‘อรรถ บุนนาค’ โกยเป็นกอง! ไม่ลังเลคว้า ‘ประวัติจีนกรุงสยาม’ เผยในไทยเริ่มมีศาลเจ้าญี่ปุ่น – ชงมติชนเขียน ‘ปวศ.ยูริ’ ชี้ เมื่อก่อนเจแปนเรียก พส. (Sister) – เห็นเทรนด์วัยรุ่นอ่านวรรณกรรม ’สืบสวน’ อยากเห็น เชอร์ล็อกโฮล์มส์เมืองไทย
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 12 ของการจัดงาน
โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์บูธและของพรีเมียมสุดพิเศษในธีม ’Read Friendly‘ ที่ออกแบบโดย ’ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต‘ หรือ TUNA Dunn เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการอ่านที่ขยายกว้างไร้ขอบเขตมากขึ้น พร้อมเชื้อชวนให้หันมาอ่านหนังสือกับคนรู้ใจ แบ่งปันความรู้ถึงเพื่อนนักอ่านทุกเพศทุกวัย โดยพร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ไปจนถึง 8 เมษายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-21.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J02 เวลา 13.00 น. มีผู้หลั่งไหลเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างล้นหลาม ทั้งประชาชนทั่วไป ตลอดจนเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่กระเป๋าเป้ใบใหญ่หรือลากกระเป๋าเดินทางมาด้วยเพื่อ โดยภายในบูธสำนักพิมพ์มติชนจำหน่ายหนังสือหลากหลายหมวด ในครั้งนี้มีหนังสือออกใหม่ 22 เล่มเพื่อเอาใจสายนักอ่านทุกสาย ทั้งแนวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สารคดี วิชาการ การเมือง ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ และอัตชีวประวัติ ให้ได้เลือกสรร พร้อมส่วนลดสุดพิเศษ โดยหนังสือใหม่ลด 15% หนังสือขายดี ลด 20%
ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. นายอรรถ บุนนาค นักแปลชื่อดังและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT เข้ามาเลือกซื้อหนังสือที่บูธมติชนเกือบ 10,000 บาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นหนังสือขายดีอันดับที่ 1 คือหนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3 เขียนโดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, แปลโดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, กิตติพัฒน์ มณีใหญ่, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์
รวมถึง เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง โดย ประวิทย์ สายสงวนวงศ์ ซึ่งสะท้อนพลวัฒน์การตื่นตัวทางการเมืองของคนในลุ่มน้ำโขง รวมถึง ‘เมืองที่ใช่ ยังไงก็ชอบ’ โดย ปริพนธ์ นำพบสันติ, The wonder จับตาศรัทธาลวง โดย Emma Donoghue
นอกจากนี้ยังซื้อชุด Grab &Go1 ราคาพิเศษ 3,500 บาท พร้อมรับฟรีทันที read friendly backpack ขนาดใหญ่ 1 ใบ โดยในเซตประกอบไปด้วย ประวัติจีนกรุงสยาม 3 เล่ม, ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ แปลโดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย บรรณาธิการโดย กษิดิศ อนันทนาธร, ฉากสำคัญพระเจ้าตากฯ, ภารตะ-สยาม ทูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย,ในรอยกรีด, Soft Power อำนาจโน้มนำ: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก ผู้เขียน Joseph S. Nye Jr. แปลโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ บรรณาธิการโดย คารินา โชติรวี, ‘ศาสนาผี’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงหนังสือ ’พระนั่งเกล้าไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี ‘
นายอรรถเผยว่า วันนี้เลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนไปหลายเล่มมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือในแนวประวัติศาสตร์ แต่จะมีเซ็ตหนึ่งที่อยากได้มากจึงซื้อของตัวเองกลับไปชุดนึง และมีเพื่อนฝากซื้อด้วยอีก 1 ชุดคือ ‘ประวัติจีนกรุงสยาม’
เมื่อถามว่าสนใจอะไรในหนังสือชุดนี้ ?
