ประจักษ์ ชี้ การเมืองไทยยังสู้เดือด ความหวัง-สิ้นหวัง ควบคู่ เปรียบลึกซึ้ง อนุสาวรีย์ปชต.ไม่ล้มเพราะปชช.ค้ำยัน

ประจักษ์ ชี้ การเมืองไทยยังสู้เดือด ‘ความหวัง-สิ้นหวัง’ ควบคู่ เปรียบลึกซึ้ง อนุสาวรีย์ปชต.ไม่ล้ม เพราะปชช.ค้ำยัน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23’ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน

โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. – 21.00 น.

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 17.00 น .รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย’ เดินทางมาแจกลายเซ็น และร่วมกิจกรรม FRIENDLY TALKโดยมีประชาชน และแฟนคลับนำหนังสือเล่มดังกล่าวมาให้ รศ.ดร.ประจักษ์ เซ็น เป็นจำนวนมาก

ต่อมา เมื่อเวลา 18.00 น. เริ่มกิจกรรม FRIENDLY TALK ดำเนินการโดย นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ADVERTISMENT

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หนังสือ ‘ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย’ มีต้นฉบับภาษาอังกฤษก่อน ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University Press) โดยเป็นการอธิบายการเมืองของประเทศนั้นๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจการเมืองประเทศนั้นๆ ได้

“ผมก็ได้รับติดต่อการเขียน โจทย์คือ ไม่ให้หนา แต่เนื้อหาต้องครอบคลุม ให้เป็นเหมือน Introduction ที่ไม่ใช่ตำรา อ่านแล้วต้องสนุก น่าติดตาม ต้องปูพื้นด้วย คนที่ไม่รู้ต้องสามารถอ่านได้ เมื่ออ่านจบแล้วต้องเข้าใจการเมืองของประเทศนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ก็เลยได้ประมาณ 70 หน้า ทำกว่า 3 ปี ออกมาเมื่อปี 2567 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ซึ่งสำนักพิมพ์มติชน ก็นำออกมาแปล ” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า 3 ปีในการเขียน ผ่านอุปสรรคมาได้ เราต้องมีธีม ตนบอกเขาว่า อยากเล่าย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย แต่เขาบอกว่า ให้โฟกัสแต่ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยเข้าใจยาก มันสับสนวุ่นวาย มีความซับซ้อน มีเบื้องหลังสลับขั้วทางอำนาจสูง

“ผมบอกว่าไม่มีทางเข้าใจ ถ้าเราไม่ย้อนอดีตของการเมืองไทย แต่เมื่อจะย้อน เราจะย้อนตรงไหน ผมตั้งต้นที่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทยคือ ช่วงรัฐประหาร 2490 และรัฐประหาร 2500 ถ้าถามว่ากองทัพเข้ามาครอบงำการเมืองไทยตอนไหน คือช่วงดังกล่าว เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่สุด

“ผมว่าการปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการสร้างมรดกไว้อย่างยาวนาน และยังอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เรื่องการพาไทยเข้าสู่สงครามเย็น การที่กองทัพเข้ามาครอบคลุมการเมืองไทย กองทัพกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งเป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า ตนมองว่ามีเรื่องเข้าใจผิดอย่างมหาศาลของคนไทยทั่วไป คือ 2475 เป็นการปฏิวัติ แต่มีความพยายามของนักวิชาการของกลุ่มอนุรักษนิยม ที่พยายามด้อยค่าการปฏิวัติ 2475

“การปฏิวัติ 2475 ถึง 2490 เป็นการเมืองคณะราษฎร มีอำนาจประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม แต่โครงสร้างยังเป็นประชาธิปไตย ยึดหลักรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง รัฐดูแลประชาชนมากขึ้น เผยแพร่หลักรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การยึดเผด็จการทหาร ไม่ใช่การปกครองแบบทหาร ทหารยังไม่ครอบงำทางการเมือง

แต่ผู้นำคณะราษฎรปีกกองทัพอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีบทบาทสูง เมื่อการเมืองเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เราคิดว่าอยู่ภายใต้การปกครองแบบทหารหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ เผยต่อว่า การเมืองไทยต้องเข้าใจผ่านการเมืองเครือข่าย ซึ่งมีความเป็นสถาบันทางการเมืองต่ำ นี่เป็นปัญหาของการเมืองไทย แม้แต่กองทัพก็มีการแตกแยกภายในทุกยุค มีหลายกลุ่ม หลายเหล่า

