คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : รับมือ AI

ระยะนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเริ่มเปิดเทอมกันแล้ว

หลังจากนักเรียนใช้เวลา 10 เดือนในการสอบและนำคะแนนสอบมาสมัครเข้าเรียน

จากรอบ 1 รอบ 2 รอบ 3 ซึ่งเพิ่มเป็น 3/1 และ 3/2 แล้ว

ยังมีรอบ 4 และรอบ 5 ตามมาด้วย

Advertisement

แต่ในที่สุดนักเรียนก็ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นนิสิตนักศึกษา

เพียงแต่จะอยู่มหาวิทยาลัยไหนเท่านั้น

ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นกัน

Advertisement

ที่นั่นรับนักศึกษาใหม่

วันปฐมนิเทศ มีคณาจารย์มาต้อนรับ มีรุ่นพี่มาปราศรัยเสริมสร้างความคิด

หากได้ฟัง หลายตอนคือการกลั่นประสบการณ์ของชีวิตมาบอกเล่า

ใครรู้จักนำมาคิดต่อก็คงรับประโยชน์ไปกันแล้ว

ตอนหนึ่งในการบรรยาย อาจารย์ได้แนะนำให้รู้จักทักษะ 2 ทักษะ

ทักษะแรก เรียกว่า Hard Skill เน้นเรื่องความรู้

ทักษะที่สอง เรียกว่า Soft Skill เน้นเรื่องอารมณ์

ทักษะความรู้ นักศึกษาเข้าห้องเรียน ทบทวนบทเรียน ทำรายการ แล้วประเมินผล

ส่วนทักษะอารมณ์ นักศึกษาต้องเข้าร่วมกิจกรรม แต่ละกิจกรรมจะวัดเป็นเครดิต

ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยนักศึกษาต้องทำกิจกรรมให้ได้ตามที่กำหนด

ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาทำกิจกรรมสะสมเวลาให้ได้ตามที่กำหนด

เหตุที่ต้องเน้นให้นักศึกษารู้จักทำกิจกรรม เพราะคนเรานอกจากจะเติบโตทางด้านความรู้แล้ว ยังต้องสมบูรณ์ในด้านอารมณ์ด้วย

สำหรับ Soft Skill ที่ยกเป็นตัวอย่าง ประกอบด้วย ภาวะผู้นำ การเป็นผู้ตามที่ดี

ทักษะการแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม

ทักษะการสื่อสาร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทักษะการทำงานร่วมกัน การกล้าแสดงออก ความกล้าที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ

ทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรม หรือเข้าร่วมชมรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย

อย่างน้อยการเข้าเป็นกรรมการชมรมก็ได้เรียนรู้ภาวะผู้นำและผู้ตาม

การออกค่ายอาสา เมื่อลงพื้นที่จะได้ฝึกความรับผิดชอบ การแก้ไขปัญหา การทำงานร่วมกัน ฯลฯ

รวมทั้งทักษะการคิดค้นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ อันนี้ถ้าได้ฝึกก็จะเป็นคุณูปการติดตัวนักศึกษาไป

เพราะในโลกแห่งการทำงานทั้งวันนี้และวันข้างหน้าต่างต้องการความคิดสร้างสรรค์

แม้ในปัจจุบันจะมีความหวาดผวาความเปลี่ยนแปลงของโลก

หวาดหวั่นว่าเมื่อเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการสูงเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนแล้ว

แรงงานจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

มีการยกตัวอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะขยับเข้ามาทำงานแทนในหลายวิชาชีพ

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยี IoT ก็จะเข้ามามีบทบาทต่อไป

เทคโนโลยีที่เข้ามาเหล่านี้คาดว่าจะกระทบต่อ Hard Skill หรือความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ไม่มากก็น้อย

แต่เชื่อว่า สำหรับเทคโนโลยีที่เข้ามา ยังไม่อาจเทียบชั้นกับ Soft Skill ของคนได้

แม้เทคโนโลยีจะมีความเที่ยงตรง แต่มนุษย์ก็มีความยืดหยุ่น

งานบางอย่างแม้จะมีความจำเป็นในเรื่องความเที่ยงตรง แต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นไปพร้อมกันด้วย

แม้เทคโนโลยีจะมีความไว มีพลังในการผลิตงานหลายๆ ชิ้นในเวลาอันรวดเร็วแต่งานอีกหลากหลายก็ต้องการ “อัตลักษณ์” ซึ่งแลดูมีมูลค่ามากกว่า

แม้เทคโนโลยีจะไม่เรื่องมากในการทำงาน

แต่หลายงานก็ต้องการความเป็นมนุษย์

มีอารมณ์รัก โกรธ เศร้า สนุก ตื่นเต้น ดีใจ ซึ่งทำให้จิตใจมีชีวิตชีวา

งานบางอย่างต้องการ “มนุษย์” ที่มีวุฒิภาวะ รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์

สามารถเป็นผู้นำก็ได้ และเป็นผู้ตามก็ได้

ในหลายสถานการณ์แม้เทคโนโลยีจะมี “How To” ในการแก้ไขสถานการณ์

แต่การปฏิบัติเพื่อนำไปสู่สถานการณ์ที่คลี่คลายก็ยังจำเป็นต้องใช้ทักษะของมนุษย์เข้ามาช่วย

ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่าเทคโนโลยี

เป็นทักษะที่มนุษย์ในยุคนี้และยุคหน้าต้องมีความพร้อม

พร้อมทั้งทักษะความรู้หรือ Hard Skill

และยิ่งต้องมีความพร้อมในทักษะอารมณ์ หรือ Soft Skill ด้วย

เรียนรู้และฝึกฝนทักษะทั้งสองเพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ที่รุกคืบมาถึงตัว

โลกยุคเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image