คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ข่าวปลอม

วันนี้วันที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้ง ขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิทุกคนออกไปเลือกตั้ง

ใช้สิทธิที่มีอยู่ กาบัตร 1 ใบ เลือกใครก็ได้ที่ต้องการ แล้วคอยลุ้นผลในช่วงค่ำ

หลายคนคงสมหวังเพราะพรรคที่รักได้รับเลือกมาก อีกหลายคนคงผิดหวังเพราะพรรคที่ชอบได้รับเลือกน้อย

แต่ไม่ว่าจะได้มากหรือน้อย ทุกคนก็ออกไปใช้สิทธิตามวิถีประชาธิปไตยกันแล้ว

Advertisement

ก่อนวันเลือกตั้งคือวันนี้ หลายคนคงเคยได้ยินนโยบายหาเสียงที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาให้สัญญา

อะไรคือเท็จ อะไรคือจริง คงต้องพิสูจน์

วันก่อนได้เห็นโฆษณาชิ้นหนึ่งแล้วประทับใจ

Advertisement

เป็นโฆษณาของ Facebook มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจสอบ “ข่าวปลอม”

เรื่องนี้หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่สำหรับคนที่กลายเป็นเหยื่อต้องไม่ได้มองเช่นนั้น

ข้อมูลที่ Facebook ลงเนื้อหาเพื่อรณรงค์เรื่องนี้น่าเอามาขยายผล

เขาบอกว่า การหลีกเลี่ยงข่าวปลอมสามารถทำได้หลายวิธี และมีเคล็ดลับดังต่อไปนี้

1.ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนการแชร์ โดยพิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล

ตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์

นอกจากนี้ ควรระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ

แต่แท้จริงแล้วเป็นเว็บปลอม

เว็บพวกนี้มักใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน

จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยพบว่า มีการตรวจสอบข้อมูลโดยดูที่ข้อมูลผู้เขียน

ดูข้อมูลสนับสนุน หากเป็นข้อมูลที่หยิบยกมาเพียงบางส่วน อาจจะถูกใช้เพื่อการบิดเบือนข้อเท็จจริงได้

หรือดูจากวันที่ เพราะหลายครั้งพบว่า ผู้คนแชร์ “ข่าวเก่า”

2.อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว เพราะข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักพาดหัวข่าวเพื่อกระตุ้นความสนใจ

เนื้อหาของข่าวปลอมมักประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์ บางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง

รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด

เมื่อผู้คนใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายก็ฉวยโอกาสนี้เขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมา ส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่เป็นเท็จ

คนที่แชร์ก็กลายเป็นช่วยเผยแพร่ข่าวปลอมไปในทันที

3.แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว

นอกจากนี้ ข่าวปลอมที่ประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง เราค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติมได้

เพื่อยืนยันว่าเป็นภาพที่ถูกต้องหรือไม่

นี่ถ้าผู้ใช้ออนไลน์สามารถพิจารณาเนื้อหาได้ตามลำดับอย่างที่ Facebook ลงโฆษณา สังคมไทยน่าจะสงบมากกว่านี้มาก

เพราะเราคงไม่สามารถไปห้ามคนโกหกได้ แต่เราจะเชื่อคำโกหกนั้นหรือไม่ เราทำได้เสมอ

เรื่องการแยกแยะระหว่าง “ข่าว” กับ “ความคิดเห็น” นี่ก็สำคัญ

ทุกคนมีความเห็น จึงมีความเชื่อและทัศนคติของตัวเองเป็นปกติ ดังนั้น บทความจึงมีความคิดเห็นเจือปน

แต่สำหรับข่าว ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ “ข้อเท็จจริง”

แต่หลายปีที่ผ่านมา มีการปะปนกันระหว่าง “ข่าว” “ข่าวปลอม” และ “ความเห็น”

เมื่อผู้รับสารเกิดมี “ความเห็น” เป็นของตัวเอง แล้วไปเห็นด้วยกับ “ข่าวปลอม”

แล้วส่งต่อกันเป็นทอดๆ

มีการยืนยัน “ข่าวปลอม” นั้นเป็นทอดๆ จนกระทั่งกลายเป็น “ข่าว”

กระทั่งมีเรื่องล้อกันว่า เมื่อนายเอ ปล่อยข่าวปลอมออกไปในโลกออนไลน์

ข่าวปลอมไปถูกโฉลกกับผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีความเห็นพ้องกับข่าวปลอมนั้นอยู่แล้ว

จากนั้นได้กระจาย “ข่าวปลอม” ออกไปเป็นวงกว้าง

จนวันหนึ่ง “ข่าวปลอม” นั้นกลายเป็น “ข่าว” ที่ได้รับการยืนยัน

แล้ววกกลับมายังคนปล่อยข่าว

ฮา!

เหมือนกับที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละว่า เรื่องดังกล่าวคนที่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่ออาจจะขำ

แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมนั้นไม่รู้สึกขำด้วย

เพราะทุกคนคงอยากจะอยู่กับความจริง

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ เป็นวันเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งเราได้ฟังนโยบายหาเสียง

ไม่มีใครรู้ว่านโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงนั้น จะเกิดได้จริงหรือไม่

แต่หลังจากเลือกตั้ง หลังจากมีรัฐบาล เราคงจะรู้ว่าคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้นั้นจริงหรือเท็จ

เป็นข่าวจริง หรือข่าวปลอม

ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาลสามารถทำได้ตามคำมั่นสัญญา ก็ถือเป็นข่าวจริง

แต่หากพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล ไม่สามารถทำได้ตามที่บอก

ถือเป็นข่าวปลอม

ข่าวปลอมที่เหยื่อที่ถูกหลอกย่อมไม่ชอบใจ

พรรคการเมืองไหนที่ให้สัญญาไว้แล้วทำไม่ได้ดังที่พูดไว้ ประชาชนก็คงไม่ชอบใจ

เพราะตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวปลอม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image