สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท้องถิ่นทุกแห่งมีประวัติศาสตร์ แต่ไทยไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ป้ายบอกความเป็นมาของหมู่บ้านโคกมอน (สะกด น) จากความเชื่อคลาดเคลื่อนที่ควรแก้ไขปักอยู่ใกล้เจดีย์แบบพวนเชียงขวาง วัดแสงสว่าง บ้านโคกมอน ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นไทย เป็นที่รู้ทั่วไปทั้งในโลกและในไทยว่ามีส่วนสำคัญ กระตุ้นความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ รู้เขา รู้เรา รู้โลก และรายได้จากการท่องเที่ยว

1.รู้เขา รู้เรา รู้โลก หมายถึง รู้ตนเอง รู้เพื่อนบ้านรู้เท่าทันโลกและชีวิต

เพราะทุกชุมชนท้องถิ่นล้วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงและห่างไกล ขณะเดียวกันก็อยู่ใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ราคาน้ำมันในโลกแพงขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นในชุมชน ต้นทุนการผลิตสินค้าการเกษตรสูงขึ้นทุกครัวเรือน

2.รายได้จากการท่องเที่ยว ข้อมูลความรู้ท้องถิ่นที่มี “สตอรี่” บอกความเป็นมาท้องถิ่น ชักจูงให้คนต่างถิ่นเดินทางท่องเที่ยวเข้าถึง จึงมีการจับจ่ายใช้สอยในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ

Advertisement

ยิ่งท้องถิ่นมี “สตอรี่” ลักษณะพิเศษยิ่งดึงดูดคนท้องถิ่นเข้าไปมากขึ้น ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในชุมชนท้องถิ่นนั้น

ปัญหา

ปัญหาอยู่ที่ท้องถิ่นไทยไม่อยากทำ เพราะไม่เห็นประโยชน์ และทำไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์

ไม่อยากทำ เพราะไม่เห็นประโยชน์ เป็นผลจากสังคมสั่งสมความเห็นแก่ได้เฉพาะตัว และเฉพาะหน้า ตามโครงสร้างอำนาจนิยม เลยไม่แบ่งปันคนอื่น เพราะสิ้นหวังกับอนาคต

Advertisement

ทำไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์ เป็นผลจากระบบการเรียนการสอนแบบเถรวาทไทย คล้ายพระสงฆ์เรียนบาลีนักธรรมท่องจำตามครูอาจารย์ ห้ามถามห้ามเถียง คิดด้วยตนเองไม่ได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาต ต่อเนื่องมานับร้อยนับพันปีมาแล้ว

ประวัติศาสตร์ไทย มีขึ้นจากการเมือง

ประวัติศาสตร์ไทยถูกแต่งขึ้นด้วยเหตุทางการเมืองชาตินิยม ไม่ได้มีขึ้นตามหลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา แล้วถูกบังคับให้ท่องจำอย่างเคร่งครัด ใครคิดต่างต้องถูกประณามหยามเหยียดเป็นพวก “ชังชาติ” ไม่รักชาติ ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ไทยให้ข้อมูลผิดๆ เช่น เชื้อชาติไทย มาจากตอนใต้ของจีน, สุโขทัย เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ฯลฯ

ที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์ไทยไม่มีสังคม มีแต่สงคราม จึงเน้นความสำคัญของราชธานีและวีรบุรุษของราชธานี โดยไม่มีเรื่องราวของท้องถิ่น ไม่มีวีรบุรุษท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ไม่ถือดาบ รบราฆ่าฟันใคร

ไทยไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

กิจกรรมแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาท้องถิ่นและคนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? ผมไปตามคำชวนของอาจารย์ 2 มหาวิทยาลัยในอีสาน ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ไทยโดยตรง ทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมของคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ แต่ถูกปู้ยี่ปู้ยำโดย “เชื้อชาติไทย” ในตำราประวัติศาสตร์ไทย ส่งผลให้ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นล่มสลาย ไม่เหลือในความทรงจำ หรือมีเหลือบ้างก็ตามคำบัญชาส่วนกลาง

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยา (ศมส.) อ้างว่าการจัดตั้ง ศมส. เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ข้อมูลวิชาการด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จึงได้ประสานงานกับ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อหาช่องทางเผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่อไป (ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562)

ปัญหาเบื้องต้นอยู่ที่ โบราณคดีในสากลโลก เป็นส่วนหนึ่งของมานุษยวิทยา แต่โบราณคดีไทยไม่ยอมรับสากล โดยจะเป็นพระเอกนางเอกโดดๆ แห้งๆ เฉาๆ เท่าที่เห็นและเป็นอยู่เกินครึ่งศตวรรษ

ซ้ำมิหนำยังถูกครอบงำว่าข้อมูลทางโบราณคดี ต้องหวงเสมือนสมบัติส่วนตัวที่รับมรดกตกทอดจาก “ปู่โสม” ทั้งหมดนี้เป็นปฏิปักษ์ต่องานแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทุกชนิด

ทางแก้สำคัญคือ ต้องปรับปรุงวิธีคิดกับวิธีทำควรมีลักษณะร่วมสมัย จึงจะสำเร็จ แต่วัฒนธรรมรัฐราชการจะไม่ทำอย่างนั้นเป็นอันขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image