ผลิตซ้ำ ‘สตอรี่’ ท้องถิ่น แบ่งปันซ้ำแล้วซ้ำอีก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘สตอรี่’ ความเป็นมาของบ้านเมืองและสถานที่สำคัญมีปัญหาในการเรียบเรียงข้อมูล เช่น ข้อมูลบกพร่องผิดพลาด และการเรียบเรียงอ่านยากและเยิ่นเย้อรุ่มร่าม เป็นต้น ทำให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองหลักและเมืองรองไม่ราบรื่น เลยไม่สนุก

ข้อมูลบอกความเป็นมาของชุมชนและโบราณสถานในชุมชนนั้นจำนวนไม่น้อยในไทย มีผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะบอกเล่าต่อกันมาตามต้องการของผู้เล่าต้นตอ โดยคนสมัยหลังไม่รู้และไม่ตรวจสอบหลักฐาน จึงไม่แก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น ทั้งๆ ควรแก้ไขทุกครั้งที่ตรวจพบข้อผิดพลาดแล้วได้ข้อมูลใหม่

ประวัติศาสตร์ไทยสองแบบ

ประวัติศาสตร์ไทยจำแนกอย่างน้อย 2 แบบ ได้แก่

(1.)แบบตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี เช่น คนไทยมาจากหลายชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ และ (2.)แบบตามต้องการอยากให้เป็นของคนชั้นนำ หรือตามจินตนาการของใครของมัน เช่น คนไทยเป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์ มีแหล่งกำเนิดจากที่ใดที่หนึ่งในจีน แล้วถูกรุกรานถอยร่นลงมาสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก สร้างอยุธยาแห่งสอง เป็นต้น

Advertisement

บ้านโคกมอน ไม่โคกมอญ

มีกรณีตัวอย่างบ้านโคกมอน (สะกดด้วย น) เป็นชุมชนคนลาวพวนถูกกวาดต้อนมาตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนราว 180 ปีมาแล้ว

แต่ราว 50 ปีมานี้ มีผู้อาวุโสในตำบลคนหนึ่งบอกว่า บ้านโคกมอญ (สะกดด้วย ญ) ได้ชื่อจากพวกมอญ สมัย ร.2 มาตั้งกองบนโคกเพื่อดักจับช้างป่าถวายเจ้านายกรุงเทพฯ แล้วสร้างเจดีย์แบบมอญเป็นอนุสรณ์ที่ระลึก ต่อมาถึงสมัย ร.3 พวกลาวพวนถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ จึงเรียก บ้านโคกมอญ และมี เจดีย์แบบมอญ อยู่ใน วัดโคกมอญ

ครั้นตรวจสอบหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี พบดังนี้

Advertisement

1.บ้านโคกมอน (สะกดด้วย น) ได้จาก ต้นมอน หรือ ต้นขัดมอน (ชาวบ้านเรียกต้นไม้กวาด) ที่ขึ้นหนาแน่นบนโคกเนินที่ตั้งชุมชนบ้านเรือน แล้วมีวัดโคกมอน

2.เจดีย์วัดโคกมอน สร้างแบบพวนเชียงขวาง หลังถูกกวาดต้อนจากลุ่มน้ำโขงลงมาสมัย ร.3 เจดีย์แบบนี้มีในชุมชนคนพวนอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ (1) อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี, (2) อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ (3) วัดโคกมอน บ้านโคกมอนแห่งนี้

ซ้ำแล้วซ้ำอีก

หน่วยงานทางการ และสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ราว 30 ปีมานี้ มีความเคลื่อนไหวไม่มาก หรือไม่มีเลย จึงไม่สำรวจตรวจสอบ

“สตอรี่” ความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมือง และสถานที่สำคัญท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคุณค่าและสร้างมูลค่า

กิจกรรมแบ่งปันข้อมูลความรู้เหล่านี้ต้อง ผลิตซ้ำ ต้องร่วมกันทำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันดึงดูดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่าง ‘สั่งสม’ ไม่สั่งสอน

ที่ต้องผลิตซ้ำและทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะคนท้องถิ่น จำไม่ได้ และ ไม่ได้จำ ภาระหน้าที่ของผู้มีศรัทธาแบ่งปันข้อมูลข่าวสารต้องอดทน โดยไม่ท้อแท้และไม่สิ้นเพียร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image