ประจักษ์ มองเหตุ น.ศ.ชูป้ายต้านมิน อ่อง ลาย สะท้อนเยาวชนยังตื่นตัว อย่าลืมโลกประณามอาชญากรสงคราม คาใจ ทำไมต้องไปโรงพัก แค่เชิญออกจากพื้นที่โรงแรมก็จบ
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 10 ของการจัดงาน
โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ไปจนถึง 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. – 21.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J02 เมื่อเวลา 11.30 น. มีผู้เดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ บูธสำนักพิมพ์มติชน J02 มีกิจกรรมแจกลายเซ็นโดยเจ้าของผลงานหนังสือภายใต้สำนักพิมพ์มติชน และเพื่อนสำนักพิมพ์
โดยเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน ‘ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ’ เดินทางมาแจกลายเซ็น โดยมีประชาชนทั่วไปเข้าพูดคุยและขอลายเซ็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วตื่นเต้นมาก เพราะเด็ก ม.4 ม.5 มาซื้อ ก็ดีใจ แสดงว่าคนตื่นตัว โดยเฉพาะเยาวชน สะท้อนว่าความตื่นตัวทางการเมืองยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน
“ที่เราคิดว่า กระแสมันเหมือนหายไป แสดงว่ามันไม่ได้หายไปไหน เขายังติดตามข้อมูล ข่าวสาร สนใจใฝ่รู้ อ่านงานวิชาการที่อาจจะหนักด้วยซ้ำ ผู้ใหญ่บางทีชอบดูเบา ว่าเด็กไม่อ่านหนังสือ เด็กเล่นเกม เล่นอินเตอร์เนต ซึ่งมันไม่จริงเสมอไป เราก็เห็นได้จากงานสัปดาห์หนังสือฯ รวมถึงในบูธมติชนเองที่เด็กมาซื้อหนังสือมีสาระหนักๆ
ผมว่าเขาแสวงหา เขาอยากได้คำตอบ อยากได้ความรู้ การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราทุกคน หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เขียนให้อ่านยาก พยายามถ่ายทอดให้สนุก มีสีสัน ติดตามเข้าใจได้ง่าย” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับหนังสือเล่มนี้ อยากให้เห็นภาวะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ที่เราเรียกว่า ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ เพราะประชาธิปไตยไทยถดถอยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่โตช้า ขณะที่ด้านการเมือง เราเคยมีประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้
“ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเรียกว่าเป็นช่วงถดถอย กล่าวคือ นอกจากไม่เดินไปข้างหน้า ยังถอยหลังอีกด้วย แม้บางครั้งดูเหมือนจะเดินหน้าเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็ถอยกลับอีก หนังสือเล่มนี้พยายามจะอธิบายว่า มีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว
เมื่อถามความคิดเห็นกรณีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เข้าชูป้ายประท้วง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย วานนี้ บริเวณหน้าโรงแรมแชงกรี-ลา โดยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยัง สน.ยานนาวา ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งหาใดๆ
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า เหตุการณ์การณ์นี้สะท้อนความตื่นตัวของเยาวชน นิสิต นักศึกษา ต่อเรื่องการเมืองว่ายังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ก่อนหน้านี้โดนปราบปราม โดนใช้กฎหมายกลั่นแกล้งจนแสดงออกไม่ได้
“เราควรดีใจด้วยซ้ำที่เยาวชนตื่นตัวกับการเมือง สนใจการเมืองระหว่างประเทศ สนใจสิทธิมนุษยชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่านั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า การกระทำของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งสังหารประชาชนของตัวเองอย่างเหี้ยมโหด เป็นสิ่งที่โลกประณาม ส่วนที่มาก็ไม่ชอบธรรม เพราะมาจากรัฐประหาร ทั้งที่ประเทศกำลังจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี
อย่าลืมว่า มินอ่องลาย ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามโดยศาลาอาญาระหว่างประเทศ เหมือน ดูเตร์เต อดีตผู้นำฟิลิปปินส์ ซึ่งตอนนี้ต้องไปขึ้นศาลที่กรุงเฮก เพียงแต่ มินอ่องลาย ยังไม่ได้เดินทางไปประเทศที่ลงสัตยาบัน ไม่อย่างนั้นก็ต้องโดนจับแล้วส่งตัวไป เพราะฉะนั้นสถานะของเขา จริงๆ แล้วไม่มีประเทศไหนต้อนรับ โดนบอยคอตจากทั่วโลก

เพราะฉะนั้น การที่นักศึกษาไปประท้วง เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เขาไปประท้วงเผด็จการที่ทั่วโลกประณาม และไปโดยสงบ สันติ“ รศ.ดร.ประจักษ์ชี้
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนการถึงขั้นพาไปโรงพัก ตนคิดว่าไม่เหมาะสม เป็นการทำเกินกว่าเหตุ
“อย่างมากแค่เชิญออกไปจากโรงแรมก็ได้ โดยบอกว่า โรงแรมเป็นสถานที่ส่วนบุคคล เขาก็ทำกิจกรรมต่อได้ในพื้นที่สาธารณะ เพราะรัฐธรรมนูญพิทักษ์สิทธิไว้ให้ประชาชนแสดงออกอย่างสงบ สันติ มันเป็นสิทธิ ถ้าตำรวจจะมาเชิญ มีข้อหาอะไร ฉะนั้นที่ไม่ตั้งข้อหาก็ถูกแล้ว เพราะไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แค่เชิญออกมาก็พอ ทำไมถึงขั้นพาตัวไปโรงพัก
ถ้าบอกว่า เราเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลประชาธิปไตย จากยุคพลเอกประยุทธ์ที่เป็นเผด็จการ ถ้าเราบอกว่า นี่ไม่ใช่ยุคประยุทธ์แล้ว ดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย คือการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก
ถ้าทำตรงนี้ได้แล้วเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง จึงจะพูดได้หนักแน่นถึงความเป็นประชาธิปไตย ความชอบธรรมของรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก
อยากให้กรณีนี้เป็นบทเรียน ว่าถ้าเป็นการแสดงออกโดยสงบ สันติ ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมากกว่านี้” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว