ราคาของ 5G คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

หลังรัฐบาลนี้ปักธงชัดเจนว่าต้องการผลักดันให้มีบริการ 5G ในไทยให้ได้ในปี 2563 เพราะหลายประเทศในโลก เช่น จีน เตรียมกดปุ่มเปิดบริการในปีนี้แล้ว หากช้าไปกว่าเกรงว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในโทรคมนาคมมีสิทธิตกขบวน 5G โลก

“กสทช.” ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม แม้จะรู้ว่าการผลักดันแจ้งเกิด 5G ยากกว่า 3G-4G มาก แต่ก็ออกมารับลูกทันควัน ก็แค่ดึงเอกชน 3 ค่ายมือถือให้มาร่วมด้วยช่วยกันลงทุนอีกครั้งยังไม่ง่าย ด้วยว่าแต่ละรายสาละวนอยู่กับการหารายได้ให้คุ้มกับที่ลงทุนไป ไหนจะค่าคลื่น และลงทุนขยายเครือข่ายไปก่อนหน้านี้เจ้าละนับแสนล้านบาท

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมรับว่าการจะทำให้เกิดการลงทุน 5G ได้อยู่ที่ภาคเอกชน กสทช.จึงต้องมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุน และขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อผลักดันให้มี 5G ในไทยให้ได้ในปี 2563 ตามนโยบายรัฐบาล

เลขาธิการ “กสทช.” ใช้คำว่า “เซตซีโร่” ตั้งแต่ทบทวนมูลค่าคลื่นให้สะท้อนความต้องการจริง ทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของเอกชน รวมถึงมีการประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน (Multiband) และแบ่งรูปแบบใบอนุญาต ออกเป็นแบบให้บริการทั่วประเทศ (Nation Wide) และแบบครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ (Specific Area) เช่นใน EEC เป็นต้น

Advertisement

ทั้งยังเตรียมจัดสรรคลื่น ซึ่งแต่ละโอเปอเรเตอร์ต้องใช้ขั้นต่ำ 100 MHz โดย กสทช.มีคลื่นพร้อมจัดสรรได้เลย คือ ย่าน 26-28 GHz ย่าน 340 MHz ย่าน 1800 MHz และย่าน 700 MHz รวมทั้งย่าน 2600 MHz ที่สามารถเรียกคืนได้ อีกทั้งเตรียมวางกรอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน

ด้วยว่าระหว่างปี 2562-2564 ทั้ง 3 ค่ายมีภาระทางการเงินหนักมากเฉพาะที่ต้องจ่ายให้ “กสทช.” เป็นค่าประมูลคลื่นกว่า 2 แสนกว่าล้านบาท รวมถึงค่าปรับที่เป็นคดีพิพาทระหว่างกันอีกหลายหมื่นล้านบาท

“ถ้าจะให้ 5G เกิดได้ การเซตซีโร่สำคัญ เพราะ 5G จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเอกชนที่ต้องตัดสินใจลงทุน รัฐเป็นแค่ผู้สนับสนุน แต่ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานที่รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนมีกระแสเงินสดไปลงทุนได้”

Advertisement

พูดง่ายทำยาก…

ถ้าหวังแจ้งเกิดจริงจัง ไม่ใช่แค่การทดลองทดสอบบริการเฉพาะพื้นที่ ปีนี้ทั้งปี “กสทช.” ต้องทำหลายสิ่ง ซึ่งล้วนเป็นงานหินทั้งนั้น

ในมุมนักวิชาการ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า ภาครัฐควรทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้วยการสร้างกฎกติกา การกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิด 5G แล้วปล่อยให้กลไกตลาดกำหนดการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ จึงต้องชัดเจนว่า 5G ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับโอเปอเรเตอร์หรือไม่ เนื่องจากแต่ละรายลงทุนไปกับ 4G เยอะมาก

