คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Black Mirror : Bandersnatch

สำหรับแฟนคลับซีรีส์ “Black Mirror” ต่างคุ้นเคยกับพล็อตหลักของซีรีส์ที่ยึดโยงนำเสนอเรื่องของโลกในยุค “อารยธรรมเทคโนโลยี” ที่ชวนสยอง ด้วยเหตุที่โลกอนาคตที่เราพึ่งพิงเทคโนโลยีอย่างสูงนั้น แม้จะอำนวยความสะดวกสบายนานัปการ สร้างความมั่นคงปลอดภัย แต่ด้านหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีปรนเปรอมนุษย์ในทุกมิติ มันก็มีราคา “ด้านมืด” สุดโหดที่ตามมา

แม้โลกที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี อาจจะหวังสร้างเทคโนโลยีที่เข้าใจมนุษย์ และหวังจะมีความเป็นมนุษย์อยู่ในเทคโนโลยีนั้น แต่ท้ายสุดกลับไร้ซึ่งความเข้าใจในตัวมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

“Black Mirror” จึงพูดกับเราว่า จ้องไปในจอสีดำที่สะท้อนออกมานั่นสิ! แล้วมนุษย์จะเห็นตัวเอง ทั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ทำลาย

หลังจากฉายมาแล้ว 4 ซีซั่น “Black Mirror” กลับมาอีกครั้งในสเกลตอนเดี่ยวแบบภาพยนตร์ นั่นคือ “Black Mirror : Bandersnatch” และเป็นตอนที่ต้องการบอกชัดเจน ถึงความเป็น “ผู้สร้าง” และ “ผู้ทำลาย” กับ “คนดู” โดยตรง

Advertisement

ความครบสูตรของ Black Mirror ตอนนี้คือ ให้คนดูกำหนดทิศทางและตอนจบของภาพยนตร์ได้เอง ในการรับชมแบบ “Interactive TV”

ฟังดูน่าตื่นเต้นและน่าลอง เมื่อเรื่องราวภัยมืดของเทคโนโลยีจะหันกลับมาส่องกระจกดำเข้าใส่คนดูกันเลย

แม้รูปแบบ “Interactive” ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะการให้คนดูได้ “กำหนดทิศทางเรื่อง” ได้มีส่วนร่วม “กำหนดการเลือก” บางอย่างให้ตัวละคร มักจะเห็นในวิดีโอเกมประเภท “FMV” หรือ “Full Movie Video” ที่ให้คนเล่นเกมเข้ามามีส่วนร่วมในเนื้อหาของเรื่องราวในเกม ซึ่ง FMV โดยมากจะเป็นวิดีโอเกมแบบกราฟิก และมีมานานหลายปีแล้ว กระทั่งไม่กี่ปีมานี้กลับมาฮิตอีกครั้ง

Advertisement

เมื่อปี 2559 มี เกม FMV ชื่อ “Late Shift” ที่เป็นภาพยนตร์จริงๆใช้คนแสดง และให้คนดูเล่นเกมด้วย วิธีเล่นคือ ให้คนดู “กดเลือกทางเลือก” ให้ตัวละครไปเรื่อยๆจนกระทั่งไปสู่รูปแบบตอนจบ 7 แบบ แล้วแต่ใครจะกดเลือกและเล่นออกไปได้เนื้อหาบทสรุปแบบไหน ถือเป็น Interactive Movie ที่ออกมาในรูปแบบเกม

ดังนั้น “Black Mirror : Bandersnatch” ใช้วิธีเดียวกันจาก Late Shift ในเกม FMV มาเล่นกับคนดูบนสตรีมมิ่งของเน็ตฟลิกซ์นั่นเอง

มันก็เป็นทั้ง “ความแปลกใหม่” สำหรับการรับชมความบันเทิง ในแง่ที่ “เน็ตฟลิกซ์” ผู้เคยพลิกวงการทีวี “เปลี่ยน” วิธีการดูทีวีอีกครั้งในแบบ Interactive TV เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนดูวงกว้าง

แต่จะถึงระดับ “เปลี่ยนเกม” แบบที่เคยทำได้สำเร็จเมื่อครั้งสร้างโมเดลจากซีรีส์ “House Of Cards” ที่เปิดให้ดูกันแบบ 13 ตอนรวดได้หรือไม่ ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะกระแสคนดู “Black Mirror : Bandersnatch” แตกออกมาหลายแนว ทั้งชอบและไม่ชอบ

เริ่มจาก “หนึ่ง” ใครที่คุ้นกับเกม FMV อาจรู้สึกเฉยๆ เพราะเท่ากับเปลี่ยนจากเล่นเกม FMV มาเป็นดูหนังดูละครแล้วมีส่วนร่วมกับคนดูเพื่อได้ตอนจบแบบใครแบบมันฉบับคนดู

“สอง” กลุ่มคนดูที่ต้องการอินกับเรื่องราว แต่กลับได้ความรู้สึกสะดุดไม่ต่อเนื่องกลับมาแทน เพราะการเลือกที่มีหลายครั้งตลอดเรื่อง พาคนดูวกวนกลับไปกลับมาจนหมดอรรถรสในการรับชม กระทั่งมาถึงบทสรุปท้ายเรื่องก็แทบไม่ได้รับพลังเชิงขนลุกในเทคโนโลยีตามคอนเซ็ปต์ “Black Mirror” เลย

