คอลัมน์เล่าเรื่องหนัง : ดราม่าและฉากเลิฟซีน 6 นาที ที่พูดกันหนาหูใน Disobedience

ภาพยนตร์ Disobedience เปิดตัวฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต (Toronto International Film Festival) เมื่อปีที่แล้ว สร้างปรากฏการณ์ฉากเลิฟซีน 6 นาที ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเทศกาลหนังโตรอนโต

ฉากที่ไม่มีการโป๊เปลือย ไม่มีความรุนแรง แต่เป็นฉากที่แสดงนัยยะ “ปลดปล่อยตัวเอง” ของตัวละคร

ถือเป็นฉากสำคัญที่ผู้กำกับฯ “เซบาสเตียน เลลิโอ” สอบผ่าน แม้จะมีเสียงอุทานจากคนดูอยู่บ้างว่า what!?!

…ตัวละครทำแบบนั้นในฉากเลิฟซีนทำไม…(แบบไหนต้องชมกันเอง)

Advertisement

ถือเป็นงานชิมลางภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของ “เลลิโอ” ผู้กำกับฯชาวชิลี ที่เพิ่งคว้าออสการ์ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ จากหนัง A Fantastic Woman หนังดราม่าสะกดใจเรื่องราวความรักของสาวข้ามเพศกับพ่อม่ายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

“เลลิโอ” ได้รับคำชมอีกครั้งจาก Disobedience ทั้งการขับประเด็นดราม่า และการดีไซน์ฉากเลิฟซีนหญิงรักหญิงในระดับที่ถูกยกไปเปรียบเทียบกับหนังหญิงรักหญิงเรื่องดังอย่าง Blue Is The Warmest Color ที่ฉากเลิฟซีนกลายเป็นฉากอื้อฉาวและดิบเกินไป

ขณะที่ Disobedience ได้รับเสียงชื่นชมว่ารักษาระดับความอ่อนโยนให้เข้ากับโทนเรื่องได้ดี

Advertisement

…กระนั้นเชื่อเถอะว่า ใน Disobedience ก็มีฉากเลิฟซีนที่ทำเอาคนดูงงงวยและพูดถึงให้แซ่ด – ใครมีโอกาสคงต้องหาชมกัน เพราะเบื้องหลังการออกแบบฉากนี้ “เลลิโอ” ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนการ์ตูนของศิลปินอิตาเลียน ไมโล มานาร่า (Milo Manara) ที่ตัวงานภาพมีความอีโรติกเคล้าความนู้ด

Disobedience เล่าเรื่องราวของ โรนิท (เรเชล ไวสซ์) ช่างภาพสาวจากนิวยอร์ก เดินทางกลับมายังชานเมืองลอนดอนในชุมชนชาวยิวเคร่งศาสนานิกายอัลตร้าออร์โธด็อกซ์ถิ่นฐานบ้านเกิดของเธอ เพื่อร่วมไว้อาลัยในงานศพของพ่อ ที่เป็นแรบไบที่ชาวชุมชนนับถือสูงสุด

ที่บ้านเกิด โรนิท ได้พบกับเพื่อนรักเก่าแก่ 2 คน โดวิด (อเล็ซซานโดร นิโวลา) ผู้เปรียบเสมือนพี่ชายบุญธรรม และ “เอสตี้” (เรเชล แม็คอดัมส์) เพื่อนสาวที่มากกว่าเพื่อน

หนังบอกในทันทีว่า “โรนิท” หายตัวออกจากชุมชนไปหลายปี พร้อมกับผู้คนใกล้ชิดที่พอจะรู้เรื่องราวระหว่าง “โรนิท” และ “เอสตี้” แต่ที่ โรนิท ต้องประหลาดใจไปกว่านั้นคือ โดวิดและเฮสตี้ตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตครอบครัวด้วยกัน

โดยเฉพาะ “เอสตี้” เป็นตัวละครที่ซับซ้อนในที เธอตัดสินใจแต่งงานกับเพื่อนชายที่สนิทที่สุด เป็นอดีตคู่รักของโรนิท เป็นครูที่รักในการสอน และเป็นหญิงที่เคารพในกฎศาสนา-สังคมที่ตัวเองอยู่ แต่เอสตี้ก็ซ่อนมุมขบถภายใต้วิกที่เธอสวมใส่ (ผู้หญิงในนิกายนี้ที่แต่งงานแล้วห้ามเปิดเผยผมของตัวเองในที่สาธารณะ)

ตัวละครเอสตี้จึงต้องประนีประนอมกับศาสนาที่นับถือ และอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

บรรยากาศในหนังเกือบทั้งหมดพาไปสัมผัสถึงชุมชนชาวยิวอัลตร้าออโธด็อกซ์ที่เคร่งครัดจนดูน่าอึดอัด ผ่านห้วงพิธีไว้อาลัยให้กับแรบไบผู้พ่อของโรนิท

โรนิทอาจได้หลุดพ้นออกจากชุมชนที่โตมา มีชื่อ-นามสกุลใหม่ แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากพันธะของลูกสาวต่อพ่อที่ไม่ได้ติดต่อจนตายจากกัน

ขณะที่เอสตี้เลือกอยู่กับชุมชนที่เกิด ประนีประนอมจำยอมกับสังคม แต่เมื่อโรนิทปรากฎตัวยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้เอสตี้ต้องการอิสระจากพันธนาการกฎของศาสนา-สังคม ด้านโรนิทคือการหันกลับมาประนีประนอมกับสาธุคุณผู้เป็นพ่อ เพื่อการให้อภัยและอโหสิกรรม

การกลับสู่ชุมชนของโรนิทที่ทำให้ชีวิตของเอสตี้เปลี่ยนไปและท้าทายทุกอย่างที่เธอพยายามจะกดไว้ ทั้งหมดคือคำตอบของฉากเลิฟซีนที่ถูกถามมากที่สุด เพราะต่างเป็นตัวละครที่เป็นเสมือนกระจกของกันและกัน

Disobedience ตั้งแต่เวอร์ชั่นนิยายจนมาถึงภาพยนตร์ ไม่ได้ให้มุมมองศาสนาเป็นศัตรูกับความเป็นเพศที่สาม แต่คือเรื่องราวภายในจิตใจที่จะสำรวจและตั้งคำถามว่า จะ “เลือก” อย่างไร และเหนือสิ่งอื่นใดเป็นมากกว่าแค่เรื่องความรักซ่อนเร้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image