‘ทวารวดี’ เมืองศักดิ์สิทธิ์พระกฤษณะ พบทั่วไป ไทย-กัมพูชา เพื่อการค้า และศาสนา-การเมือง

กรุงเทพฯ เคยได้รับยกย่องเป็นเมือง “ทวารวดี” มีอยู่ในสร้อยนามสมัย ร.1 ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดี…”

ทั้งนี้เป็นประเพณีสืบเนื่องจากสร้อยนามอยุธยา มีลายลักษณ์อักษรว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ซึ่งรับมรดกอีกทอดหนึ่งจากบ้านเมืองสมัยก่อนอยุธยา

“ทวารวดี” เป็นนามนครหลวงของพระกฤษณะ (ซึ่งเป็นนารายณ์อวตาร) ได้รับยกย่องจากชาวชมพูทวีปว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ พบในคัมภีร์โบราณตำนานวีรบุรุษอินเดีย และต่อมาแพร่หลายเข้าถึงสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ราวเรือน พ.ศ. 1000 หรือราว 1,500 ปีมาแล้ว

บรรดาเจ้านายและผู้นำท้องถิ่นยุคต้นประวัติศาสตร์ทั้งในไทยและกัมพูชา (อาจมีที่อื่นอีกซึ่งอยู่พื้นที่โดยรอบ แต่ยังไม่พบหลักฐาน) นับถือคติที่ยกย่องพระกฤษณะเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ ต่างขอความคุ้มครองเพื่อความอุดมสมบูรณ์ทางการค้า และศาสนา-การเมือง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยพิธีกรรมขนานนามบ้านเมืองของตนตามเทพนคร หรือนครพระกฤษณ์ว่า “ทวารวดี”

Advertisement

[เช่น “ละโว้” เป็นชื่อท้องถิ่นรู้กันทั่วไปและมีในจารึก แต่ขนานนามศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมว่า “ทวารวดี” พบในเอกสารจีนว่า “โตโลโปตี”]

คำว่า “ทวารวดี” จึงพบทั่วไปในลักษณะพิธีกรรม ได้แก่ บนเหรียญเงิน (ซึ่งพบหลายแห่ง) และบนศิลาจารึกทั้งในไทยและในกัมพูชา


 

Advertisement

 

บ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี มีเครือข่ายการค้าทางทะเลกว้างขวาง พบรูปเรือเดินทะเลสมุทร เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว จากตราดินเผา ที่เมืองนครปฐมโบราณ จ. นครปฐม (ลายเส้นจำลองจากตราดินเผา โดย เสรี นิลประพันธ์ กรมศิลปากร)

 

 


 

ทวารวดี ในพิธีกรรม

“ทวารวดี” มีทั่วไปในดินแดนต่างๆ เพราะเป็นนามศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม ไม่ใช่นามจริงของเมืองนั้นๆ

เช่น เมืองนครปฐมโบราณ ราวเรือน พ.ศ. 1000 เอกสารจีนเรียก “หลั่งยะสิว” (ยังไม่รู้ความหมายและคำแปล) แต่ในพิธีกรรมยกย่องเป็น “นครพระกฤษณ์” หมายถึง “ทวารวดี” พบตกค้างถึงราวหลัง พ.ศ. 1800 (ในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย)

“อาณาจักรทวารวดี” ในตำราเก่าที่รับแนวคิดแบบอาณานิคม บอกว่ามีศูนย์กลางแห่งเดียวอยู่เมืองนครปฐมโบราณ แล้วแผ่อำนาจการเมืองออกไปกว้างขวางเกือบทั่วประเทศไทย (โดยดูจากรูปแบบศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกัน) จึงไม่สอดคล้องกับหลักฐานต่างๆ รอบด้าน ซึ่งเท่ากับไม่น่าเชื่อ

ประวัติศาสตร์โบราณคดีตามแนวคิดแบบอาณานิคม ได้รับการพิสูจน์แล้วหลายเรื่องว่าวิปลาสคลาดเคลื่อนจากความจริงตามหลักฐาน เช่น เชื้อชาติ, อาณาจักร เป็นต้น ดังนั้นชุมชนวิชาการโบราณคดีควรทบทวนข้อมูลความรู้เรื่องทวารวดี

ศาสนาทวารวดี

บ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี นับถือปนกันทั้งศาสนาผี, ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

กษัตริย์และคนชั้นปกครองนับถือศาสนาพราหมณ์ แล้วยกย่องพระนารายณ์ หรือพระกฤษณะ (ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) โดยเฉพาะพระกฤษณะ พบภาพสลักบนทับหลังปราสาทหลายแห่งทางลุ่มน้ำมูล

ประชากรคนชั้นถูกปกครองนับถือศาสนาพุทธ

ประชากรทวารวดี

ประชากรทวารวดีมีหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ “ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ประชากรของเมืองทวารวดีเป็นเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์มอญปัจจุบัน” (จากหนังสือ ทวารวดี : ต้นประวัติศาสตร์ไทย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก 2545 หน้า 24-27)


