คอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขง : อุปสรรคธุรกิจคือค่าขนส่ง

ปัญหาความแออัดของเมืองกรุงและการรวมศูนย์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอาจแก้ได้ด้วยการกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด แต่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานเป็นไปอย่างล่าช้า การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่พยายามสร้างให้เกิดขึ้นหลายครั้งก็ประสบอุปสรรคและชะลอการพัฒนา ถึงขั้นล้มเลิกโครงการไป ปัจจัยหลักสำคัญประการหนึ่งที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมคือความยากลำบากและราคาของค่าขนส่ง

ต้นทุนของการขนส่งทางถนนในประเทศไทยมีสูงถึง 4.6% ของ GDP ถือเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการขนส่งทั้งหมด โดยจุดเชื่อมต่อสำคัญของอุตสาหกรรมที่ใช้นำเข้าและส่งออกอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ทำให้พื้นที่ที่ยิ่งห่างไกลท่าเรือน้ำลึกออกไป ยิ่งทำให้ค่าขนส่งที่เป็นต้นทุนสำคัญในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย

นอกจากนี้ พื้นที่ห่างไกลยังมีอุปสรรคด้านสาธารณูปโภค ทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา และแรงงาน รวมถึงการบริหารความเสี่ยง ความไม่นอนในการขนส่ง ทั้งโอกาสเกิดอุบัติเหตุและความล่าช้าที่ไม่คาดคิด หากพื้นที่ต่างจังหวัดไม่สามารถสร้างข้อได้เปรียบในต้นทุนประการอื่น ก็ยากที่อุตสาหกรรมที่จ้างงานจำนวนมากจะเกิดขึ้นได้

จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม การขนส่งทางถนนมีต้นทุนสูงที่สุดในระบบการขนส่งทางบก แต่มีความสะดวกที่สุดเพราะสามารถส่งของไปถึงปลายทางได้ภายในต่อเดียว เพราะหากขนส่งทางอากาศหรือขนส่งทางราง ก็ต้องเปลี่ยนถ่ายจุดขนส่งสินค้าลงรถอีกทอดหนึ่งเพื่อให้ถึงจุดหมาย (Multi-modal Transportation)

Advertisement

นอกจากนี้ค่าขนส่งทางถนนยังแปรผันตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาด จุดวิกฤตของราคาค่าขนส่งจะเป็นอันตรายต่อต้นทุนธุรกิจ คือราคาน้ำมันดีเซลลิตรละเกิน 30 บาท ขึ้นไป ทำให้ภาครัฐต้องอาศัยเงินกองทุนและภาษีน้ำมันเพื่ออุ้มราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ทะลุขึ้นเกินกว่าขีดจำกัด แต่ก็เป็นภาระต่อกองทุนและงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่องในเวลาที่น้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นยาวนาน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงกระจุกตัวอยู่ในเขตท่าเรือภาคตะวันออกเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร แรงงานจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว การสร้างโครงการ EEC ก็ยิ่งจะทำให้การกระจุกตัวของแรงงานและเงินทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น เหมือนรดน้ำลงไปบนดินที่ชุ่มน้ำ แต่ดินที่แล้งก็ยิ่งแล้งไปมากกว่าเดิม

ธุรกิจที่จะตั้งรากฐานในอีสาน จึงต้องพิจารณาค่าขนส่งเป็นหลักใหญ่หนึ่ง หากประกอบกิจการที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าซึ่งต้องขนส่งจากท่าเรือ และส่งออกโดยการขนส่งไปท่าเรือ เท่ากับต้องเสียค่าขนส่งไปกลับสองต่อ

Advertisement

ในขณะที่อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร เช่น น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง แม้จะเสียค่าขนส่งเพื่อส่งออกเพียงต่อเดียว แต่ก็มีความเปราะบางจากสภาพการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงเปิดทำการได้ตามฤดูเก็บเกี่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มาก และให้ผลิตภาพต่อมูลค่าเศรษฐกิจรวมไม่สูงนัก

ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการขนส่ง เช่น ธุรกิจบริการทางไกล คอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจเทคโนโลยี จึงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ห่างไกลที่มีค่าขนส่งสูง

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความรู้สูง มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้บริการได้

ซึ่งแรงงานคุณภาพดังกล่าวมักจะต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ทันสมัย มีแหล่งบันเทิงและสาธารณูปโภคครบครัน ซึ่งในต่างจังหวัดยังยากที่จะตามทัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนหนึ่งคือการสร้างศูนย์ฝึกอบรมงานบริการใหม่ของบริษัทเอไอเอสที่จังหวัดนครราชสีมา ที่จ้างงานมากถึง 1,700 ตำแหน่ง เกิดขึ้นได้เมื่อโคราชมีทรัพยากรบุคคลจากสถาบันการศึกษาท้องถิ่นและความเจริญเพียงพอแล้ว

นโยบายกระจายงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงออกไปจังหวัดห่างไกล จึงต้องประกอบทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งใช้งบประมาณสูงในระยะสั้น ประกอบกับการส่งเสริมด้านการศึกษาที่จะช่วยให้ทรัพยากรบุคคลสามารถพัฒนารองรับความต้องการด้านเทคโนโลยีในระยะยาวไปพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image