“องค์กรรัฐควรเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นเอกภาพ และพรรคการเมืองไม่ต้องพูดถึง …อ่อนแอ เราไปดูทุกสถาบันการเมือง ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่เป็น บางสถาบันควรเป็น กรรมการกลาง ไม่ควรเข้ามาเล่นทางการเมือง แต่กลับเข้ามาเป็นผู้เล่นทางการเมือง หรือคู่ขัดแย้งทางการเมือง

การเมืองไทยมีหลายเครือข่าย แต่ละกลุ่มจับมือกันชั่วคราว เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สกัดภัยคุกคามออกไป เมื่อสุดท้ายภัยออกไปแล้วอาจจะตีกันเอง ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ จะเห็นว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่มีให้เห็นแล้วในประวัติศาสตร์

ประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตย ดูแค่พรรคการเมืองประชาชนไปเลือกตั้ง ได้ใครก็ควรไปบริหารประเทศ มันก็ควรเป็นเช่นนั้น ตัวละครเข้าใจง่าย ไทยมีตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเยอะ มีตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง งานชิ้นนี้จะเล่าการเมืองไทย จะเห็นว่า นักการเมืองจะเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่ค่อนข้างอ่อนแอด้วย” รศ.ดร.ประจักษ์ เผย

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวถึง จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างคือ ปี 2540 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 2 อย่าง

“1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทางการเมือง แบบใหม่จริงๆ เปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทย

ยกตัวอย่าง ก่อนปี 2540 ไม่มีสิ่งที่เรียก ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ เมื่อก่อนมีเพียงบัตรใบเดียวในการเลือกตั้ง
มากไปกว่านั้น องค์กรอิสระที่กลายเป็นประเด็นในตอนนี้ เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นของใหม่ และพรรคการเมืองที่เข้มแข็งก็เป็นของใหม่

2.ของใหม่เหล่านี้จะไม่เกิดเลยถ้าไม่มี ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

เล่มนี้ใช้กรอบวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย มีเหตุการณ์เศรษฐกิจใหม่ทางการเมืองเกิดขึ้น การปฏิวัติ ก่อน14ตุลาฯ ก็มีวิกฤตน้ำมัน ถ้าเราอยากเข้าใจความสำเร็จนายทักษิณ ชินวัตรให้ดูหนังสือเล่มนี้” รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของไทย และครั้งใหญ่ของไทย ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ คืออนุสาวรีย์ตกค้างของวิกฤตเศรษฐกิจในตอนนั้น เป็นมรดกของวิกฤต

“ท่ามกลางการหมดความหวัง คนมองหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง คนผิดหวังพรรคการเมืองเก่าๆ จึงหากพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมา จึงเป็นจุดเกิดพรรคไทยรักไทย และเป็นจุดกำเนิด นายทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นคือพรรคทางเลือก เป็นพรรคปฏิรูป บวกนโยบายพรรคมีความสดใหม่

มีปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมา ก็เลยกลายมาเป็นผู้เล่นใหม่ทางการเมือง และเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยไปตลอดกาล” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า การแบ่งขั้ว และสงครามระหว่างสี คือจุดน่าสนใจในตอนนี้ใช่หรือไม่ ?

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ดูแล้วไม่พ้นง่ายๆ แน่นอนเป็นปัญหาใหญ่และน่าเป็นห่วง และคนสนใจเยอะ เพราะเป็นประเทศที่ยังมีรัฐประหารอยู่ แต่กลับกัน เป็นประเทศที่เจริญแล้วแต่ยังวนเวียนกับรัฐประหาร ต่างชาติก็งง ในอาเซียนยังเหลือแค่เมียนมาที่ทหารยังมาครอบงำทางการเมืองอยู่

“ทำไมประเทศไทยมีการแตกแยกทางการเมืองสูง เพราะการแบ่งขั้ว ซึ่งมันเกิดมากขึ้นในหลายประเทศ แต่ไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน อีกประเทศคือ สหรัฐ แต่เขาแตกเป็น 2 ฝั่ง ที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ อีกฝั่งทำอะไรก็ผิดไปหมด การเมืองกลายเป็นขาวดำไปเลย

มีบทหนึ่งในหนังสือที่อธิบายเรื่องนี้ว่า ผมว่าเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทย ซึ่งแก้ปัญหาอย่างยากลำบาก การแบ่งขั้วจะเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่สนับสนุน ไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน

ผลลัพธ์คือ ‘รัฐธรรมนูญจะโดนฉีกบ่อย’ วิธีแก้ไขยาก อาจจะต้องเขียนไปอีก 1 เล่ม เลยก็ว่าได้ เล่มนี้จะอธิบายว่าทำไมการเมืองไทยถึงแตกขั้วสูงกันขนาดนี้ ทั้งปัจจัยบุคคล ปัจจัยภูมิภาค กติกาการเมืองก็มีส่วน ต้องตามอ่านกัน” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า การขึ้นมาของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการขจัดการเมือง ‘เจ้าพ่อท้องถิ่นเดิม’ หรือ ‘บ้านใหญ่’ หรือไม่ ?