แต่ถ้าจะให้ใช้คลื่นฟรี “ดร.สมเกียรติ” ย้ำว่าไม่เห็นด้วย และว่า “กรณีรัฐบาลจีนให้คลื่นไชน่าโมบาย เพราะไชน่าโมบายเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการสนับสนุนของรัฐบาลจึงเป็นเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ต่างจากของเรา โดยส่วนตัวไม่ได้ห่วงว่า 5G จะไม่เกิด แต่อยากให้เป็นไปตามความต้องการจริงของตลาดมากกว่า 5G เป็นเทคโนโลยีอนาคต สักวันจะสำคัญมาก ไม่มีไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน มีเทคโนโลยีระหว่างทาง เช่น 4G ที่ทำอะไรหลายอย่างคล้าย 5G ได้ แต่สปีดไม่เร็วเท่า รองรับไอโอทีได้ไม่มากเท่า”

ฝั่งผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอย่าง “อีริคสัน” ประเมินว่าในปี 2563 การใช้ 5G จะมีความสำคัญทั่วโลก และผลักดันให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ มีสูงถึง 1.5 พันล้านราย หรือเท่ากับ 40% ของประชากรโลกภายในปี 2567 ส่งผลให้ 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก

และคาดการณ์ว่า ภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นผู้นำในการใช้ 5G และจะมีจำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ผ่านมือถือ (cellular IoT) ทั่วโลกถึง 4.1 พันล้าน ในปี 2567 โดยเกินครึ่ง (2.7 พันล้านชิ้น) อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

“จีน” จะเป็นตลาดหลักของ 5G ส่งผลให้ปริมาณการใช้ข้อมูลโต 79% เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2560 และไตรมาส 3 ปี 2561 และถือเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจีน เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตัวเลขระดับโลกสูงขึ้นมาก โดยปริมาณการใช้ข้อมูลตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงปลายปี 2561 โตขึ้น 140% ทำให้ภูมิภาคนี้มีปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง เท่ากับ 7.3 กิกกะไบต์/เดือน เป็นอันดับ 2 ของโลกเทียบเท่ากับการดูวิดีโอที่มีความละเอียดสูงผ่านสตรีมมิ่งถึง 10 ชม./เดือน

อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟนมากที่สุดที่ 8.6 กิกกะไบต์/เดือน ณ สิ้นปีที่แล้วเทียบเท่ากับการดูวิดีโอความละเอียดสูงผ่านสตรีมมิ่งถึง 12 ชม./เดือน

“อีริคสัน” ประเมินด้วยว่าการเติบโตและการครอบคลุมของ 5G มีแนวโน้มเร็วกว่าเทคโนโลยีรุ่นก่อนๆ ขณะที่จำนวนอุปกรณ์ cellular IoT เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่ไม่เพียงส่งผลกระทบในตลาดผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อหลายอุตสาหกรรมในวงกว้างด้วย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมอินเดียและจีน) เทคโนโลยี WCDMA และ HSPA (3G) จะยังเป็นเทคโนโลยีหลัก ที่มีสัดส่วน 48% ของผู้ใช้ทั้งหมด โดยผู้สมัครใช้ 4G ยังโตขึ้น 70% ในปี 2561 และเพิ่มต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ที่คาดว่า 4G จะมีสัดส่วน 63% ของผู้ใช้งานในภูมิภาคนี้

เช่นกันกับในประเทศไทย 4G จะยังเป็นเทคโนโลยีหลัก และเป็นพื้นฐานของ 5G โดย “อีริคสัน” มองว่า 5G จะเพิ่มรายได้ให้ผู้ให้บริการสูงขึ้น 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 22% ของรายได้ที่คาดไว้ในปี 2569

โดยอุตสาหกรรมการผลิต, พลังงาน, สาธารณูปโภค รวมถึงความปลอดภัยสาธารณะเป็นภาคส่วนที่ผู้ให้บริการสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด ทั้งหลายทั้งมวลจะจูงใจเอกชนให้ควักกระเป๋าลงทุนทำให้ 5G เกิดขึ้นได้จริงตามกรอบเวลาที่รัฐบาล (ชุดนี้) อยากเห็นหรือไม่ คงต้องตามดูกันไป แต่ไม่ง่ายแน่ๆ และคงมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายไม่ใช่น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image