สุจิตต์ วงษ์เทศ : อนุรักษนิยม เพื่ออนาคต

แฟ้มภาพ

“อนุรักษนิยม คือ การตีความใหม่ หรือให้ความหมายใหม่ แก่คุณค่าที่ตกทอดมาจากอดีต”

ผู้นำความคิดของอนุรักษนิยม จึงต้องมีความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างดี ซ้ำยังต้องมีทัศนวิสัยที่แจ่มชัดต่ออนาคตด้วย”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง “พลังทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย” (ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 เมษายน 2562 หน้า 30-31)

เป็นเรื่องสำคัญมากต่อสังคมไทยในโลกไม่เหมือนเดิม ต้องร่วมกันทำความเข้าใจเตรียมรับมือต่อไปในอนาคต จะขอสรุปย่อดังต่อไปนี้

Advertisement

“โขน คือการแสดงของไทย ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากผู้ใด” เป็นข้อความประวัติโขนจากหนังสือ “โขน” ฉบับเยาวชน โดย กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2561 หน้า 11)

แต่กระทรวงวัฒนธรรมยังไม่ได้ตอบ และตอบไม่ได้ว่าคนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? รู้จักรามเกียรติ์ยังไง? ติดต่ออินเดียทางไหน? เมื่อไร? แล้วจะเชื่อได้ไฉนว่าโขนคือการแสดงของไทย ไม่ได้ลอกเลียนแบบจากผู้ใดตามที่กระทรวงฯ เขียนบอกไว้

ปัญญาชนไทย

ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยม ผู้รอบรู้และรู้รอบอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้คุ้นเคยและเข้าถึงวัฒนธรรมไทยเก่าอย่างลึกซึ้ง แล้วให้ความหมายใหม่แก่คุณค่าของวัฒนธรรมนั้น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยต้องเผชิญ มีพระนามและนาม ดังนี้

Advertisement

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระยาอนุมานราชธน, ท่านพุทธทาสภิกขุ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ

ปัญญาชนอนุรักษนิยมอยู่ฝ่ายถืออำนาจทางการเมือง หรือบางครั้งร่วมเป็นผู้ถืออำนาจด้วยตนเอง ทำให้ฝ่ายอื่นซึ่งไม่ใช่อนุรักษนิยมเสียงไม่ดัง หรือต้องเงียบเสียง

ปัญญาชนไม่อนุรักษนิยม ที่ถูกอนาจทางการเมืองทำให้เสียงไม่ดัง หรือเงียบเสียงลง ก็มีไม่น้อยที่ทรงอิทธิพลทางความคิดแก่สังคมไทย ได้แก่

ต.ว.ส. วรรณาโภ, นรินทร์กลึง, ปรีดี พนมยงค์, สี่อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน, พระพิมลธรรม-สมเด็จพระพุฒาจารย์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

ถูกท้าทาย

บางครั้งอนาจทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมถูกจำกัดหรือหลุดไปจากมือ ซึ่งทำให้ระบบคุณค่าของฝ่ายอนุรักษนิยมจะถูกท้าทายอย่างแหลมคม จนบางครั้งปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมอาจตอบโต้ไม่ทัน หรือตกเป็นฝ่ายรอง

ปัญญาชนฝ่ายไม่อนุรักษนิยม หรือบางทีถูกเรียกว่าปัญญาชนฝ่ายซ้าย สามารถขยายตัวกว้างขวาง เมื่อช่วงปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ก่อน พ.ศ. 2500) ต่อมาอีกช่วงหนึ่งระหว่าง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญ 2540

ช่วงสั้นๆ เหล่านี้มีประเด็นต่างๆ ที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ได้ตอบ หรือตอบไม่ได้ แล้วทิ้งค้างคาใจไว้ในสังคมสืบมาจนทุกวันนี้

ความรุนแรงและอำนาจเถื่อน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกตอนท้ายบทความว่า “ปัญญาชนอนุรักษนิยมในปัจจุบัน เข้าไม่ถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมไทย’ พวกเขาไม่ฟังเพลงไทย, ไม่ดูลิเกหรือโขน, เรียกชื่อลายไทยไม่เป็น, ไม่ได้มองโลกและชีวิตผ่านชีวิตของตัวละครในวรรณคดีไทย ฯลฯ จะให้พวกเขาคั้นเอาคุณค่าอะไรจาก ?ความเป็นไทย? ได้มากไปกว่าอำนาจทางการเมืองที่อ้างความชอบธรรมจากการยึดโยงกับอดีต”

“ฝ่ายอนุรักษนิยมเหลือแต่ความรุนแรงและอนาจเถื่อนเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะรักษาภาวะผู้นำทางปัญญา, การเมือง, และเศรษฐกิจ”

สยองอย่างยิ่ง เมื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกตอนจบว่าความรุนแรงและอำนาจเถื่อนที่เห็นระยะนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นก็ได้

ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมในปัจจุบันหลายคน สนับสนุนความรุนแรงและอำนาจเถื่อนอย่างออกนอกหน้า ทั้งๆ พวกเขาเคยด่าทอต่อต้านตอนถูกกระทำเมื่อ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image