คอลัมน์ โลกสองวัย : ฟังเพลง ‘สุนทราภรณ์’ เถิดชื่นใจ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 63 พรรษา 2 เมษายน 2561 วันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ “สุนทราภรณ์ถวายความจงรักภักดี”

การแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้เป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ของวงสุนทราภรณ์ บรรเลงโดยวงขนาดใหญ่พิเศษ ด้วยเครื่องดนตรีจำนวนกว่า 20 ชิ้น ร่วมกับวงดนตรีไทย

พาผู้ชมย้อนอดีตสู่วันวานอันงดงามด้วยการคัดสรรสุดยอดแห่งบทเพลงสุนทราภรณ์ เปิดรายการด้วยบทเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้แก่เพลง “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” และน้อมเกล้าฯ แสดงความจงรักภักดี ในการแสดงแบ่งป็น 5 องก์ ได้แก่

องก์ที่ 1 “สดุดี อัครราชกุมารี” ประกอบด้วย เพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิ ดังสายฝน สิรินธร ซึ่งประพันธ์โดยวงสุนทราภรณ์

Advertisement

องก์ที่ 2 “สุนทรีย์เพลงรัก สุนทราภรณ์” รวบรวมสุดยอดแห่งบทเพลงรัก และเพลงยอดนิยมของสุนทราภรณ์ครบทุกอารมณ์ อาทิ ฟลอร์เฟื่องฟ้า ดำเนินทราย (ดัดแปลงจากทำนองเพลงไทยเดิม) หนีไม่พ้น

องก์ที่ 3 “ย้อนยลยิน พระปรีชาญาณ พระมหาธีรราชเจ้า” ประกอบด้วย บทเพลงของสุนทราภรณ์ อัญเชิญหรือได้แรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาใส่ทำนอง เช่น สาส์นรัก จากบทพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปม และโยสลัม จากบทพระราชนิพนธ์วิวาห์พระสมุทร

องก์ที่ 4 “เล่าขานขับกล่อม เพลงละคร” รวบรวมบทเพลงสุนทราภรณ์ที่ใช้ประกอบละครเวที และละครโทรทัศน์ชื่อดังในอดีต เช่น จ้าวไม่มีศาล ใต้ร่มมลุลี จากละครเพลงจุฬาตรีคูณ

Advertisement

องก์ที่ 5 “เริงระบำรำฟ้อน เพลงประเพณีไทย” ปิดท้ายการแสดงด้วยเพลงรำวงสี่ภาค เช่น รำวงสาวบ้านแต้ (ภาคอีสาน) เริงเพลงกลองยาว (ภาคกลาง) เป็นต้น ประกอบการแสดงรำอันงดงามตระการตา

บทเพลงแต่ละเพลง ผู้ขับร้องคือนักร้องระดับ “ดาวค้างฟ้า” พรศุลี-เจือนศักดิ์ ถึงคลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์กว่า 20 ชีวิต พร้อมศิลปินรับเชิญ รวงทอง ทองลั่นธม ศิลปินแห่งชาติ สุปราณี พุกสมบุญ นักร้องยุคบุกเบิกของวงสุนทราภรณ์

บัตรราคา 800-5,000 บาท วางจำหน่ายที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทั่วประเทศ

สั่งผ่านศูนย์บริการทางทางโทรศัพท์ 0-2262-3456 เว็บไซต์ www.thaiticmajor.com

รายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย นำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ โดยเสด็จพระราชกุศลในมูลนิธิอานันทมหิดล

วงดนตรีสุนทราภรณ์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482 ก่อนเป็นวงดนตรี เอื้อ สุนทรสนาน รวมกลุ่มกับเพื่อนจัดตั้งวงดนตรีไทยฟิล์ม ของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เมื่อปี 2479

ปี 2482 เมื่อบริษัทเลิกกิจการ วิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการดำริให้มีวงดนตรีประจำกรม เอื้อและเพื่อนนักดนตรีจึงเข้าไปประจำเป็นวงหัสดนตรีของกรมโฆษณาการ เปลี่ยนชื่อเป็นวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

เมื่อรับงานทางราชการใช้ชื่อว่าวงดนตรีกรมโฆษณาการ แต่เมื่อรับงานส่วนตัว นอกเวลาราชการ ใช้ชื่อวงดนตรีสุนทราภรณ์ มาจากนามสกุลของเอื้อ สนธิกับชื่อของคนรักอาภรณ์ คือ “สุนทร” กับ “อาภรณ์”

เป็น “สุนทราภรณ์” ถึงทุกวันนี้ ปีหน้าก่อตั้งครบ 80 ปี

ปัจจุบันวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นของกรมประชาสัมพันธ์ มี โฉมฉาย อรุณฉาน (นิตยา อรุณวงศ์) หัวหน้ากองดุริยางค์กรมประชาสัมพันธ์เป็นหัวหน้าวง วง “สุนทราภรณ์” เป็นสิทธิมรดกตามกฎหมายของ อติพร เสนะวงศ์ บุตรสาวของ เอื้อกับอาภรณ์ สุนทรสนาน (สกุลเดิม กรรณสูต)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image