรือนจำกลาง น่าจะใกล้ ม.เกษตร เรือนจำธนบุรี น่าจะใกล้กับ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หากแบ่งเป็นกลุ่มก้อนจิตอาสา ก็น่าจะเข้าไปง่ายขึ้น
“จากที่คุยกับทาง ม.ราชภัฏอุดรธานี ก็ขอให้ทางเรือนจำอุดรฯ นำเสนอข้อมูลว่า 34 คน อายุเท่าไหร่ การศึกษาเท่าไหร่ และดูรายชื่อหนังสือ เราให้ผู้ต้องขังอ่าน ตัวเราก็ต้องอ่านด้วย เพื่อโค้ชกัน อยากจะเชิญชวนมาร่วมกันช่วยสนับสนุนการอ่าน” ดร.สิริกรกล่าว

ด้าน นายอริย์ธัช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง กล่าวว่า ย้อนไปตั้งแต่เด็ก เรียนตามตรงว่า เป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ เที่ยวเล่นอะไรไปเรื่อย จนกระทั่งได้มาใช้บริการจากทางราชทัณฑ์ เลยพบว่าหนังสือเป็นมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ เป็นทั้งที่ปรึกษาให้กับเราในตอนที่ต้องการจะค้นคว้าหาข้อมูล และเป็นเพื่อนแก้เหงาในยามที่เราไม่มีใคร
“เพราะการที่อยู่ในเรือนจำ เราไม่สามารถค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ มือถือก็ไม่มี หนังสือจึงสำคัญมาก จนกระทั่งครั้งหนึ่งผมเคยขอเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด เพราะเราอยากเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางคลังแห่งความรู้ เคยแม้กระทั่งบางทีไม่กล้าอ่านหนังสือจนจบ เพราะเรามีความสุขกับการอ่านแล้ว เหมือนมันเป็น safe zone พอจบปุ๊บเหมือนความสุขในจุดนั้นมันได้สิ้นสุดลง ก็เลยเก็บเอาไว้ค่อยๆ ทยอยอ่านวันหลังเรื่อยๆ
โดยส่วนมากไม่มีกฎว่าอ่านได้กี่เล่ม ในทุกๆ วันที่จะขึ้นเรือนนอน ก็จะเหน็บหนังสือขึ้นไปอ่านด้วย แล้วเราก็ได้พบว่าการอ่านมันมีประโยชน์กับตัวเราเยอะมาก ช่วยเราได้เวลาที่เครียดหรือทุกข์ใจ หนังสือเป็นเพื่อนบรรเทาได้” นายอริย์ธัชกล่าว และว่า อันดับแรกต้องขอขอบคุณทาง กรมราชทัณฑ์ ที่เชิญมาร่วมแชร์ประสบการณ์ ดีใจแทนพี่น้องผู้ก้าวพลาด
“จากประสบการณ์ในฐานะที่เคยได้รับ การที่ให้ความสำคัญกับผู้ก้าวพลาดทุกคน และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะเสริมสร้างทักษะความรู้ได้ เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ข้างใน อยากให้ช่วยกันรณรงค์ บริจาคหนังสือเยอะๆ เพราะจากที่เคยสัมผัสมา หนังสืออาจจะยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะในเรือนจำแบ่งแยกเป็น 10 กว่าแดน กระจายกันไป
ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะความรู้ ได้หมดเลย จะนิยายหรืออะไรก็ได้ หนังสือทำอาหาร เราก็จะชอบดูว่าร้านอาหารนี้เป็นยังไง หนังสือท่องเที่ยว ได้จินตนาการ จนวันหนึ่งที่ก้าวข้ามอีกระดับเริ่มมีความชอบหนังสือมากขึ้น ก็จะเลือกซื้อหนังสือมาเก็บเอาไว้“ นายอริย์ธัชกล่าว
พร้อมฝากถึงพี่น้องผู้ก้าวพลาดด้วยว่า เรามีต้นทุนเวลาไม่จำกัด อย่าปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์
”เรามีต้นทุนเรื่องเวบามากกว่าคนที่อยู่ข้างนอกที่ต้องทำงาน เอาเวลาที่อยู่ข้างใดไปสร้างความรู้ให้ได้มากที่สุด“

ขณะที่ นายอัครินทร์ หรือ หรั่งพระนคร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าเรามีโอกาสในการอ่านหนังสือ อ่านไปเถอะมันคือความรู้ ไม่ว่าหนังสืออะไรมีประโยชน์หมด
“แม้แต่นวนิยาย ถ้าเราอ่านก็จะได้สำบัดสำนวน ออกมาข้างนอก ก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ เพราะยุคนี้เป็น youtuber มีผู้พ้นโทษมากมาย ออกมา มีรายได้สูงมากจากการทำยูทูปเบอร์ และเป็นรายได้ที่มั่นคงด้วย เพราะผ่านการอ่านหนังสือ เอาเรื่องราว ณ ตอนนั้นมาเล่า เป็นสิ่งที่อยากฝากไว้” นายอัครินทร์กล่าว
