อนุกมธ. วัฒนธรรม พุ่งซื้อ ‘ศาสนาผี’ หวังเคลียร์ปม แยกรัฐจากศาสนา คำตอบสุดท้ายหรือต้องคิดใหม่?
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 12 ของการจัดงาน
โดยหนึ่งในเล่มขายดีติด 1 ใน 5 คือ ศาสนาผี ผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ
หนึ่งในผู้ทั้ตั้งใจมาซื้อเล่มดังกล่าว คือ นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ อนุกรรมธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกล่าวว่า ตนเลือกซื้อหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่
1.เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง ผลงาน
ประวิทย์ สายสงวนวงศ์
2.The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์ ผลงาน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
3.ศาสนาผี ผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ
นอกจากนี้ ตนยังตั้งใจมาซื้อเล่ม Soft Power อำนาจโน้มนำ : หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก ผลงาน Joseph S. Nye Jr. แปลโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.บัณฑิต เตรียมไว้ให้ตนแล้ว 1 เล่ม จึงไม่ได้ซื้อ
นายฆนัทกล่าวว่า ตนซื้อเล่ม ศาสนาผี เพราะนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ออกผลงานมาได้ตรงใจของแวดวงศาสนาพอดี กล่าวคือ แวดวงวิชาการ เริ่มมีการทบทวนว่า การนับและจำแนกว่า ความเชื่อไหนคือศาสนา ความเชื่อไหนไม่ใช่ศาสนา เป็นวิธีคิดแบบตะวันตก
“ในอดีต สังคมเอเชียไม่มีใครมาถามหรอก ว่าคุณเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นผี เป็นพราหมณ์ มันไม่มีการนับ จนกระทั่งแนวคิดแบบตะวันตกเข้ามาในช่วงอาณานิคม พอเข้าปุ๊บ มันต้องพยายามจำแนก ว่าคุณเป็นพุทธ เป็นพราหมณ์ หรือเป็นอะไร มันคือความพยายามจำแนกศาสนาออกจากกันซึ่งแต่เดิมไม่มีการแยก ดังนั้น ศาสนาจึงอยู่ร่วมกัน ปะปนกัน ผสมผสานกัน นี่คือสังคมเอเชีย
การมาถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นวิธีคิดที่ใหม่มากๆ การแบ่งแยกแบบนี้ทำให้เกิดเรื่องเขตแดนทางศาสนาขึ้นมา ว่าเราเป็นพุทธ เขาเป็นมุสลิม เป็นคริสต์
โอเค มีการรับรู้กัน แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งในสังคม อาจมีบ้างในชนขั้นนำที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยว
พอมีเล่มศาสนาผี จึงสอดคล้องกับความสนใจในวงวิชาการพอดี คือในช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้ มาจนถึงสัก 5 ปีที่ผ่านมา เรายังเชื่อว่าการแยกรัฐออกจากศาสนา เป็นหนทางแก้ความขัดแย้ง เพราะเรามองโมเดลตะวันตก
แต่ตอนนี้ต้องมาพิจารณาใหม่ว่าการแยกรัฐออกจากศาสนา เป็นทางออกจริงไหม
ก่อนหน้านี้มีกลุ่มนักวิชาการเสนอว่าแยกรัฐออกจากศาสนา จะเป็นทางที่ทำให้ประชาธิปไตยไปต่อได้ อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าวิธีคิดแบบนั้น มันเหมาะกับเราจริงไหม และเป็นคำตอบสุดท้ายจริงหรือไม่
โดยเล่มนี้ คุณสุจิตต์ อัพเดตตามความคิดที่อาจารย์ตุล (คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง) นำเสนอไว้ คือ เรียงลำดับจาก ผี พราหมณ์ พุทธ ไม่ใช่ พุทธ พราหมณ์ ผี ธุรกิจมู เป็นอันดับ 1 ในออนไลน์มาหลายปีแล้ว คำถามคือ ถ้าความเชื่อเรื่องนี้มันไม่เคยออกไปจากโลกสมัยใหม่เลย” นายฆนัทกล่าว