คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : กว่าจะเป็น 5G

การชิงซีนเพื่อปักธงในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่จะยอมกันได้ง่ายๆ กับเทคโนโลยี 5G ที่ในบ้านเราเองก็ตื่นตัวไม่แพ้ใครในโลกก็ด้วย ทั้งในระดับโลก-ระดับประเทศ ตั้งแต่แวดวงผู้ผลิตอุปกรณ์ไปจนถึงผู้ให้บริการ ไม่มีใครยอมใคร

พลันที่ “เวอร์ไรซัน” ยักษ์โทรคมนาคมโลกประกาศว่าจะเปิดตัวเครือข่าย 5G ที่สหรัฐอเมริกาเร็วกว่ากำหนดไม่กี่วัน ปรากฏว่า “เอสเค เทเลคอม” ยักษ์โทรคมนาคมของเกาหลีใต้ไม่ยอมน้อยหน้ารีบเปิดตัวบริการ 5G เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ชนิดที่เรียกได้ว่า ตัดหน้า “เวอร์ไรซัน” ไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง

เกาหลีใต้จึงกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิด 5G โดยรัฐบาลหวังว่าการเปิดตัวเครือข่าย 5G จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้อีกทาง

สำหรับในบ้านเรา “กสทช.” ทั้งผลักทั้งดันเต็มที่ ในเวทีเสวนา 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อธิบายว่า การเกิดขึ้นของบริการ 5G จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้ทั้งในแง่การดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาททั้งในภาคเกษตรกรรม, ภาคการขนส่ง, การผลิต และสาธารณสุข

Advertisement

และสำนักงาน กสทช.อยู่ในระหว่างการออกแบบการประมูลคลื่น 5G ให้มีความเหมาะสม โดยจะมีความแตกต่างไปจากการประมูลคลื่น 3G และ 4G เพราะ 5G ต้องใช้คลื่นความถี่หลายย่านประกอบกัน โดยต้องมีทบทวนมูลค่าคลื่น ราคาเริ่มต้น งวดการชำระเงินค่าประมูล และหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน รวมถึงมีการจัดการประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบใบอนุญาตให้มีทั้งแบบให้บริการทั่วประเทศ และแบบครอบคลุมเฉพาะพื้นที่

ฝั่งผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมระดับโลก “หัวเว่ย” ซึ่งตื่นตัวอย่างยิ่งในการผลักดันการขยายบริการ 5G ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย “หยาง เชาปิน” ประธานบริหาร ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครือข่าย 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 4G ได้เปลี่ยนการใช้ชีวิตของผู้คน และธุรกิจต่างๆ โดยสร้างรายได้ และก่อให้เกิดธุรกิจใหม่มากมาย แต่ 5G จะไปได้ไกลยิ่งกว่า และรวดเร็วกว่าเดิมมาก รวมถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับทุกภาคส่วน

“เราหวังว่าจะได้เห็นโรดแมปคลื่นความถี่ 5G ของไทยภายในเร็วๆ นี้ โดยที่ผ่านมาได้ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ในการผลักดันนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี และการใช้ศูนย์นวัตกรรมของหัวเว่ยในการฝึกอบรมบุคลากร นิสิต และนักศึกษาให้มีประสบการณ์จริงจาก 5G เพื่อวางรากฐานระบบนิเวศ 5G ของไทยให้มีความแข็งแกร่ง”

Advertisement

บนเวทีเดียวกัน “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และองค์กร “เอไอเอส” กล่าวว่า มาตรฐานสากลของ 5G จะประกาศออกมาในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2563 กว่าจะมีอุปกรณ์ออกมาให้ใช้งานจริงได้คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกครึ่งปี ดังนั้น ถ้าจะให้สมบูรณ์น่าจะเป็นปี 2563 หรือ 2564 ไปแล้ว

การเตรียมความพร้อมด้วยการทดลองทดสอบวิจัย และพัฒนาเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะการเตรียม “บุคคลากร” มีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีความถี่ทั้ง 3 ย่านประกอบกัน คือ High Band, Mid Band และ Low Band ด้วยแบนด์วิธโดยรวมอย่างน้อย 1 กิกะเฮิรตซ์หรือเทียบได้กับ 10 เท่าของ 4G ขณะที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีคลื่นในมือแค่ 50-60 MHz เนื่องจากคลื่นความถี่มี “ราคาสูงมาก”

เทียบเฉพาะค่าคลื่น “4G” ของไทยกับทั่วโลกถือว่า “แพงที่สุด” ถ้าจะก้าวไปสู่ 5G “เอไอเอส” ย้ำอีกครั้งว่าไม่ควรซ้ำรอย 4G เพราะ 5G จะขาดย่านใดย่านหนึ่งไม่ได้ เพื่อความเร็ว และความครอบคลุมของพื้นที่ในต้นทุนที่เหมาะสม

“วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มทรู มองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีสำหรับภาคธุรกิจ ไม่ใช่สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ หากผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างถูกทางจะทำให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

“กลุ่มทรูเริ่มเทสต์ 5G ตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว เพราะจะทำให้ได้ดีต้องมี use case ที่เหมาะสม ซึ่งต้องพัฒนาคู่ไปกับ 4G อีกเป็น 10 ปี ทำให้ผู้ให้บริการต้องแบกการลงทุน 4G ให้มีคุณภาพสูงคู่ไปกับ 5G ดังนั้น กลไกการกำกับดูแลของภาครัฐจึงต้องเอื้อด้วย โดยเฉพาะต้นทุนค่าคลื่น 5G ไม่ควรแพงอย่างปัจจุบัน”

ขณะที่ ซีอีโอ ดีแทค “อเล็กซานดรา ไรช์” กล่าวว่า หากต้องการให้ 5G เกิดขึ้นได้จริง ภาครัฐต้องมีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เอื้อ เช่น มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาวที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน อย่างการวางแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการร่วมกันพัฒนานวัตกรรม และบุคลากร

ชัดเจนว่า ทั้ง “เอไอเอส และทรู” เห็นตรงกันว่าค่าคลื่น 5G ไม่ควรแพงซ้ำรอย 4G

ฝั่งของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ 3BB “ยอดชาย อัศวธงชัย” ผู้บริหาร “ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์” ในเครือจัสมิน ระบุว่า กลุ่มจัสมินสนใจที่จะนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้บริการ fixed wireless broadband เช่นกัน เพราะนอกจากลดต้นทุนในการลากสายได้แล้วยังให้บริการได้ด้วยความเร็วที่สูงมาก ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบเครือข่ายในประเทศไทย และช่วยผลักดันให้การนำเทคโนโลยี IOT มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย จากจุดเด่นที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ถึง 1 ล้านชิ้นได้ ภายในพื้นที่เพียง 1 ตร.ม.

“5G จะซัพพอร์ตให้ทุกอุตสาหกรรมมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายในการใช้โซลูชั่นต่างๆ และจัสมินมีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนา 5G ให้มีคุณภาพสูงสุดเช่นกัน ซึ่งในหลายประเทศจะมีผู้ให้บริการหลายรายเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และซัพพอร์ตบริการได้หลากหลาย”

เป็นอันว่าทุกฝ่ายต่างเห็นประโยชน์ของ 5G แต่จะเกิดขึ้นจริงในบ้านเราเมื่อไรเชื่อว่าคงต้องลุ้นกันต่ออีกหลายยก เพราะกว่าจะประกอบร่างออกมาเป็นบริการได้ “เทคโนโลยี” เป็นแค่ส่วนเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image