นายอรรถเผยว่า ได้ยินมาว่าเล่มนี้เป็นหนังสือแปล ของ คุณเจฟฟรี ซุน โดยคุณพิมพ์ประไพร พิศาลบุตร เป็นคนแปล และเนื้อหาพูดถึงคนจีนในประเทศสยามตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
“เราเลยอยากรู้ว่า มันน่าจะมีหลักฐานอะไรใหม่ๆ เห็นมุมมองจากที่นักวิชาการต่างประเทศเขียน น่าจะค้นพบหลักฐานที่ในเมืองไทยไม่มี
เล่มนี้น่าสนใจ เพราะรู้สึกว่าคุณเจฟฟรีเป็นคนสิงคโปร์ แล้วประวัติศาสตร์จีนของในภูมิภาคนี้
ก็น่าจะเชื่อมโยงกัน มันอาจจะได้จิ๊กซอว์อะไรบางอย่างที่โยงไปกับพวกสิงคโปร์ ปัตตาเวีย ในแถบนั้นที่มีคนจีนเข้ามาเยอะๆ ด้วย”
“ยังมีอีกสิ่งที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง คือการเมิร์ช (merch) รวมกันกับคนท้องถิ่น ไม่แน่ใจว่าในนี้จะมีเขียนถึงด้วยหรือเปล่า แต่คิดว่าน่าจะมีมุมมองของคนสิงคโปร์อยู่ด้วย” นายอรรถกล่าว
นายอรรถยังกล่าวถึงข้อมูลจากหนังสือที่เลือกซื้อไปด้วยว่า ส่วนตัวก็อยากจะลิงค์กับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ตัวเองเชี่ยวชาญอยู่เหมือนกัน เพราะว่าในช่วงที่เขาปิดประเทศ ก็มีแค่ฝรั่ง ฮอลันดา โปรตุเกสที่แย่งชิงอำนาจ เหมือน ‘สัมปทาน’
“แต่ว่าคนจีนเนี่ย อยู่ยาวๆ มาตลอด บริเวณประตูค้าขาย ซึ่งมันก็จะเชื่อมากับสยามในยุคนั้น มันไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ที่ว่า สยามค้าขายกับญี่ปุ่นโดยตรง แต่จะเป็นการที่ ‘ญี่ปุ่นค้าขายผ่านจีน’ ที่เป็นนายหน้าอยู่” นายอรรถชี้
มองว่าช่วงนี้เทรนด์วัยรุ่นไทย สนใจอ่านอะไรกัน?
นายอรรถกล่าวว่า ตอนนี้วัยรุ่นไทยสนใจอ่าน ‘วรรณกรรม’ ที่เห็นจะเยอะมาก โดยเฉพาะวรรณกรรมแปล
ในส่วนที่เห็นเทรนด์มาเยอะมากช่วงนี้ คือ วรรณกรรมไทยที่เป็นแนว ‘สืบสวนสอบสวน’ ขายดีมาก ไม่ว่าจะเป็น ‘กาสักอังก์ฆาต’ มาจนถึง ‘รจเลขกัมมันต์’
“เราได้เห็นหลายสำนักพิมพ์ที่เปิดหัวในด้านนี้ สำหรับด้าน ‘สืบสวนสอบสวนไทย’ โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเรายังไม่มีการทำแนวสืบสวนสอบสวนไทยที่เป็น original แบบเห็นเด่นชัด”
อย่างญี่ปุ่น ก็มีโคนัน ที่คนรู้จักเป็นวงกว้าง ?
นายอรรถกล่าวว่า ญี่ปุ่นมี ‘โคนัน’ ที่เป็นการ์ตูน มี ‘คินดะอิจิ’ ที่เป็นนิยาย มี ‘อะเคจิ โคโกะโร’ ที่สำนักพิมพ์ของเรา (JLIT) เป็นคนแปล ของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ก็มีนักสืบอย่าง ‘กาลิเลโอ’ ที่เป็นศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นนักสืบประจำ กระทั่ง ‘มิเกะเนะโก’ เรื่องราวของแมวสามสียอดนักสืบที่เคยโด่งดังมาก่อน ก็คิดว่าในเมืองไทยน่าจะมีตัวนักสืบโดดเด่น เหมือนอย่าง โคโกโร เหมือน เชอร์ล็อกโฮล์มส์ ขึ้นมา
ไม่แน่ว่าเราอาจจะเก่งในด้านนี้ เรื่องความลึกลับ ดูจากเทรนด์หนังสือขายดีประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน สะท้อนว่าคนสนใจเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องราวลึกลับมากขึ้น?