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า เป็นหัวข้อวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เป็นส่วนที่เขียนที่สนุก หัวข้อ ‘ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทย’ นั่นคือ ‘บ้านใหญ่’ ซึ่งเป็นคำสมัยใหม่ เมื่อก่อนเรียก ‘เจ้าพ่อท้องถิ่น’ เป็นการใช้ความรุนแรงสืบทอดอำนาจ โดย เป็นการสืบทอดตระกูลการเมือง ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบคือ ยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เพราะเขาไม่ต้องพึ่งพรรคการเมือง พรรคการเมืองอ่อนแอ คนไม่เลือกที่นโยบาย คนเลือกที่ตัวบุคคล

“รัฐธรรมนูญ 2540 คือการทำลายระบบนิเวศเจ้าพ่อบ้านใหญ่ มีกฎเกณฑ์มากขึ้น ต้องจบปริญญาตรี มีปาร์ตี้ลิสต์เข้ามา นายทักษิณเข้ามาเปลี่ยนเกมการเมืองมาสร้างพรรคขนาดใหญ่ สร้างนโยบายมากขึ้น นายทักษิณ เล่นการเมือง 2 ขา การเมืองมีปาร์ตี้ลิสต์ แกเล่นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค และเล่น ส.ส.เขต แกก็มีนักการเมืองท้องถิ่น แกก็ได้เก้าอี้เยอะ ผมเรียกนายทักษิณว่า the boss of all bosses บ้านใหญ่ที่สุดของบ้านใหญ่ ” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อไปถึงการเมืองไทยที่มีเหรียญ 2ด้าน

“1.ชนชั้นนำ คนหลายกลุ่มพยายามกลับมาควบคุมการเมืองไทย ไม่ต้องการประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

2. ประชาชนไทยไม่ยอมจำนน สู้กลับตลอด มีชาวนา กรรมกร นักศึกษา ที่มีบทบาทมาตลอด ไม่อย่างนั้นประชาธิปไตยเละเทะ ภาคประชาชนทำให้ประชาธิปไตยไม่ตายสนิท

ม็อบล่าสุด เป็นการต่อสู้ที่ทวงคืนประชาธิปไตย หลังจากประชาธิปไตยบิดเบี้ยวมาอย่างยาวนาน ถ้ามองมุมประวัติศาสตร์ เป็นความต่อเนื่องไม่ใช่เหตุการณ์ที่โผล่ขึ้นมาโดยไม่มีเหตุ ครั้งล่าสุดเป็นเยาวชนหนุ่มสาวที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า บทสุดท้ายทิ้งท้ายว่า ‘แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ความชะงักงันทางการเมืองในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงอย่างไร และเมื่อใด แต่เราสามารถสรุปได้จากบทวิเคราะห์ข้างต้นได้ว่า การเมืองไทยยังคงเป็นพื้นที่การต่อสู้ที่แข่งขันอย่างดุเดือด การเมืองไทยไม่เคยหยุดนิ่ง และก่อให้เกิด ความสิ้นหวัง และความหวังควบคู่กันไป’

กล่าวคือ การเมืองไทยเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ถ้ามองด้านเดียวดูเหมือนไม่มีความหวังเลย มีแต่การรัฐประหาร เหมือนภาพที่ปกหนังสือมีภาพ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดนกดลงไป คนออกแบบตั้งใจว่า ชนชั้นนำเข้ามากดการเมืองไทย

“ใต้ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันเอียง แต่ไม่ถึงกับล้มลงไป เพราะว่า ใต้ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีประชาชนค้ำยัน และจะกลับมาเสมอ เมื่อประชาชนรู้สึกบ้านเมืองไปไม่ไหวแล้ว ตรงนี้และจะเป็นด้านที่เป็นความหวังขึ้นมาได้” รศ.ดร.ประจักษ์ ปิดท้าย

ทั้งนี้ สามารถมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชน J02 ได้ตลอด 12 วัน ตั้งแต่ 27 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image