สุจิตต์ วงษ์เทศ : ที่ใดไร้การตรวจสอบ ที่นั้นชอบคอร์รัปชั่น

การตรวจสอบ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบและสะเทือนถึงประชาชนพลเมืองทั้งในแง่ชีวิต, ทรัพย์สิน และในทางความคิดเกี่ยวข้องคนอื่น

แต่สังคมอนุรักษ์อำนาจนิยม มีทัศนะทางลบว่าการตรวจสอบเป็นความขัดแย้งกระทบต่อความมั่นคง (ของใครก็ไม่รู้?) บทนำมติชนชี้ว่าการตรวจสอบไม่ใช่ขัดแย้ง ดังนี้

“ในประเด็นที่เกี่ยวกับสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณการใช้จ่าย หรือการออกกฎหมายข้อบังคับที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ล้วนแล้วแต่ต้องมีการตรวจสอบ โดยเฉพาะเสียงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งกลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนที่ต้องปฏิบัติตาม

การตรวจสอบจึงไม่ใช่ความขัดแย้ง และซักถามในสิ่งที่สงสัย การคัดค้านในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย ก็ไม่ใช่ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความหายนะ

Advertisement

ตรงกันข้าม การตรวจสอบเช่นนี้จะเป็นตัวช่วยให้กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้นั้นได้รับการยอมรับมากขึ้น และจะเป็นกฎหมายที่อุดช่องโหว่ได้มากกว่าการปล่อยผ่านด้วยการยกมือโหวตแบบ ‘ฝักถั่ว’ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความบกพร่องผิดพลาด และมีผลสะเทือนไปถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”

[บทนำเรื่อง “ตรวจสอบไม่ใช่ขัดแย้ง”

มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561 หน้า 2]

Advertisement

เพียงความเคลื่อนไหว

ทั้งนี้มีเหตุจากความเคลื่อนไหวของ 2 กลุ่ม ได้แก่ เภสัชกร และกลุ่มวิชาชีพ

“ความเคลื่อนไหวแรก เป็นความเคลื่อนไหวของเภสัชกรที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ. ยา โดยเห็นว่าการแก้ไขในประเด็นที่เปิดทางให้วิชาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์และเภสัชกรมาจ่ายยาอันตรายนั้นจะกระทบต่อประชาชน

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มวิชาชีพ 11 วิชาชีพ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. อุดมศึกษา ในประเด็นที่กีดกันมิให้กลุ่มวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ เข้ามากำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน —-”

ประวัติศาสตร์ต้องถูกตรวจสอบด้วย

ยังมีอีกประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อความคิดและการกระทำของคนในสังคมไทยวงกว้าง แล้วส่งผลเสียต่อการเมืองและเศรษฐกิจ คือ ประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย ที่คนชั้นนำเสกสรรปั้นแต่งใช้ครอบงำสังคมไทยเพื่อผดุงอำนาจของพวกตน โดยเน้นสิ่งไม่จริง และไม่เคยพบหลักฐานวิชาการสนับสนุน เช่น

(1.) ชนชาติไทยเชื้อชาติไทย เป็นไทยแท้บริสุทธิ์ และดีกว่าใครในโลก (2.) กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ส่วนกรุงศรีอยุธยาเป็นแห่งสอง (3.) ในไทยสมัยโบราณมีอาณาจักรชื่อต่างๆ กัน ได้แก่ ทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี ฯลฯ

ที่ยกมานี้ล้วนไม่มีจริง แต่รัฐไทยใช้ครอบงำโดยผ่านระบบการศึกษา ส่งผลให้ “เกิดบาดหมาง สร้างบาดแผล” หวาดระแวง ดูถูกเหยียดหยามเพื่อนบ้าน ส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังมีประจักษ์พยานชัดเจนต่อเนื่องมานานมาก

ประเด็นสาธารณะทางวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย สมควรมีการตรวจสอบอย่างลึกซึ้งและสม่ำเสมอในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัย ควบคู่กับตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

“ที่ใดไร้การตรวจสอบ ที่นั้นชอบคอร์รัปชั่น” ทั้งที่เป็นทรัพย์สินและที่เป็นเชิงนโยบายวิชาการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image