คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : เวียงจัน 1623 หน่วยกู้ภัยระดับโลกของลาว

ในเหตุการณ์เด็กชาย 12 คนและโค้ชของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน มีอาสาสมัครและทีมกู้ภัยนานาชาติเข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หนึ่งในทีมช่วยเหลือเหล่านั้นที่มาตั้งแต่วันแรกๆ ของการค้นหาผู้ประสบภัย คือ ทีมกู้ภัยเวียงจัน 1623 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้เข้าร่วมทำงานเป็นชาติแรกและทำงานอย่างต่อเนื่องมาจนพบเด็กๆ และโค้ชอย่างปลอดภัย

หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 เป็นหน่วยกู้ภัยอาสาสมัครภาคเอกชนหนึ่งเดียวในนครหลวงเวียงจัน เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 จากการริเริ่มของ เซบาสติยง แปร์เรต์ อดีตนักดับเพลิงชาวฝรั่งเศสและอดีตพยาบาลขององค์กรกาแดงแห่ง สปป.ลาว ร่วมกับผู้มีจิตสาธารณะชาวลาวเพื่อจัดตั้งทีมกู้ภัยที่มีความคล่องตัวและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมรถฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในนครหลวงเวียงจันไม่มีรถฉุกเฉินและหน่วยงานกู้ภัย 24 ชั่วโมงอย่างเป็นทางการมาก่อนต้องอาศัยหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของภาครัฐซึ่งไม่สามารถตอบสนองช่วยเหลือและดูแลผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

เมื่อแรกก่อตั้ง หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 อาศัยแรงงานอาสาจากเครือข่ายเพื่อนฝูงของผู้ก่อตั้ง 34 คน เข้ามาฝึกอบรมวิธีกู้ภัยและปฐมพยาบาลให้แก่ผู้ประสบภัยก่อนนำส่งโรงพยาบาล และอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเข้าช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่อาสาสมัคร งานหลักของหน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุทางท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้นในนครหลวงเวียงจัน เนื่องจากสภาพการจราจรและถนนที่ย่ำแย่ และปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นตามความเจริญของบ้านเมือง โดยในปี 2016 หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากถึง 100,000 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีทีมอาสาสมัครกว่า 220 คน รวมถึงอาสาสมัครชาวต่างชาติเข้าร่วม โดยสามารถโทรแจ้งเหตุได้ผ่านสายด่วน 1623 ถึงศูนย์ปฏิบัติงานกว่า 7 แห่งทั่วนครหลวงเวียงจัน ทำให้หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 เข้าถึงจุดประสบเหตุได้ภายใน 8-15 นาที

ด้วยความริเริ่มและจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ในประเทศที่ยังยากจนและขาดแคลนหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคเอกชน ทำให้หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 ได้รับยกย่องจากรางวัลแม็กไซไซ ประจำปี 2016 ให้เป็นองค์กรดีเด่นด้านสาธารณประโยชน์ อีกทั้งรางวัลจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส และได้ขยายการกู้ภัยเพิ่มเติมเป็น 5 หน่วย ได้แก่

Advertisement

1.หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัย ปฐมพยาบาล และกู้ชีพฉุกเฉินในสถานการณ์เร่งด่วน

2.หน่วยกู้ภัยไฮดรอลิก เพื่อยก ลาก และเคลื่อนย้ายรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง หรืออาคารที่เกิดเหตุ

3.หน่วยดับเพลิงและกู้อัคคีภัย เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการต่อสู้อัคคีภัยและช่วยเหลือผู้ติดในอาคารยามเพลิงไหม้

Advertisement

4.หน่วยดำน้ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุอุบัติภัยทางน้ำ ทางเรือ โดยเฉพาะแม่น้ำโขง รวมถึงการงมร่างของผู้เสียชีวิตในน้ำ

5.หน่วยค้นหาในโพรงถ้ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อันตรายและซับซ้อน เช่น อุโมงค์ ถ้ำ หน้าผาหรือเหว

เนื่องจาก สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีภูเขา แม่น้ำ หน้าผาและปล่องถ้ำจำนวนมาก ทั้งที่มีการสำรวจแล้วและยังไม่สำรวจ หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 จึงมีความชำนาญในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสภาพธรรมชาติที่ลำบากต่อการเข้าถึงไม่แพ้หน่วยกู้ภัยของประเทศใหญ่ๆ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องมือที่ทันสมัยจากองค์กรต่างชาติเข้ามาสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้มีส่วนช่วยเหลือการเข้าร่วมภารกิจค้นหาและช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี่จนประสบผลสำเร็จ

คำประกาศยกย่องของรางวัลแม็กไซไซได้กล่าวว่า “หน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 เป็นผู้ประกอบวีรกรรมช่วยเหลือชีวิต ในเวลาและสถานที่ที่จำเป็นอย่างยวดยิ่ง ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและท้าทาย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนจากมนุษยธรรมที่แรงกล้าและจิตวิญญาณที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันของมนุษย์”

ขอขอบคุณความทุ่มเทของหน่วยกู้ภัยเวียงจัน 1623 แทนใจคนไทยทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image