คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Isle Of Dogs ‘เกาะหมา’ ที่ถูกทิ้งให้ ‘ลืม’

“ความเกลียดชัง” ทำให้เกิดอะไรก็ได้ และหลายครั้งก็ “เกินคาดคิด”

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวใน Isle Of Dogs มาจากความชัง และการยัดเยียดให้กลายเป็น “คนนอก” ในสังคม

โดยใช้เรื่องราวของ “สุนัข” สัตว์เลี้ยงที่เป็นภาพตัวแทนว่าเป็นสัตว์น่ารัก ไม่มีพิษมีภัยอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาทำให้กลายเป็นสัตว์นอกคอก อันตราย สกปรก แพร่เชื้อโรค และเป็นสัตว์ที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง นำมาสู่กฎหมายผลักดันบรรดาหมาทั้งที่มีเจ้าของและจรจัด ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ในเกาะร้างกลางทะเล

นี่คือผลงาน “แอนิเมชั่น” ของผู้กำกับ “เวส แอนเดอร์สัน” กับผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน และรางวัลหนังขวัญใจผู้ชมในเทศกาลหนังเซาท์ บาย เซาท์ เวสต์

Advertisement

Isle Of Dogs เป็นหนังแอนิเมชั่นที่สร้างในสไตล์ “สต๊อปโมชั่น” คือการสร้างหุ่นจำลองขึ้นมา และถ่ายทำแบบขยับรูปร่างท่าทางของส่วนประกอบเหล่านั้นทีละนิด โดยใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรม ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยทั้งเวลาและการทุ่มเท

แน่นอน Isle Of Dogs เต็มไปด้วยเสียงชื่นชม และคำยกย่องใน “สไตล์” แบบ “เวส แอนเดอร์สัน” ที่ต้องมีความสร้างสรรค์ในทุกอณู และจัดองค์ประกอบศิลปะที่มีลายเซ็นของเขาตลอดทั่วถ้วนในผลงานของตัวเองอย่างเสมอมา

ท่ามกลางสไตล์สต๊อปโมชั่น ตัว “เรื่องราว” ของแอนิเมชั่นก็เป็นจุดแข็งในผลงานชิ้นนี้เช่นกัน

Advertisement

Isle Of Dogs ใช้ฉากหลังเป็นเมืองแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีตระกูลผู้ปกครองสืบทอดกันมา ตระกูลนี้มีความหลังและเกลียดชัง “หมา” มาตลอด นำมาสู่การใช้วิธี “กำจัด” สิ่งที่ชังด้วยการ “เนรเทศ” โดยวิธีขับไล่ผ่านการ “สร้างสถานการณ์” ให้หมาติดเชื้อโรคร้ายที่แพร่ระบาดสู่คนได้ โดยไม่มีทางรักษา

ในที่สุดสุนัขทั่วทั้งเมืองจึงถูกจับมาปล่อยเกาะร้าง หรือ “เกาะขยะ” จากทั้งน้ำมือมนุษย์ เทคโนโลยี และภัยธรรมชาติ สุนัขทั้งหมดต้องมาอยู่อดๆ อยากๆ ร่วมกันบนเกาะ

“หมา” ใน Isle Of Dogs คือตัวแทนของสถานการณ์ Racism ที่ผู้ปกครองยัดเยียดลัทธิความเกลียดชังให้

ที่น่าขันคือในสังคมหมาที่ถูกทิ้งนั้น ก็ยังเกิด “ชนชั้น” หมาด้วยกันเอง ระหว่างหมาเลี้ยงระดับนายแบบ นางแบบ หมาเซเลบริตี้ถ่ายโฆษณาอาหารสุนัข หมาที่มีเจ้าของ จนถึงหมาจรจัดที่ไม่มีอะไรจะโชว์พาว แต่ไม่มีอะไรแตกต่างเมื่อสุดท้ายทุกตัวถูกจับมาทิ้งไว้ที่เกาะ แม้แต่หมาของผู้ปกครองเมืองก็ไม่มีข้อละเว้น


นำมาสู่เรื่องราวแฟนตาซีของเด็กชาย “อาตาริ” วัย 12 ขวบ ที่แอบขับเครื่องบินเล็กมาลงที่เกาะขยะเพื่อตามหาเจ้าสป๊อตสุนัขสุดรัก และเครื่องบินก็ร่อนมาตกที่กลางดงขยะทำให้เด็กชายได้เจอฝูงเพื่อนหมาอีก 5 ตัว ที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อตามหาสป๊อต

มีความน่าสนใจถึงคาแร็กเตอร์ตัวละครเอกทั้งฝั่งหมาและมนุษย์ใน Isle Of Dogs มีลักษณะภายนอกแบบ Anti-Hero ตัวหมาจ่าฝูง “ชีฟ” ที่มีบุคลิกกึ่งก้าวร้าว เป็นหมาจรจัดป่วยๆ และเด็กชายอาตาริ ผู้มีชีวิตระหกระเหิน รูปร่างหน้าตาซีดเซียว ไม่สะท้อนความน่ารักใดๆ ออกมา และหากเรื่องราวในแอนิเมชั่นนี้เล่าให้เป็น “ภาพจริง” ขึ้นมา เกาะขยะอันน่าสมเพชที่ปล่อยหมาทิ้ง อันมีโรงงานนิวเคลียร์ร้าง สวนสนุกเก่าพัง ทั้งหมดนี้จะดูน่ากลัว น่าเศร้า และหดหู่ขึ้นมาทันตา

ถึงขนาดที่นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ทุกฉากที่ปรากฏเป็นเรื่องเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยซ้ำ

การสร้างแอนิเมชั่นที่ใช้ฉากหลังในญี่ปุ่นยุคดิสโทเปียนี้ เวส แอนเดอร์สัน บอกว่า เป็นความรักและการคารวะต่อภาพยนตร์และแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบ ทั้งผลงานของ “อากิระ คุโรซาว่า” และ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” แห่งสตูดิโอจิบลิ

Isle Of Dogs จึงมีบางฉากบางตอนที่ชวนให้นึกถึงแอนิเมชั่นในตำนานอย่าง Spirited Away กระนั้นกลิ่นอายและสไตล์ความเป็น Andersonian ยังมีให้เห็นล้นเหลือจากบทภาพยนตร์ที่ค่อนข้างตลกร้าย การตัดฉับเรื่องราวไปอย่างรวดเร็ว

แม้หนังจะไม่ได้แสบทรวงแซงหน้าผลงานอื่นๆ ก่อนหน้าของเขา แต่ Isle Of Dogs เป็นผลงานแห่งความพากเพียร เป็นตัวแทนเรื่องราวของ “เสียงที่ถูกเกลียดชัง” และ “ถูกทิ้งให้ลืม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image