ปาณิส เชื่อ สารคดียังมีคนอ่าน ผลงานเข้มข้นยังมีคนดู ฝาก ‘ความฝันไม่มีวันนับได้’ ไม่ตัดสินใครด้วยแว่นตาตัวเอง

เมื่อวันที่ 3 เมษายน  ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน

โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. – 21.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยายเวลา 18.00 น. บูธสำนักพิมพ์มติชน  จัดกิจกรรม FRIENDLY TALK ที่ J02  โดย นางสาวปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย หรือ อีฟ บรรณาธิการอิสระ The101.world และผู้เขียนหนังสือ “ความฝันไม่มีวันนับได้”

โดยนางสาวปาณิส กล่าวว่า ‘ความฝันไม่มีวันนับได้’ เป็นประโยคหนึ่งในการทำสารคดี วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จ.นครศรีธรรมราช  วัดไอ้ไข่จะมีการขอโชคลาภให้ประสบความสำเร็จ คนก็จะเลือกซื้อรูปปั้นไก่ และไก่ก็มีริมกำแพงมากขึ้นเรื่อยๆ  เหมือนจำนวนความฝันไม่มีวันนับได้ ซึ่งเป็นประโยคจบขอเรื่องวัดไอ้ไข่ด้วย

ADVERTISMENT

จริงๆ เป็นหนังสือเล่มนี้เป็นงานเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย และไอ้ไข่ก็เป็นของดีเมืองนครศรีธรรมราช ได้สะท้อนเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อในปัจจุบัน ก็อยากจะนำเสนอความเชื่อ หลายคนบอกงมงายหรือไม่?  เราไม่ได้ไปตัดสินความเชื่อ เราสะท้อนให้เห็นหลังกำแพงวัดไอ้ไข่ว่า มันเป็นไปอย่างไร

ADVERTISMENT

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า การตั้งชื่อหนังสือความฝันไม่มีวันนับได้ เกี่ยวอย่างไรกับความฝัน?

นางสาวปาณิส ตอบว่า เราเป็นคนช่างฝัน  สิ่งที่มนุษย์ต้องมีคือ ความฝัน และจิตนาการ  ความฝัน ความหวังเป็นคีย์สำคัญที่เราเล่าถึงชีวิตมนุษย์

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึง ความสนใจในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง นางสาวปาณิส กล่าวว่า เป็นการทำงานสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว ตนทำงานสื่อ จะนั่งอยู่บ้านไม่ได้ ต้องออกไปเจอโลกข้างนอก เพื่อรู้ว่ามีเรื่องเล่าจำนวนมากที่เราไม่เคยได้ฟัง ซุกซ่อนอยู่ เราต้องเสาะหา

“ยกตัวอย่างการทำเรื่องรัฐประหารเมียนมา คนฝั่งกระเหรี่ยง อยากข้ามมาฝั่งไทย ก็อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดน เพราะรัฐไทยไม่ให้เข้า แต่เชื่อหรือไม่ เราเห็นเด็กจำนวนมากอาศัยอยู่ตรงนั้น  ในฐานะมนุษย์เราก็ไปลงพื้นที่ดู เราอยู่ที่ฝั่งไทย ไม่ได้ไปฝั่งกระเหรี่ยง โอกาสโดนกระสุนยังมีน้อยมาก ไม่ได้ไปแบบมั่วๆ หรือไปคนเดียวแบบไม่รู้เรื่อง แต่เรามีคนที่รู้จักพื้นที่ เราไปอยู่ตามชุมชน“ นางสาวปาณิส กล่าว

นางสาวปาณิส กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็เก็บตัวอยู่ในบ้าน ปี 2021 อยู่ในช่วงหลังโควิด19 มีเพียงร้านก๋วยเตี๋ยวที่เปิด ฟังเสียงจิ้งหรีดไปแม่ค้าก็เล่าให้ฟังไป เราพยายามอยู่กับผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ไม่ได้อันตรายมาก อยู่กับหน่วยงานราชการ แต่ความยากคือการสัมภาษณ์ เพราะเขาไม่ค่อยให้สัมภาษณ์

ผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า การเล่ามักจะมาจากความบังเอิญใช่หรือไม่

นางสาวปาณิส ตอบว่า ขอยกตัวอย่างเรื่องน้ำชาของชาวประมง ก่อนที่จะไปวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) เราคุยกับเอ็ม(ช่างภาพ) กันว่าอาจจะแวะกินข้าวกันก่อน เพราะเขารู้จักร้านน้ำชาของชาวประมง ซึ่งเขาเคยถ่ายรูปที่นั่นไว้ เราจึงนั่งกินข้าวไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นเจ้าของร้านก็เข้ามานั่งคุยกับเรา พูดคุยไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็ขออัดเสียง เจ้าของร้านก็อนุญาตทันที เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

“ความน่าสนใจคือ เราต้องถ่ายทอดให้คนอ่านได้ทั้งรูปรสกลิ่นสี ให้เหมือนลมทะเลตีหน้า ให้ได้หอมหวานจริงๆ เพื่อทำให้ 1วัน มันเข้าถึงวัฒนธรรม รายละเอียดจะทำให้เรื่องเล่ามีความหมาย“นางสาวปาณิส กล่าว

ต่อมา ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมถึงสนใจโบราณคดี ?

