มลายู อยู่ก่อนไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชาวมลายู พูดตระกูลภาษามลายู เป็นประชากรเก่าแก่ดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์ มีหลักแหล่งกระจายทั่วไป ทั้งภาคพื้นทวีปและกลุ่มเกาะไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

คนพูดภาษามลายูมีหลักแหล่งปะปนกับคนพูดภาษาตระกูลอื่นๆ หลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบทั่วไปในเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, ไทย

ชำนาญทะเลสมุทร คนมลายูชำนาญเดินเรือขนาดเล็ก มีทุ่นกันคลื่นแล่นเลียบชายฝั่งและระหว่างเกาะไปได้ไกล จึงน่าจะเป็นผู้ส่งผ่าน “กลองทองมโหระทึก” จากภาคพื้นทวีปสู่กลุ่มเกาะต่างๆ หลังจากนั้นเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายศรีวิชัย

กรมท่าขวา สมัยอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินให้คนมลายูดูแลกิจการค้านานาชาติ มีตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ควบคุมด้านทะเลอันดามันติดต่อการค้ากับอินเดียและเปอร์เซีย-อาหรับ

Advertisement

อาสาจาม พระเจ้าแผ่นดินสมัยต้นอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น ยกย่องคนมลายู มีในกฎมณเฑียรบาล บรรดาศักดิ์ “ราชบังสัน” เป็นขุนนางดูแลกิจการป้องกันทางน้ำ เรียก “กองอาสาจาม”

ปี่ชวา กลองแขก เครื่องประโคมเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางบกทางน้ำเรียก “ปี่ชวา กลองแขก” หมายถึง ปี่สรไนของเปอร์เซีย (อิหร่าน) ใช้ในราชสำนักชวา และกลองสองหน้าขึงหนังจากอินเดีย ที่ใช้ในราชสำนักมลายูปัตตานี ปัจจุบันใช้ตีเป่าประกอบการละเล่นชกมวย, กระบี่กระบอง (รับจากมลายูแบบซีลัต)

ลิเก, ลำตัด เริ่มแรกในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 ต้นตอจาก “ดิเกร์” การละเล่น “สวดแขก” จากมลายูปตานี

Advertisement

จาม พูดภาษามลายู มีรัฐจาม สมัยแรกนับถือฮินดู-พุทธ ตั้งศูนย์กลางอยู่เวียดนาม (ภาคกลาง) แล้วแผ่กระจายวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ ถึงกัมพูชา, ลาว, ไทย

นางนาค พระทอง ตำนานกำเนิดอาณาจักรกัมพูชา มีเรื่องนางนาคผู้นำท้องถิ่น กับพระทอง เป็นมลายู-จาม ต่อมาสร้างปราสาทหินและวัฒนธรรมขอม

เรอแดว หรือ ระแด พูดภาษามลายู มีรัฐเรอแดว (พบชื่ออยู่ในกฎมณเฑียรบาล สมัยต้นอยุธยา) อยู่บริเวณแขวงจำปาสัก (ลาว)

พระธาตุพนม (นครพนม) พบฝีมือช่างศิลปะสถาปัตยกรรมแบบจาม ราวเรือน พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรมทวารวดี)

ปราสาทวัดพู (ลาว) ศูนย์กลางของจาม ลุ่มน้ำโขง มีจารึกอักษรและภาษาจาม ราวเรือน พ.ศ. 1500

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรบริเวณอ่าวไทย เป็นหลักแหล่งของมลายูมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลงไปอ่าวไทยฝั่งตะวันตก จนตลอดแหลมมลายู

มลายูในอยุธยา มีหลักแหล่งสำคัญอยู่นอกเกาะเมืองทางทิศใต้ (ตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยา) มีคลองคูจามใหญ่ (ปัจจุบันเรียก คลองตะเคียน) คลองคูจามน้อย (คลองคูจาม ปัจจุบัน) บริเวณนี้เรียกในพงศาวดารว่า เมืองปท่าคูจาม หมายถึงเมืองที่อยู่ฟากข้างคูจาม ในตำนานเรียกเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง



มลายูเป็นไทย คนพูดภาษามลายูตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลงไปบริเวณคาบสมุทรตอนบน ครั้งหลัง พ.ศ. 1800 ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า นานเข้าก็เป็นชาวสยามพูดภาษาไทย แล้วทยอยกลายตนเป็นไทย และยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน

สุโขทัยไม่เคยแผ่ลงใต้ถึงมลายู เพราะอำนาจของรัฐสุโขทัยมีต่ำสุดบริเวณปากน้ำโพ เมืองพระบาง (นครสวรรค์) ต่อลงไปเป็นดินแดนของ 2 รัฐใหญ่กว่า คือ รัฐละโว้ (ลพบุรี) ทางตะวันออก กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ทางตะวันตก ดังนั้นรัฐสุโขทัยไม่มีช่องทางฝ่าอำนาจลงถึงภาคใต้ตอนล่างสู่ดินแดนรัฐปตานี ตามที่ตำราประวัติศาสตร์ไทยของทางการตีขลุมไว้ ซึ่งควรแก้ไขให้ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image