คอลัมน์ โลกสองวัย : สุนทราภรณ์ถวายความจงรักภักดี

“เอื้อ สุนทรสนาน” เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2453 ที่ตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม (แม่กลอง)

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ สมุทรสงคราม เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2460 อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน เรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม จบชั้นประถม

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวันเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท เอื้อจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดนตรีแห่งนี้โดยตรงกับครูโฉลก เนตรสุต ครูใหญ่สมัยนั้นคือพระเจนดุริยางค์

เครื่องดนตรีที่เอื้อสนใจและเล่นได้ดีเป็นพิเศษคือ ไวโอลิน และแซกโซโฟน

Advertisement

เอื้อ สุนทรสนาน ได้รับยกย่องเรียกขานว่า “ครูเอื้อ” มานาน จนไม่ทราบว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ ปี 2479 แต่งเพลง “ยอดตองต้องลม” เป็นเพลงแรก

20 พฤศจิกายน ปี 2482 ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ร้องเพลงแรกคือ “ในฝัน” ปี 2483 ก่อนสงคราม โลกครั้งที่สองยุติ แต่งเพลงปลุกใจเพลงแรกคือ “รักสงบ” ปี 2489 บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก “ยามเย็น” เพลงที่แต่งถวายพระพรเพลงแรก “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น”

หลังก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ครูเอื้อเป็นหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้ควบคุมวงมาตลอด ถึงปี 2524 รวม 42 ปี จึงถึงแก่กรรม

Advertisement

ตลอดเวลา 42 ปีที่อยู่กับงานดนตรี ครูเอื้อสร้างผลงานอมตะไว้มาก ได้รับรางวัลเกียรติยศจากหลายสถาบัน ระหว่างปี 2523 ครูเอื้อได้เข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้ายคือเพลง “พรานทะเล” จากนั้นครูเอื้อเริ่มมีอาการทรุดลง จากป่วยไข้เนื้อร้ายที่ปอด ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2524 สิริอายุได้ 71 ปี

ปี 2512 ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสุนทราภรณ์การดนตรี ระหว่างปี 2518-2519 ร่วมก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ครูเอื้อ สุนทรสนาน “สุนทราภรณ์” มีผลงานเพลงหลายประเภท ตั้งแต่เพลงถวายพระพร เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด เพลงมหาวิทยาลัยเกือบทุกสถาบัน เพลงรำวง เพลงรัก เพลงชมธรรมชาติ เพลงประกอบละครเวที ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลงเทศกาลของไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 เพลง

ทุกเพลงของครูเอื้อในชื่อ “สุนทราภรณ์” ทั้งแต่งทำนองเนื้อร้องด้วยตัวเองร่วมกับผู้อื่น หรือแต่งเฉพาะทำนอง ส่วนเนื้อร้องมีผู้อื่นแต่ง ได้รับความนิยมมีผู้นำไปร้องและใช้ในเทศกาลทั้งปีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลของสถาบันการศึกษา สำหรับงานฉลอง งานลีลาศ ไม่ว่าจะเป็นเพลงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เพลงลอยเรือ

เพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อร้องคือ “พระเจ้าทั้งห้า”

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่าง สาขาผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี 2523, 2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2524 อติพร เสนะวงศ์ รับพระราชทานแทน

เมื่อเริ่มก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์มีศิลปินยุคนั้นได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมานาน อาทิ ตัวครูเอื้อ สุนทรสนาน มัณฑนา โมรากุล เลิศ ประสมทรัพย์ สุภาพ รัศมิทัต สุปราณี พุกสมบุญ จันทนา โอบายวาทย์ จุรี โอศิริ วินัย จุลละบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ชวลี ช่วงวิทย์ พูลศรี เจริญพงษ์ วรนุช อารีย์ ศรีสุดา รัชตะวรรณ สมศักดิ์ เทพานนท์ รวงทอง ทองลั่นธม หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ อ้อย อัจฉรา มาริษา อมาตยกุล บุษยา รังษี เป็นต้น

การแสดงครั้งนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนเงินงบประมาณและสถานที่จัดแสดงแก่มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สุนทราภรณ์ถวายความจงรักภักดี” เวลา 18.00 น. พรุ่งนี้ 10 ตุลาคม 2561 ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ขอเชิญบรรดาแฟนสุนทราภรณ์ไปร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนี้ โดยพร้อมเพรียงกัน

นานๆ จะได้ชื่นชมผลงานของ “สุนทราภรณ์” สักครั้งหนึ่ง หวังว่าผู้ที่ชื่นชมชื่นชอบจะได้ไปพบกันเย็นพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image