คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ลดร้อนรับปีใหม่

เกิดโศกนาฏกรรมส่งท้ายปีที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อภูเขาไฟอนัก กรากาตัว ระเบิด เป็นเหตุให้เกิดสึนามิแบบฉับพลัน

เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งชาวอินโดนีเซียหนีไม่ทัน

หลายคนเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บ อีกจำนวนหนึ่งยังคงต้องค้นหา

บังเอิญว่าก่อนที่จะเกิดเหตุ ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล มีคอนเสิร์ตส่งท้ายของปีนี้

Advertisement

เป็นคอนเสิร์ตของ วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตร้า

คอนเสิร์ตชื่อ Fanfares and Dances

คอนเสิร์ตคราวนี้มีบทเพลงใหม่ประพันธ์โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ชื่อเพลง Volcanic Breath มี ดาริอูสซ์ มิครูซกี้ (Dariusz Mikulski) ชาวโปแลนด์ เป็นคอนดักเตอร์

เป็นบทเพลงคลาสสิกร่วมสมัย ใช้เสียงบรรยายภาพของภูเขาไฟที่กำลังจะระเบิดและระเบิดออกมา

เครื่องดนตรีที่ ดร.ณรงค์จงใจจะใช้ในการบรรยายภาพดังกล่าวคือ เครื่องเป่าทองเหลือง

ใช้วง quintet ซึ่งมีเครื่องเป่า 5 ชิ้น ประกอบด้วย ทรัมเป็ต 2 เครื่อง ทรอมโบน 1 เครื่อง เฟรนช์ฮอร์น 1 เครื่อง และทูบ้าอีก 1 เครื่อง

ทั้งหมดเล่นอยู่ด้านหน้าเวทีแล้วประสนกับวงออเคสตร้าอย่างไทยแลนด์ฟีลฯ

โอ้ ว้าว น่าฟังมาก

บทเพลงเริ่มต้นด้วยทรัมเป็ตที่ส่งเสียงสูงปรี๊ด แล้วตามมาด้วยเครื่องเป่าประเภทอื่นๆ ที่สลับกันแสดงฝีมือ

ขับภาพการความเคลื่อนไหวของลาวาที่กำลังสั่งสมพลังก่อนที่ภูเขาไฟจะปะทุ

เสียงเครื่องเป่าแต่ละชนิดมีเสียงแตกต่างกัน

ทรัมเป็ตเสียงสูงสุด ตามมาด้วยเฟรนช์ฮอร์ ทรอมโบน แล้วก็ทูบ้า

นักดนตรีแต่ละคนต่างแสดงฝีมือออกมาตามตัวโน้ตได้เป็นอย่างดี

นักดนตรีที่มาบรรเลงโซโลในวง quintet แต่ละคนก็จัดอยู่ในระดับยอดฝีมือ

ไม่ว่าจะเป็น Otto Sauter ทรัมเป็ต ชาวเยอรมัน Chen Guang ทรัมเป็ต ชาวจีน นันทวัฒน์ วรนิช เฟรนช์ฮอร์น ชาวไทย

Armin Bachmann มือทรอมโบน ชาวสวิตเซอร์แลนด์ และ กิตติ เศวตกิตติกุล มือทูบ้า ชาวไทย

ดนตรีที่ได้ยินแม้จะมีเสียงแตกต่าง แต่ก็สนุกกับการสร้างสรรค์จินตนาการ

ความแตกต่างของเสียง คือความเคลื่อนไหวภายในภูเขาไฟ

การบรรเลงของเครื่องเป่ากลุ่ม quintet เปรียบเหมือนการขับเคลื่อนภายในภูเขาไฟ

ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าที่อยู่ในวงไทยแลนด์ฟีลฯด้านนอกนั้น เปรียบกับภูเขาไฟที่ระเบิดแล้ว

หลายคนคงคิดว่าการฟังเพลงคลาสสิกที่ร่วมสมัยนั้นฟังยาก เพราะเขาเน้นแต่เสียงที่ฟังไม่รู้เรื่อง

แต่สำหรับบทประพันธ์ของ ดร.ณรงค์เคยพิสูจน์มาหลายครั้งว่า ฟังพอเข้าใจและทำให้เกิดจินตนาการ

เพราะ ดร.ณรงค์จะบรรยายไอเดียในการประพันธ์ลงไปในสูจิบัตร

เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ ดร.ณรงค์ บรรยายสรุปไว้

โดยเฉพาะไอเดียหลักที่ต้องการนำเสนอ

“การระเบิดของภูเขาไฟอาจจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่างๆ นานา

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการคลายความร้อนให้แก่โลก

ช่วยให้โลกปลดปล่อยความร้อนออกมา”

ชอบไอเดียที่ว่า แม้การระเบิดของภูเขาไฟจะสร้างความเสียหายให้กับหลายสิ่งหลายอย่าง

แต่การระเบิดของภูเขาไฟก็ทำให้ความร้อนของโลกใบนี้คลายลง

เป็นการปรับสมดุลตามธรรมชาติ

ขอให้ชาวอินโดนีเซียที่ประสบเหตุค่อยๆ คลายความทุกข์โศก

รักษากายรักษาจิตใจ ฟื้นฟูกลับคืนสู่ปกติเร็ววัน

สำหรับคนไทยแม้จะห่างเหินจากสึนามิมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหา

กลายเป็นความรุ่มร้อนในชีวิต

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก หลายคนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่รายรับมีจำกัด

ความยากลำบากทั้งร่างกายและจิตใจที่ได้รับ และต้องอดทนต่อสิ่งที่ประดังเข้ามา

ทำให้ชีวิตเกิดความเครียด

ทางออกที่ดีคือการลดความเครียด ทำให้สายลวดที่ขึงตึง ให้ผ่อนลงมาบ้าง

ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้แหละ เป็นโอกาสอันดี

โอกาสที่จะได้ระบายความร้อนจากชีวิต เป็นโอกาสที่จะระบายความเครียด

ผ่อนเส้นลวดที่ขึงตึงให้ผ่อนลงมาสักหน่อย

ผ่อนลงด้วยการใช้เวลาในช่วงนี้พักผ่อน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พูดคุยเสวนากับครอบครัว

อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ฟังดนตรี

หรือแม้แต่นัดคนสนิทไปออกกำลังกายด้วยการเดินการวิ่ง หรือจะเล่นกีฬาก็ได้

ตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนช่วยให้ความร้อนรุ่มในชีวิตได้รับการบรรเทา เพราะได้ระบายความร้อนนั้นออกมา

เสียดายที่วงไทยแลนด์ฟีลฯหยุดในช่วงปิดยาวปีใหม่ ไม่เช่นนั้นอยากจะชวนให้หาเวลาไปฟัง

เพราะเวลาได้ฟังเพลงอย่างเพลงคลาสสิก เราจะผ่อนคลายเหมือนได้พัก

ความร้อนรุ่มในชีวิตจะลดลง ความตึงเครียดที่พกพาจะค่อยๆ ถูกโน้มน้าวใจให้ปล่อยวาง

ถ้าใครสนใจที่จะใช้ดนตรีช่วยระบายความร้อนในชีวิต แม้ช่วงหยุดยาวทางวงจะไม่เปิดการแสดง

แต่สามารถแวะเวียนไปฟังได้ในปีหน้า

โปรแกรมการแสดงจะมีทุกเดือน

เริ่มต้นโปรแกรมอีกครั้ง ในวันที่ 11 มกราคม ปี 2562 นี่เอง

แล้วพบกันใหม่ปีหน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image