ชาญวิทย์ คิดหนัก ภาษีทรัมป์ ทำอาเซียนหวั่นไหว ถามตรงๆ ‘ไทยมีอะไรต่อรอง’?

ชาญวิทย์ คิดหนัก ศึกมหาอำนาจ ไทยดีลอย่างไร ‘มันไม่ง่าย’ ชี้สุดซับซ้อน-ละเอียดอ่อน ชวนย้อนประวัติศาสตร์ เรียนรู้ปัจจุบัน คาดการณ์อนาคต ฝากการบ้าน ปม ‘จีนเทา’ จะเอาอย่างไร? มองโจทย์ใหญ่โลกวันนี้ ภาษีทรัมป์ ทำอาเซียนหวั่นไหว ไทยมีอะไรต่อรอง ?

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 10 ของการจัดงาน

โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ไปจนถึง 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00 น. – 21.00 น.

โดยเมื่อเวลา 14.00 น. ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เดินทางมาแจกลายเซ็น และพบปะผู้อ่าน

ADVERTISMENT

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีเอ็มโอยูกับ ‘มติชน’ โดยได้ผลักดันหนังสือออกมาแล้ว 3 เล่ม คือ สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ผลงาน จี. วิลเลียม สกินเนอร์, จิ้มก้องและกำไร การค้าไทย-จีน 2195-2396 ผลงาน สารสิน วีรผล และ การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผลงาน เจนนิเฟอร์ เวย์น คุชแมน

ADVERTISMENT

“3 เล่มนี้เป็นชุดของมัน เป็นเรื่องของอดีต กลับไปสมัยอยุธยา สุโขทัย ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ผมคิดว่างาน 3 เล่มนี้ มันบอกว่า ในสมัยที่จีนเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก มันเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ความสัมพันธ์ใน ระบบส่วย บรรณาการ จิ้มก้อง โดยเป็นความสัมพันธ์ของประเทศที่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้เท่าเทียมกัน เพราะจีนถือว่าเขาคือเจ้าโลก ประมุขของเขาคือฮ่องเต้ ส่วนประมุขของสยาม ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ มีฐานะเป็นอ๋อง คือ เป็น King จีนมองตัวเองว่าเป็น Emperor (จักรพรรดิ) มองตัวเองเป็นมหาอาณาจักร ในขณะที่มองประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เป็นเพียง Kingdom

อะไรหลายๆ อย่าง ทำให้เราเห็นว่า ความสัมพันธ์นั้น เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบโบราณ ถ้าเราเอารูปแบบรัฐโบราณมาดูปัจจุบัน มันจะเป็นอย่างนั้นอีกหรือเปล่า

เพราะปัจจุบันเราเชื่อใน ความเท่าเทียม เรามีองค์การสหประชาชาติ โดยมีประเทศทั้งหลายเป็นสมาชิก ซึ่งถ้าดูในแง่อุดมการณ์ อุดมคติ มันก็ใช่ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ล้วนเท่าเทียม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันไม่เท่าเทียมกันหรอก มันมีประเทศอย่าง สหรัฐ ซึ่งเขาถือว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ส่วน จีน ก็ผงาดขึ้นมาท้าทายอำนาจของสหรัฐ ขณะเดียวกันรัสเซีย ซึ่งแม้สหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว เขาก็ยังถือว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจเช่นกัน

เพราะฉะนั้น มันแปลว่า ถ้าเอาประวัติศาสตร์มาดู เราอาจต้องคิดหนักว่า ศักดิ์ศรีเราก็มี เวลาเราติดต่อสัมพันธ์กับมหาอำนาจแบบนี้

อเมริกาก็ดี รัสเซียก็ดี จีนก็ดี เราจะทำอย่างไร อันนี้ไม่ง่าย มันละเอียดอ่อนมาก ซับซ้อนมาก จึงเกิดสิ่งที่เราเห็นอยู่กับตา

จีนเทา ไทยเทา จะจัดการอย่างไร มันเป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับโลกปัจจุบัน” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเป็นชาติระดับกลาง ไม่ถึงกับเล็ก เราจะมีทางต่อรองกับเขาอย่างไรในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ความสัมพันธ์ทางการทูต มันเป็นเรื่องของการต่อรอง คุณได้ไอ้นี่ ฉันได้ไอ้นั่น อย่างเรื่องภาษีที่อเมริกากำลังกำหนดขึ้นมา แล้วทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนหวั่นไหวไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา รวมถึงไทย เราจะมีอะไรต่อรองกับเขา นี่คือการบ้านใหญ่มาก

อเมริกาเปลี่ยนเกม เมื่อก่อนแจกเงิน ตอนนี้จะเก็บเงิน สมัยสงครามเย็น โอ้โห! รับเงินแจกจากอเมริกาท่วมท้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นสถานการณ์อีกแบบหนึ่ง” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image