นางสาวปาณิสตอบว่า เป็นความสนใจส่วนตัว ถ้าไม่เรียนนิเทศศาสตร์ ก็อยากเรียนโบราณคดี เลยทำใช้อาชีพสื่อเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้มาตลอด

“มนุษย์มีความฝัน ต้องทำให้มนุษย์เข้าใจปัจจุบันก่อน เราทุกคนต้องโตมากับประวัติศาสตร์กระแสหลัก เรารู้จักฮีโร่ แต่เราไม่รู้จักคนตัวเล็กตัวน้อยเลย เราตั้งคำถามว่า สมมติถ้าเราถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ เราจะถูกบันทึกแบบไหน เราก็สงสัย” นางสาวปาณิส กล่าว

นางสาวปาณิส กล่าวว่า การเล่าเรื่อง ต้องทำให้เป็นเรื่องของตัวเราเองก่อน จึงจะเขียนได้

“เราต้องเจอเขาก่อน เราเจอชาวประมงในแม่น้ำโขง ที่เขาหาปลาไม่ได้ ถ้าเราเป็นเขา เราจะเป็นอย่างไร เราจะไม่เอาแว่นตาของเราไปตัดสินเขา ถ้าเราเข้าใจว่าทำไมชาวประมงถึงเดือนร้อนจากการสร้างเขื่อน เราจะเขียนเรื่องให้มันเข้าใจได้เราต้องเข้าใจด้วยความศรัทธาของเขา  และเข้าใจโครงสร้างของเรา จะเล่าได้ง่ายขึ้น จะไม่โยนไปที่ความผิดส่วนตน เช่น ถ้าลุงหาปลาไม่ได้ เราจะไม่โทษว่าลุงตื่นช้า เลยออกมาหาปลาไม่ได้ แต่เราต้องไปดูที่ต้นทาง ประเด็นปัญหาต่างๆ ของการสร้างเขื่อน” นางสาวปาณิส กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า สารคดีในออนไลน์มีความท้าท้ายอะไรบ้าง?

นางสาวปาณิส ตอบว่า เราไม่ชอบที่คนบอกว่า คนเราไม่ชอบดูคลิปยาวๆ ชอบอ่านหนังสือสั้นๆ ส่วนตัวคิดว่ามันไม่จริง ยังมีคนอ่านหนังสือยาวๆ อยู่

“อย่างเรา การทำอะไรยาวๆ มันมีประเด็นเข้มข้น ก็ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ทุกคนต้องเหมือนกัน บางคนก็ไม่ได้มีโอกาสไปปีนเขา ขึ้นไปดูโลงไม้โบราณแม่ฮ่องสอน คนที่ไม่มีโอกาสหาปลาพร้อมคุณลุงที่แม่น้ำโขงในตอนเช้า เราก็เขียนเรื่องดีๆ เพื่อให้เขาได้อ่าน และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ถ้าเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราก็จะเกลียดชังกันน้อยลง พอเราเกลียดชังกันน้อยลงเราก็จะไม่ฆ่ากัน เราจะไม่เสียดสี ไม่ดูถูกเหยียดหยาม“นางสาวปาณิส เล่า

นางสาวปาณิส กล่าวว่า หน้าที่ของสื่อมวลชน คือการอยู่ข้างประชาชน ดังนั้นผลประโยชน์สาธารณะย่อมสำคัญที่สุด แต่เรายังต้องกินต้องใช้ เราต้องสมดุลความเป็นไปได้ที่สุด และอย่าลืมหน้าที่ของตัวเอง ว่าการมีอยู่ของสื่อมวลชนมีเพื่ออะไร เราต้องทำให้เสียงคนที่เสียงเบา ทำให้มันดังขึ้นมา

”ขอฝากหนังสือความฝันไม่มีวันนับได้ เป็นสารคดีที่เสียรองเท้าไป1 คู่ ทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องราวทั้งหมด ทำให้มีเรื่องเล่าที่หลากหลาย ร่ำรวยทางความคิด มีภาพที่สวยงาม“นางสาวปาณิส ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สามารถมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชน J02 ได้ตลอด 12 วัน ตั้งแต่ 27 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image