 

พระกฤษณะ ราว พ.ศ. 1100-1200 (ประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) ชูพระกรข้างซ้ายแสดงปาง “กฤษณะโควรรธนะ” หรือพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ รู้จักคุ้นเคยแล้วกับเรื่องราวของพระกฤษณะมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการรับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาจากอินเดีย (ภพและคำอธิบายโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ)

“ทวารวดี” เมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ

คำว่า “ทวารวดี” มาจากชื่อว่า “ทวารกะ” (Dvaraka) แปลว่า เป็นปากประตูหรือประตูการค้า มีนัยหมายถึงนครที่มีทะเลล้อม หรือติดต่อถึงทะเล ทำให้ค้าขายได้สะดวก คือเป็นชุมทางการค้า หรือ Gateway ในพื้นภูมิภาคนี้

“ทวารวดี” เป็นชื่อนครในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และยังเป็นชื่อของราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองอยู่ทางตะวันตกฉียงใต้ของอินเดียในช่วงตริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14

ในมหากาพย์ปุราณะของอินเดียมีคำว่า “ทวารา” (Dvara) แปลว่า ประตูนอก หรือปากประตู

ตำนานวีรบุรุษอินเดีย เช่น ตำนานพระกฤษณะ กล่าวว่าพระองค์เป็นผู้สร้างเมืองชื่อ “ทวารวดี” อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคุชราต (Gujarat)

[พระกฤษณะ คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าประติมากรรมยุคต้นๆ ในประเทศไทยมีเทวรูปพระนารายณ์อยู่จำนวนหนึ่ง พบที่เมืองโบราณอู่ทอง, ศรีเทพ, ปราจีนบุรี, และภาคใต้ของคาบสมุทร เป็นอาทิ]

[เก็บความจากหนังสือ ทวารวดี : ต้นประวัติศาสตร์ไทย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545 หน้า 10]

เขมร ก็มีทวารวดี

“ทวารวดี” มีในกัมพูชา จะคัดข้อความตามเชิงอรรถในหนังสือของกรมศิลปากร ดังนี้

“หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ติดต่อเรียนถามไปยังศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ท่านได้ตอบชี้แจงมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2504 ว่า คำ ทวารกได หรือ ทวารกดี เป็นคำเพี้ยนจากทวารวดี และท่านเข้าใจว่าเมืองทวารวดีในจารึกหลักนี้ หมายถึงท้องที่แห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา มิได้หมายถึงอาณาจักรทวารวดี บนผืนแผ่นดินไทย”

เป็นเชิงอรรถบางตอนของรายงานการประชุมสัมมนาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรื่องการขุดค้นที่เมืองคูบัว ราชบุรี (เมื่อวันเสาร์ 17 มิถุนายน 2504) มีตอนหนึ่งกล่าวถึง “จารึกทวารกได” (ภาษาเขมร) พบในกัมพูชา มีชื่อเมืองทวารวดี ต่างข้องใจสงสัยว่าเป็นยังไงแน่? จากเขมรแผ่ถึงไทยหรืออย่างไร?

สรุปกันไม่ได้ เลยมอบหมายหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ทำจดหมายถามท่านยอร์ช เซเดส์ ไปที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส แล้วได้คำตอบตามที่พบในเชิงอรรถที่คัดมานั้น

[จากหนังสือ สมุดนำชมโบราณวัตถุสถานสมัยทวารวดี ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี กรมศิลปากร พิมพ์เป็นบรรณาการฯ 13 สิงหาคม 2504 เชิงอรรถ หน้า 82]

เหรียญเงิน ด้านหน้า รูปหม้อน้ำ ด้านหลัง มีอักษร อ่านว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” พบในไทยหลายแห่ง เช่น นครปฐม, สิงห์บุรี ฯลฯ

เหรียญเงินทวารวดี พบทั่วไปทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน

เหรียญเงินทวารวดีที่นครปฐม มีจารึกข้อความ “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” แปลว่า “บุญของผู้เป็นเจ้าแห่ง(ศรี)ทวารวดี” ชาวบ้านพบเมื่อ พ.ศ. 2486 ในโถจมอยู่ซากเจดีย์ร้าง ไม่ได้พบจากการขุดค้นของนักโบราณคดีกรมศิลปากร (ตามที่อ้างกันมานานมาก)

และเป็นเหรียญในพิธีกรรมซึ่งพบทั่วไปหลายแห่งทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เงินตรา และไม่ได้พบแห่งเดียวที่นครปฐม (ตามที่อ้างกัน) แต่พบอีกหลายแห่ง

ข้อมูลเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์บอกความจริงไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. 2000 (ฉบับพิมพ์โดยสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2535 หน้า 25-26)