นายอรรถกล่าวว่า ไม่น่าใช่เทรนด์ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนไทยตลอดกาลอยู่แล้ว สำหรับ content เรื่องสยองขวัญ เรื่องลึกลับ มูเตลู และความเชื่อ
“มันน่าสนใจที่ว่า ตอนนี้อย่างสำนักพิมพ์มติชนเอง หรือหลายที่ก็เริ่มทำหนังสือประวัติศาสตร์ความเชื่อ เป็นการพูดถึงแบบที่ไม่ได้เป็น judgement ด้วย เมื่อก่อนอาจจะมีโต้แย้งในเรื่องวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ก็ตาม แต่อันนี้จะพูดในแง่ของผู้สังเกตการณ์ประวัติศาสตร์ความเชื่อ ว่ามันมีพลวัตอะไรในสังคม และความเชื่อนั้นมันแปรผกผันไปอย่างไรบ้าง เมื่อมันมีวัฒนธรรมอื่นๆ ที่หลากหลายเข้ามา เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
“เราก็ได้เห็นว่ามีเทพและความเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อประเทศของเราเปิดกว้าง รวมถึงมีสิ่งต่างๆ จากทางโซเชียลมีเดีย ที่เข้ามาจากที่ต่างๆ อีกหน่อยอาจจะไกลระดับอเมริกาใต้ นำเข้ามาในประเทศไทยก็ได้ ตอนนี้ก็พยายามผลักดันความเชื่อญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในรื่องเทพปกรณัมญี่ปุ่น อยู่ด้วยเหมือนกัน” นายอรรถเผย
อย่างในญี่ปุ่นเอง ก็เข้มแข็งในเรื่องความเชื่อและคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเชื่อของตัวเองไว้ได้ เป็นอย่างดี ?
นายอรรถเผยว่า เรื่องเทพปกรณัม ในศาสนา/ลัทธิชินโต ก็จะมีพวกเทพี ‘อามาเทราสึ’ ที่เป็นเทพีดวงอาทิตย์ มีศาลเจ้าต่างๆ ที่คนไทยเวลาไปญี่ปุ่น แล้วไปค้นพบ
“เราก็คิดว่า เริ่มมีศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทยที่ศรีราชาแล้ว” นายอรรถเผย
เมื่อถามว่า ศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทยที่ว่านั้น มีมานานแล้วหรือ?
นายอรรถเผยว่า ถ้าจำไม่ผิด เพิ่งมีมาได้ประมาณ 5 ปีนี้เอง ที่เป็นศาลเจ้าเป็นจริงเป็นจัง และมีนักบวช มีเทพอะไรต่างๆ อยู่ด้วย
“อยู่ที่อำเภอศรีราชา ที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย คิดว่าอีกหน่อยก็คงจะมีการไหว้เทพเจ้าชินโต เกิดขึ้นในไทย”
โดยปกติ ในไทยเราจะเห็นเทพเจ้าจากทางจีน ฮินดูเป็นส่วนมาก?
นายอรรถกล่าวว่า ใช่ เทพเจ้าจีน ฮินดู และอาจมีพราหมณ์มาบ้างในไทย แต่ยังไม่เคยเห็นเทพเจ้าจากทางญี่ปุ่น ในบ้านเรา
เมื่อถามว่า หนังสือที่โกยไปวันนี้ มีหมวดอะไรบ้าง ?
