คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : แก้หนี้นอกระบบ จับนายทุนเท่าไรก็ช่วยไม่ได้

หนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากหนี้นอกระบบที่เกี่ยวโยงไปถึงอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ หนี้นอกระบบนั้นคือหนี้สินที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันการเงินหรือไม่ได้จดทะเบียนหลักประกันสัญญา มักจะเรียกดอกเบี้ยอัตราสูงลิ่ว เช่น ร้อยละยี่สิบต่อเดือน หรือร้อยละสิบต่อสิบวัน ทำให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้วต้องตกอยู่ในกับดักหนี้สินอย่างไม่มีทางเลือกเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน

จากการสำรวจการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าในจำนวนผู้มีรายได้น้อย 6.98 ล้านคน มีหนี้นอกระบบอยู่ราว 1.33 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้นอกระบบกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคอีสาน สาเหตุของการเป็นหนี้นั้นส่วนมากมาจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเล่าเรียนของบุตรหลานและค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย

การกู้ยืมในระบบสถาบันการเงินนั้นเป็นไปได้ยากสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ทำอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม เนื่องจากไม่มีแหล่งรายได้แน่นอนชัดเจน ไม่มีสถานประกอบการ รวมถึงขาดแคลนหลักทรัพย์ที่จะนำไปเป็นหลักประกัน ตลอดจนขาดความรู้ในการเข้าไปขอเงินกู้กับสถาบันการเงิน จึงต้องไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบในแบบต่างๆ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงและใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้

รัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ออก พ.ร.บ.ห้ามเรียกเงินกู้เกินอัตรา พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ และสนับสนุนให้เกิดนาโนไฟแนนซ์และพิโคไฟแนนซ์ และมาตรการล่าสุดคือ การยกขบวนตำรวจทหารมาปิดล้อมกวาดล้างจับกุมนายทุนเงินกู้นอกระบบในภาคตะวันออกและภาคอีสานเป็นการใหญ่ จัดงานมอบโฉนดคืนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก รวมไปถึงการอุดหนุนค่าครองชีพด้วยบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

Advertisement

แต่มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาก็ยังดูเหมือนไม่มีผลในการลดหนี้สินของประชาชนเท่าใด การปล่อยเงินกู้ของธนาคารรัฐสามารถแก้ไขปัญหาส่วนน้อยได้เพียงไม่ถึง 2% เช่นเดียวกับนาโนไฟแนนซ์ที่ให้กู้เพื่อประกอบธุรกิจ ส่วนพิโคไฟแนนซ์ที่มีผู้มายื่นขอเปิดกิจการ 348 รายทั่วประเทศ ก็มีขั้นตอนและระเบียบการที่ยุ่งยาก ต้องจัดตั้งนิติบุคคลและส่งรายงานการเงินให้กับกระทรวงการคลังทุกเดือน ทำให้ปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนไปได้ไม่ถึง 10 ล้านบาทแม้จะคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% ต่อปี

จากปี 2560 ที่รัฐบาลประกาศแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาจนถึงตอนนี้ มาตรการต่างๆ ที่พยายามคิดค้นออกมาไม่ได้มีผลแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน สาเหตุคือมาตรการดังกล่าวนั้นล้วนเกิดจากแนวคิดสั่งการจากด้านบน แก้ไขด้วยสายตาของคนที่ไม่เป็นหนี้ แก้ไขไม่ถึงรากของปัญหา และสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้เกี่ยวข้องมากกว่าที่จะเกิดประโยชน์แท้จริง

นโยบายต่างๆ ที่สร้างขึ้นจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียน ทำเอกสาร กรอกข้อมูลจำนวนมากซ้ำซ้อนแต่ให้ประโยชน์จริงเพียงน้อยนิด วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่อนุมัติก็ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เดิมหรือลงทุนใหม่แถมยังใช้เวลาพิจารณานานตามระเบียบราชการ การปราบนายทุนเงินกู้เพียงบางรายยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการปล่อยกู้จากทุนท้องถิ่นซึ่งทำให้เงินฝืดมากขึ้นหากคิดจะลงทุน

Advertisement

และปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดอย่างรายได้ครัวเรือน ค่าแรงและราคาสินค้าเกษตรก็ไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อให้ดอกเบี้ยถูกหรือไม่มีนายทุนหน้าเลือด ภาวะหนี้สินครัวเรือนทั้งในและนอกระบบก็ไม่มีทางจะหมดไปได้โดยง่าย

การแก้ไขหนี้นอกระบบที่แท้จริงจึงควรพิจารณาจากพฤติกรรมผู้เป็นหนี้โดยไม่มีอคติชี้นำ ตัดทอนขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยากให้เหลือน้อย และลดค่าใช้จ่ายแฝงที่อาจเกิดขึ้นไปพร้อมกับการช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีติดกับดักหนี้ดอกเบี้ยโหดไปพร้อมกัน

ที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มรายได้ เพิ่มราคาสินค้าเกษตรที่เป็นรากฐานของครัวเรือนให้คนมีกินมีใช้และมีพอจ่ายหนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image