“ทวารวดี” ในจารึก

คำว่า “ทวารวดี” ในจารึก พบทั้งในไทย (ภาคกลาง, ภาคอีสาน) และในกัมพูชา ได้รับคำแนะนำจาก รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง) ดังนี้

(1.) เหรียญเงิน พบที่ จ. นครปฐม, เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี, บ้านคูเมือง อ. อินทร์บุรี จ. สิงห์บุรี, และที่อื่นๆ (2.) จารึกวัดจันทึก อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา (3.) จารึกทวารกได (Thvar Kdei ทวารกดี) กัมพูชา (4.) จารึก Prah Non กัมพูชา

[จากบทความเรื่อง “ศรีทวารวดี” ของ ชะเอม แก้วคล้าย นิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2534) หน้า 58-68]


เหรียญเงินทวารวดีที่เคยยกเป็นหลักฐานว่านครปฐมโบราณเป็นศูนย์กลางของรัฐทวารวดีจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะ “ทวารวดี” เป็นชื่อในพิธีกรรม ไม่เป็นชื่อจริง และพบทั่วไปหลายแห่ง

“ข้าพเจ้าไม่คิดว่านครปฐมโบราณจะเป็นเมืองโตโลโปตี หรือทวารวดี

หากเป็นเมืองหลั่วยะสิว ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม และ ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี เคยเสนอไว้”

ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนบอกในบทความเรื่อง “สหพันธรัฐทวารวดี” [เมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) 2558 หน้า 27]

(ซ้าย) ปกหนังสือสมุดนำชมโบราณวัตถุสถานฯ (ขวา) หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (อดีตนักปราชญ์ทางโบราณคดี กรมศิลปากร และอดีตคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) และกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 17 มิถุนายน 2504

ไม่มี “อาณาจักร” ทวารวดี

1. “ทวารวดี” ถูกเรียกครั้งแรกในโลกวิชาการเมื่อ พ.ศ. 2427 (ราว 134 ปีมาแล้ว)โดย นายแซมมวล บีล (นักค้นคว้าชาวอังกฤษ) จากการถ่ายถอดคําจีนโบราณในบันทึกการเดินทางไปชมพูทวีป (อินเดีย) ของพระถังซัมจั๋งว่า “โต-โล-โป-ตี” เทียบกับ “ทวารวดี” ในสร้อยนามอยุธยาว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

2. “อาณาจักรทวารวดี” ถูกเรียกครั้งแรกเป็นอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2472 (ราว 90 ปีมาแล้ว) โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ ว่าเป็นอาณาจักรของพวกมอญ (เนื่องจากพบมากจารึกภาษามอญ) แล้วทำลําดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทยที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงตามลําดับจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นแนวคิดมีประสิทธิภาพ แล้วมีอิทธิพลสูงอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยตราบจนทุกวันนี้

3. “ทวารวดี” ไม่เป็นอาณาจักร มีนักวิชาการนานาชาติคัดค้าน ยอร์ช เซเดส์ ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2522 (ราว 39 ปีมาแล้ว) ว่าความเป็นทวารวดีไม่ใช่อาณาจักรที่มีเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางในการปกครอง ซึ่งมีโครงสร้างทางอํานาจที่เป็นระบบแบบแผนที่กระชับ แต่ทวารวดีเป็นการรวมกลุ่มและเครือข่ายของนครรัฐอย่างหลวมๆ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการแต่งงานกินดองกัน ระหว่างกษัตริย์กับราชวงศ์ของพระราชา ธิบดีของแต่ละนครรัฐ ทําให้ความเป็นศูนย์กลางไปอยู่ที่กษัตริย์ของนครที่มากด้วยพระบารมี

“มีผู้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการใช้คําว่า ‘อาณาจักร’ และ ‘จักรวรรดิ’ ในโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐสมัยโบราณก่อนพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยให้ความเห็นว่าการใช้คําว่าอาณาจักร (kingdom) ก็ดี หรือจักรวรรดิ (empire) ก็ดี เป็นคําเรียกที่เหมาะสมกับบ้านเมืองขนาดใหญ่ เช่น อินเดียและจีน อีกทั้งเป็นการใช้เรียกโดยคนจีนและคนอินเดีย รวมทั้งพ่อค้าวาณิชจากบ้านเมืองที่เป็นอาณาจักรในโพ้นทะเล

นักวิชาการผู้เป็นผู้นําในขบวนการคัดค้านเรื่องนี้คือ ศาสตราจารย์ O.W. Walterแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ทําการศึกษาและตั้งวงวิชาการทบทวนเรื่องอาณาจักรศรีวิชัย—–”

[ศรีศักร วัลลิโภดม เล่าไว้ในบทความเรื่อง “สหพันธรัฐทวารวดี” เมืองโบราณ ปีที่ 41 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) พ.ศ. 2558 หน้า 30-31]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image