ก้าวข้าม Disrupt คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

แวะเวียนไปรับฟังการปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมมาเมื่อวันก่อน

พบว่า คณะนิเทศศาสตร์ต่อไปนี้มีการทรานส์ฟอร์มจากของเดิมกลายเป็นออนไลน์แบบเต็มตัว

หลักสูตรของคณะนิเทศฯ จากเดิมที่ผูกพันกับสื่อหลักอย่างวิทยุโทรทัศน์ และการประชาสัมพันธ์

จะพัฒนากลายเป็น “การออกแบบการสื่อสารดิจิทัล” และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล

Advertisement

ทุกอย่างที่ออกแบบเพื่อรองรับลักษณะงานการสื่อสารในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ปรับให้สอดคล้องกับการสื่อสารที่สัมพันธ์กับออนไลน์

เป้าหมายการผลิตบัณฑิตต่อไปนอกจากจะต้องรู้หลักการเบื้องต้นของการสื่อสาร

Advertisement

ต้องรู้ว่า การเขียนที่มีองค์ประกอบ 5 W 1 H ต้องรู้จักประเด็น รู้จักการนำเสนอรายงานข่าว ฯลฯ แล้ว

ยังต้องเรียนรู้วิธีการใช้สื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ด้วย

แทนที่จะรู้แค่การเขียนก็ต้องรู้เรื่องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

ต้องมีทักษณะการทำคลิป

นอกจากนี้ ยังต้องมีทักษะการพูด ซึ่งมีความสำคัญในการจัดรายการ

เช่นเดียวกับการจัดหน้าที่เดิมมีวิชาจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ขณะนี้ต้องรู้จักออกแบบเว็บไซต์

ขณะที่การโฆษณาต้องเพิ่มเติมการโฆษณาทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ คน

จุดเด่นอีกอย่างที่สัมผัสได้จากหลักสูตรทางด้านนิเทศฯ คือ การบรรจุวิชาสตาร์ตอัพเข้าไปด้วย

อย่างที่รู้กันว่า สตาร์ตอัพเป็นการประกอบธุรกิจที่กำลังมีการรณรงค์กันในขณะนี้

รัฐบาลที่เดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 นำเสนอสตาร์ตอัพเป็นหนึ่งในทางรอดของประเทศ

หลักสูตรนิเทศฯ ใหม่ที่กำลังจะใช้ในปี 2562 จึงมีเรื่องสตาร์ตอัพผนวกเข้าไปด้วย

การมีหลักสูตรนี้จะรองรับบัณฑิตในอนาคต

ต่อไปบัณฑิตใหม่จะได้มีทางเลือกในอาชีพ จะเป็นลูกจ้างก็ได้ จะเป็นผู้ประกอบการก็ได้

ข้อเสนอแนะในระหว่างการรับฟังหลักสูตรนิเทศฯ คือ การทำให้ทุกวิชามีความสมบูรณ์ในตัวเองให้มากที่สุด

สมบูรณ์ให้ถึงขนาด เรียนจบวิชานั้นแล้ว สามารถนำไปประกอบอาชีพได้

วิธีนี้ดี เพราะอาจปรับเนื้อหาในวิชาต่างๆ มาเป็นคอร์สอบรมต่างหากได้อีก

สำหรับนักศึกษาที่เรียน 4 ปีเต็มหลักสูตร จะมีโอกาสค้นหาตัวเองว่า เหมาะที่จะยืนอยู่ตรงไหนในวิชาชีพการสื่อสาร

เหมาะตรงไหนก็ไปทำตรงนั้น

ใครสะดวกจะออกไปทำงานกับองค์กรสื่อใหญ่ๆ ก็ทำได้

จะยึดอาชีพผู้สื่อข่าว หรือเข้าไปเป็นฝ่ายผลิต รวมทั้งฝ่ายโฆษณา ก็ทำได้

แต่ถ้าใครไม่ชอบเป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท จะรับเป็นฟรีแลนซ์ก็แล้วแต่

รวมทั้งคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการก็สามารถใช้ความรู้จากวิชาสตาร์ตอัพนำร่อง

หลักสูตรใหม่ที่สร้างขึ้นมามีเจตนาเช่นนี้

รับฟังแล้วรู้สึกได้ถึงพัฒนาการด้านหลักสูตรที่ตอบรับความต้องการของตลาดแรงงาน

แม้หลายคนอาจจะมองว่านิเทศศาสตร์ล้นตลาด แต่หากกวาดสายตามองไปทั่วประเทศ

เรายังขาดนักสื่อสารมากมาย

ประเทศเราต้องการนักสื่อสารในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ

ต้องการคนที่พูดแล้วผู้ฟังเข้าใจ และต้องการคนที่ฟังคนอื่นพูดเรื่องยากๆ แล้วเข้าใจ

เรายังขาด “สื่อกลาง” เช่นนี้อยู่อีกหลายที่

การขาดแคลนนักสื่อสารดังกล่าว ยืนยันว่าวิชาชีพทางด้านนี้ยังมีความสำคัญต่อสังคม

ดังนั้น การพัฒนานักสื่อสารให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็น

และสถาบันการศึกษาก็เป็นสถาบันที่ต้องทำหน้าที่นี้

ทั้งหมดคือเรื่องราวที่ได้สัมผัสกับการปรับปรุงหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เข้าใจว่า มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งก็มีการทรานส์ฟอร์มหลักสูตร เพื่อรับกับสังคมยุคไฮเทค

ต้องปรับปรุงหรือทรานส์ฟอร์มหลักสูตร เพื่อหลบเลี่ยงกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีผลต่อการ Disrupt

เมื่อสถาบันศึกษาปรับหลักสูตรเพื่อรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้

แม้ต่อไปเทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็ว แต่ถ้าเรามีความพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลง

บางที เทคโนโลยีที่กลัวกันว่าจะเข้า Disrupt หากเราสามารถก้าวข้าม

Disrupt ดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนมาเป็นตัวช่วยให้เรา Deverlop ก็เป็นไปได้

หากเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ เราก็สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

เปลี่ยนจากการทำลายเป็นการสร้างสรรค์

และเมื่อใดที่เราปรับตัวทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เมื่อนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง

เพราะโลกใบนี้อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา

บางยุคเปลี่ยนช้า บางยุคเปลี่ยนเร็ว

ไม่ว่าเปลี่ยนช้าหรือเร็วมนุษย์เราก็ต้องปรับตัว

หากปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ก็อยู่รอด แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ยาก

ดังนั้น ในช่วงที่โลกกำลังจะเปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนปรับตัว

ปรับตัวเพื่อนำเอาสิ่งที่มาใหม่มาใช้สร้างสรรค์ผลงานให้ชีวิต

สร้างผลงานให้องค์กร และสร้างผลงานให้เกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมืองต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image