สุจิตต์ วงษ์เทศ : ราษฎร์ ‘ทำเอง’ ได้ แต่รัฐใช้อำนาจแย่ง ‘ทำให้’

“รัฐทำให้” เหมือนรัฐตั้งตนเป็นผู้ปกครองต้องดูแลทำอะไรต่อมิอะไรให้ลูกหลานทั้งหลาย เป็นนโยบายคล้ายกันของพรรคการเมืองส่วนมากหรือเกือบหมด (รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย) ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งผ่านมา

“ราษฎร์ทำเอง” เป็นแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศต่อสาธารณชนว่ารัฐเกื้อหนุนสังคมเข้มแข็ง รัฐเป็นแค่สนับสนุนที่จำเป็นด้านต่างๆ ให้คนในชุมชนจัดการตนเอง ด้วยตนเอง ส่วนผู้ประกอบการสมัยใหม่ไม่วางใจรัฐและไม่ต้องการรัฐยุ่งเกี่ยว

ทั้งหมดนี้เป็นความแตกต่างทางการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ของพรรคการเมือง 2 กลุ่ม แล้วส่งผลคนลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่มากเกินคาดหมาย (แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก)

ผมสรุปเองอย่างกะทัดรัดจากแนวคิดวิเคราะห์ในบทสัมภาษณ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (เชียงใหม่) ใน way ออนไลน์ ที่มีผู้ใจบุญพรินต์ใส่กระดาษส่งให้อ่าน (เพราะผมล้าหลังทางเทคโนโลยี เปิดอ่านเองไม่ได้ และไม่มีเครื่องมือ)

Advertisement

คนเท่ากัน กับ คนไม่เท่ากัน

นโยบาย “รัฐทำให้” สั่งสมจากวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายที่กำหนดว่าคนไม่เท่ากัน ดังนั้นเมื่อราษฎรเจ็บท้องข้องใจต้องวิงวอนร้องขอสงเคราะห์จากรัฐ เสมือนเปรตขอส่วนบุญจากเจ้าพระเดชนายพระคุณ ซึ่งสอดคล้องกับชาดกเรื่องพระเวสสันดรโปรยทานแก่ราษฎร

ส่วนแนวคิด “ราษฎร์ทำเอง” เป็นแนวทางสากล “คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก” ราษฎรกับรัฐร่วมกันกำหนดกฎกติกาต่างๆ อย่างเสมอหน้าเทียบบ่าเทียบไหล่ไม่สูงต่ำต่างกัน

Advertisement

ราษฎร์รับจ้างทำแทนรัฐ

งานวัฒนธรรมในแนวทางสากลที่ถูกที่ควรต้องเป็นกิจกรรม “ราษฎร์ทำเอง”

อันที่จริงท้องถิ่นทำเองอย่างมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมอยู่แล้ว ได้แก่ ประเพณีสำคัญๆ เช่น สงกรานต์ (ตอนต้นปีช่วงเมษายน), ลอยกระทง (ตอนปลายปีช่วงพฤศจิกายน)

นอกจากนั้น ในทางสากลท้องถิ่นต้องทำเองโดยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐในเรื่องอื่นๆ อีก ได้แก่ พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, โรงแสดง (ละคร, ดนตรี ฯลฯ), รวมถึงบริหารจัดการโบราณสถาน แต่ในไทยรัฐใช้อำนาจแย่งทำให้

ข้าราชการที่ถูกครอบงำมานานมากด้วยอำนาจรวมศูนย์ และไม่คุ้นกระจายอำนาจ อย่างเสมอหน้า มักคิดไปเองว่าคนท้องถิ่นเป็นพวก “บ้านนอก” ขาดความรู้และประสบการณ์ มีแต่พวกตนเท่านั้น เก่ง และดี

อันที่จริงงานโบราณคดีที่เกี่ยวข้องโบราณสถานทั่วประเทศทุกวันนี้ กรมศิลปากรไม่ได้ทำเองทั้งหมดนานมาแล้ว แต่จ้างบริษัทรับเหมาเป็นส่วนมากหรือเกือบหมดในการบูรณะและปฏิสังขรณ์

บริษัทรับเหมาก็ว่าจ้างผู้มีความรู้ความสามารถงานโบราณคดีและงานช่าง (เฉพาะทาง) อีกทอดหนึ่งจากเอกชนคนที่มาจากท้องถิ่นนั่นเอง

[งานวิชาการและงานวิจัยเพื่อรับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งข้าราชการในกรมกอง มักว่าจ้างคนในบริษัทรับเหมานี่แหละให้ทำแทนด้วยสนนราคาตามตกลง]

งานพิพิธภัณฑ์ “แห่งชาติ” ปัจจุบันจ้างบริษัทเอกชนทำทั้งหมดอยู่แล้วในการหาข้อมูล, ออกแบบ, จัดแสดง ฯลฯ และสำเร็จตรงตามกำหนดเวลาในสัญญา (สมัยก่อนพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งกว่าจะจัดแสดงเสร็จต้องใช้เวลานานนับสิบปีขึ้นไป จนบางแห่งตัวอาคารพิพิธภัณฑ์พังก่อน)


มาเฟียทางวัฒนธรรม

ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิต และเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนในสังคม

แต่รัฐด้วยอำนาจรวมศูนย์เหมือนมาเฟียตั้งตนเป็ นเจ้าของวัฒนธรรม

ใครจะศึกษาค้นคว้าวิจัยวิชาการตามแหล่งวัฒนธรรม ต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเท่ากับรัฐเป็นเจ้าของแหล่งวัฒนธรรมนั้น

ผลงานวิชาการที่ได้รับจากกรณีศึกษาค้นคว้าวิจัยของใครก็ตาม หน่วยงานที่อนุมัติ “ขอเอี่ยว” มีชื่อร่วมด้วย โดยไม่ออกแรงทำงานและไม่ออกทุนอุดหนุน

พฤติกรรมอย่างนี้ไม่น่ามี แต่มีแล้วและมีอยู่ปกติ โดยแผ่อิทธิพลกว้างขวางถึงความคิดเห็นทางวิชาการต่อต้านความคิดต่าง ใครคิดต่างจะถูกว่าร้ายป้ายสีทั้งๆ ในโลกวิชาการสากลที่ก้าวหน้าต้องการแนวคิดต่างอย่างหลากหลายไม่จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image