“สาม” กลุ่มที่สนุกกับการรับชมเหมือนการ “เล่นเกม” และตามติดเรื่องราวเข้าไปเรื่อยๆ แม้การเลือกทางเลือกให้ตัวละครที่มีเป็นระยะจะพาไปเจอ “ทางตัน” หรือ “วกไปวนมา” เหมือนเขาวงกตก็ยังสนุก ประหนึ่งเล่นเกม กำหนดชะตากรรมตัวละคร ได้มีส่วนร่วมกับเนื้อเรื่อง

อย่างน้อยๆ ความรู้สึกสามแบบดังกล่าวเกิดขึ้นใน “Black Mirror Bandersnatch” อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่อง “กลยุทธ์การตลาด” และการสร้าง “กิมมิค” ของเน็ตฟลิกซ์จาก Black Mirror ตอนนี้ออกไป ที่ถือว่าทำได้ดี คือ เนื้อหาใน Black Mirror Bandersnatch นั้น เขียนบทมาได้ “สอดคล้อง” กับ “วิธีนำเสนอ” เลยทีเดียว เพราะเป็นเรื่องราวของ “นักสร้างวิดีโอเกมยุค 80” ที่ได้ไอเดียสร้างเกมจากนิยายที่มีหลากหลายตอนจบ จากหลายแรงจูงใจของตัวละคร ทำให้เขาสร้างเกม ที่ชื่อว่า Bandersnatch ให้ผู้เล่น เลือกเล่น เลือกเส้นทางให้ตัวละครในเกม และนำไปสู่ตอนจบหลายแบบในเกมด้วยเช่นกัน

แต่ถึงแม้จะมี “ตัวเลือก” แต่แท้จริงคนทำเกมก็ควบคุมบางอย่างระหว่างทางนั้น ขณะที่นิยายต้นฉบับในเรื่องที่นำมาต่อยอดเป็นเกม คนเขียนนิยายก็มีชะตากรรมฟั่นเฟือน ไม่ต่างจาก “นักสร้างเกม” ที่เริ่มหลงและหลอนจนขาดสติติดอยู่ในเกมที่ตัวเองสร้าง

ส่วนคนดูอย่างเราเปรียบเสมือนผู้ได้เล่นเกม “Bandersnatch” ที่ตลอดเวลาที่ดูบางครั้งเราก็เลือก “เส้นเรื่อง” ที่พาไปเจอทางตัน ไปเจอเขาวงกต มีทางเลือกแบบต่างๆ แต่ที่สุดเมื่อคิดว่าเรากำลังควบคุมเรื่องราวได้จริงๆ แท้ที่จริงเราก็ถูกเทคโนโลยีผู้สร้างเกม หรือ “เน็ตฟลิกซ์” ผู้สร้างซีรีส์ควบคุมเราอีกที

ช่างตลกร้ายในแบบ “Black Mirror” ที่หนนี้หันด้าน “กระจกมืดของเทคโนโลยี” เข้าใส่คนดูไปเต็มๆ

 

ใน Black Mirror : Bandersnatch มี “ตอนจบหลัก 5 แบบ” และตอนจบแบบย่อยๆไม่ทางการอีก 3-4 แบบ ขึ้นอยู่กับคนดูจะเลือกให้ตัวละครไปเผชิญเหตุการณ์ และสถานการณ์ไหน หรือวางสล็อตการดำเนินเรื่องให้ชี้ไปที่จุดจบแบบใด

จะทำตอนจบหลากหลาย และเส้นเรื่องมากมายแบบนี้ได้ ผู้สร้างใช้ฟุตเทจทั้งหมด 312 นาที (ไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง) ในการประมวลเรื่องราว ซึ่ง “เส้นเรื่อง” จะมีความหลากหลาย ต่างกันตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึง “หนังคนละม้วน” ใครที่ติดใจจะดูให้ครบ หรือเก็บทุกรายละเอียดก็ต้องใช้เวลาในการรับชมกันเกิน 1 ชั่วโมงครึ่งแน่นอน และต้องเป็นคนมีเวลาว่างพอสมควร

ในมุม “กลยุทธ์การตลาด” ถือว่าเน็ตฟลิกซ์จุดกระแสให้คนดู และสื่อในต่างประเทศต้องวิพากษ์วิจารณ์อีกทั้งพยายามไปไล่ดูตอนจบ และเส้นเรื่องทุกรูปแบบ พ่วงด้วยได้ยอดผู้ชมสตรีมมิ่งจากเรื่องนี้สูง

แต่อีกแง่คือ การสร้างรูปแบบการชมความบันเทิงที่ให้ “ผู้ชม” ได้เลือกเส้นเรื่อง ชี้ชะตากรรมของตัวละครได้เอง ถ้าเน็ตฟลิกซ์ อยากจะทดลองใช้ “ลูกเล่น” นี้อีกครั้งกับซีรีส์ดังบางเรื่อง อาทิ “Stranger Things” จะออกมาเป็นอย่างไร?

บ้างก็ว่าอาจเป็นไปได้ เพราะห้ามประมาทกับการเป็น “นักทดลอง” ของเน็ตฟลิกซ์

กระนั้น แม้เราอาจสนุกกับการเลือกเส้นเรื่องตามใจชอบ แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็อยากเห็นการเล่าเรื่องที่ให้คนดูได้ถกเถียงกันใน “ตอนจบแบบเดียวกัน” อยู่เช่นเคย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image