ปลาที่ใช่ คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

การปรับองค์กรปรับธุรกิจให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจากพัฒนาการของเทคโนโลยีเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญหน้าท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน

การเติมข้อมูลความรู้อยู่เสมอจึงสำคัญมาก เมื่อทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งที่ก้าวกระโดดกว่าในอดีตมากทำให้ความสำเร็จในอดีตไม่สามารถการันตีอนาคตได้อีกแล้ว

ในงานสัมมนา เชียงใหม่ 2019 smart Economy smart city ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ กลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “เปลี่ยนธุรกิจไทย ให้ทันโลก” โดยได้พูดถึงการทำธุรกิจภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องมี คือ 5 ใช่ (5 right?s) ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเร็วกินปลาช้า” แต่ต้องเป็น “ปลาที่ใช่” (The Right Fish)

Advertisement

5 ใช่ ประกอบด้วย 1. right people เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หรือ Personalized Marketing มากขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นการทำตลาดกับ “คนที่ใช่” ไม่ใช่ “Mass Marketing” เพราะผู้บริโภคมีความเป็นตนเองสูงขึ้น

และการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตรงจุด

ใช่ที่ 2 คือ right product การพัฒนาสินค้าและบริการ ต้องมาจากความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องโดนใจ และแก้ Pain Point ลูกค้าได้ บางครั้งสินค้าดีเหมือนกันแต่ไม่โดนใจก็ขายไม่ได้

Advertisement

ส่วนใช่ที่ 3 คือ right purpose ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าโดย “ใช้หัวใจมากขึ้น” ในบางครั้งไม่มีเหตุผล แต่ซื้อจากความชอบ และรัก เพราะมีทางเลือกมากมาย และเป็นในระดับบุคคลมากขึ้น ผู้บริโภคจะมองหาแบรนด์ที่เป็นเหมือนเพื่อน มีความเชื่อ และมีจุดหมายในชีวิตเหมือนกัน

ใช่ที่ 4 right approach วิธีที่ใช่ โดยต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค (customer journey) และเข้าไปให้ถูกช่องทาง

สุดท้าย คือ right time การเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกเวลา แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงลูกค้ามักจะต้องมี “สาวก” และทำให้พนักงานอินไปกับธุรกิจได้ด้วย

กระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้องค์กรต้องมองภาพในอนาคตไว้ด้วยว่าจะเกิดมีอะไรขึ้นบ้าง และสำหรับ 10 เมกะเทรนด์โลกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจะประกอบไปด้วย

1. industry redefined จะเกิดคู่แข่งข้ามอุตสาหกรรม เหมือนกรณีฟิล์มโกดัก และฟูจิที่หายไปจากวงการธุรกิจด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ได้รับผลกระทบจาก “สมาร์ทโฟน” ดังนั้นการอยู่ในธุรกิจหนึ่งอาจต้องแสวงหาความร่วมมือกับธุรกิจอื่น เช่นแอพพลิเคชั่นแชต “ไลน์” ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นมากกว่า “แชต” โดยการจับมือกับธนาคารกสิกรไทยตั้งบริษัทใหม่ เป็นต้น เป็นการนำความต่างมาผสมผสานเพื่อสร้าง “โมเดลธุรกิจใหม่”

2. future of work จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ดังนั้น แรงงานในอนาคตจึงต้องพัฒนาทักษะให้สามารถทำงานที่ยากขึ้น (reskill)

3.Super Consumer ผู้บริโภคยุคใหม่ทรงอิทธิพลมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี “ของแท้เท่านั้นที่จะอยู่ได้” โดยไม่ลืมองค์ประกอบสำคัญคือ จะต้องมีความจริงใจ และต้องให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือไปจากการผลิตสินค้าที่ตอบสนองปัจจัยพื้นฐานของลูกค้าแล้วยังต้องช่วยขับดันพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

4.Behavior Design สินค้าต้องออกแบบให้สอดคล้องและใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น เหมือนกรณี “ไอโฟน” ที่สามารถสะกดให้ทุกคนก้มหน้าอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนได้ และล่าสุดได้พัฒนาสมาร์ทวอตช์ที่สามารถพูดตอบโต้กับผู้ใช้ได้

เมกะเทรนด์ที่ 5 Adaptive Regulation ถือเป็นเรื่องใหญ่ของโลก เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายที่มีอยู่มักตามไม่ทัน วงการนักกฎหมายจึงต้องหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อตามเทคโนโลยีให้ทัน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีขายสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์

6.Remapping Urbanism การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคมเมือง โดยหาวิธีที่จะบริหารจัดการ และรองรับผู้คนให้ได้มากขึ้น มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น

7.Innovating Communities สร้างชุมชนเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้บนเกาะที่อยู่ห่างไกลจากระบบสายส่ง เป็นต้น

8.Health Reinagined การแพทย์สมัยใหม่ ทำให้แพทย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้นด้วย และเทรนด์ที่ 9 food by design สร้างอุตสาหกรรมอาหารด้วยนวัตกรรม โดยจะมีการวิเคราะห์และดีไซน์อาหารให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

เมกะเทรนด์สุดท้าย “molecular economy” ทั้งนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และวัสดุศาสตร์ล้วนเป็นสิ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้สินค้ามีความพิเศษ เช่น ทำจากวัสดุคาร์บอนที่มีน้ำหนักเบา และได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำหนักของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ประหยัดพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่โดน “ดิสรัปต์” ไม่จำเป็นต้องหายไปเลยแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างฉับพลันได้เช่นที่เกิดขึ้นกับหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจสื่อที่เปลี่ยนจาก “กระดาษ” ขยับมายัง “ออนไลน์” เป็นต้น

“เราอยู่ในโลกที่ซ้อนกันระหว่างโลกกายภาพกับโลกออนไลน์ ทั้ง 2 โลกส่งผลให้คนมี 2 บุคลิก แม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกันก็อาจตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อได้ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสในการทำธุรกิจได้ทั้ง 2 โลก”

ในโลกยุคดิจิทัล ความสะดวกรวดเร็วถือเป็นความท้าทายของธุรกิจต่างๆ เพราะจุดโฟกัสของลูกค้ามีเยอะ อีกทั้งยังเปลี่ยนใจได้อย่างรวดเร็วด้วย ทำให้การทำตลาด “ยากขึ้น” แต่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ยังคงต้องยึดไว้ คือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และ “อย่าคิดไปเอง” ต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน และบางครั้งอาจต้องทำอะไรที่มากกว่าความคาดหวังของลูกค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image