นายอรรถเผยว่า มีทั้งสองอย่าง ทั้งหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชน และนิยายแปลที่เป็นของเพื่อนสำนักพิมพ์ แต่เลือกมาซื้อบูธมติชนเพราะชื่นชอบของพรีเมียม
“เรียกได้ว่าไม่ใช่ซื้อทุกปี เรียกว่าซื้อทุกงาน ได้ของพรีเมียมเกือบครบทุกอัน ของงานทุกครั้ง ใช้จริง และยังใช้อยู่ อันเก่าๆ ก็ยังใช้อยู่”
เมื่อถามว่าในช่วงนี้สนใจเรื่องประเด็นอะไรเป็นพิเศษ มีทิศทางที่คิดอยากศึกษาเพิ่มเติมต่อ หรืออยากอ่านเพื่อหาไอเดียต่อยอดในส่วนของงานเขียนสำนักพิมพ์ด้วย ?
นายอรรถเผยว่า ส่วนตัวก็มีเรื่องปกรณัมของญี่ปุ่น ที่อยากจะเจาะลึกลงไป เกี่ยวข้องกับเรื่องเทพต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะหลังจากได้ไปออกรายการฟาโรส แล้วก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปกรณัมญี่ปุ่นไป
อีกเรื่องที่สนใจคือ BL (boys love) กับ GL (girls love) ที่ช่วงนีกำลังอย่างมาก คือ Yuri ซึ่งที่สำนักพิมพ์ก็ทำเรื่องเกี่ยวกับ BL GL ในยุค modernization ของญี่ปุ่น ก็เลยอยากหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในช่วงยุคหลัง modernization ของญี่ปุ่นก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันว่ามันมีที่ทาง มีแห่งหน อย่างไรบ้าง
“น่าสนใจมากที่ได้ไปค้นพบว่า เรื่องราวของยูริและเกิลร์เลิฟของญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอย่างแพร่หลาย ไปพร้อมๆ กับกระแสธารของ Feminist ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนสตรี เมื่อสตรีได้ถูกยกระดับสถานะ มีหลักแหล่งที่ทางในการศึกษา ก็เกิดคอมมูนิตี้ของผู้หญิง เกิดสังคมเลสเบี้ยน และสะท้อนออกมาในงานวรรณกรรม ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้เรียกว่า ‘ยูริ’ ด้วย แต่เขาเรียกว่า ‘S’ ที่เอามาจาก Sister พี่สาวน้องสาว
เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง พส.รุ่นพี่-รุ่นน้องในโรงเรียน เราก็มีความรู้สึกว่าตรงนี้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย ที่ในการศึกษาของโรงเรียนหญิงล้วนหรือคอนแวนต์ ก็น่าจะมีเรื่องราวเหล่านี้เพียงแต่อาจจะไม่ได้ถูกเปิดเผย” นายอรรถกล่าว และว่า
ถ้าเราทำการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของญี่ปุ่น เราอาจจะนำมาเทียบเคียงกับของไทยได้ โดยที่ไปขุดค้นจากหลักฐานพวกบันทึก จดหมายเหตุ (หลักฐานชั้นต้น) ที่ไม่ใช่ตำราหรือหนังสือที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนั้นโดยตรง เราคิดว่าในเรื่องนี้ประเทศไทยยังไม่มีคนทำอย่างจริงจัง
“ในเรื่องเกย์ ก็มีคนทำเยอะพอสมควร อย่าง อาจารย์ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน มีประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ในเชิง sisterhood หรือ brotherhood อยู่ในความคลุมเครือ ก็น่าสนใจในประวัติศาสตร์เรื่องเพศของประเทศไทย โดยเฉพาะเลสเบี้ยน ที่ยังไม่มีใครศึกษาจริงจัง รอมติชน ให้ใครเขียนสักคน และอาจจะได้มาเทียบเคียงกันกับในฝั่งญี่ปุ่น ” นายอรรถกล่าว
ทั้งนี้ สามารถมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชน J02 ได้ตลอด 13 วันตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-8 เมษายนนี้ เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 โดยสามารถซื้อได้ทั้งที่หน้าบูธ J02 หรือสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน www.matichonbook.com หรือสั่งผ่านบริการรับหิ้วผ่าน ID Line : 09-4702-7777