คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : 5G พลิกเกมทุนทีวีดิจิทัล

เคาะออกมาแล้วสำหรับราคาคลื่น 700MHz และเงื่อนไขในการจ่ายเงินที่ 17,584 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต (10 MHz อายุ 15 ปี) ที่ “กสทช.” ขายพ่วงกับเงื่อนไขการยืดเวลาชำระหนี้ค่าคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายให้กับ 3 ค่ายมือถือ โดยทุกค่ายยอมรับเงื่อนไขไว้ก่อน พร้อมกับระบุว่าจะตัดสินใจอีกรอบเมื่อมีรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ราคา” ซึ่งมีเวลาถึงวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เพราะเป็นวันที่ กสทช.กำหนดให้ต้องยื่นคำขอรับการจัดสรรคลื่น

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำทับว่า ผู้ที่ยื่นขอขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่นย่าน 900 MHz รายใด ไม่ขอรับจัดสรรคลื่น 700 MHz จะถือว่าสิทธิในการขอขยายเวลาเป็นโมฆะทันที

“กสทช.” ต้องการให้ค่ายมือถือนำคลื่น 700 MHz ไปใช้ในการพัฒนาบริการ 5G ในขณะที่ค่ายมือถือแย้งว่า ถ้าอยากให้ 5G เกิดขึ้นได้เร็ว ควรจัดสรรคลื่นความถี่สูง ไม่ว่าจะเป็น 2600 MHz หรือ 3.5GHz มากกว่า เพราะเทคโนโลยี 5G ในปัจจุบันยังไม่สามารถนำมาใช้กับคลื่น 700 MHz ได้จึงต้องรอความพร้อมของอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องลูกข่าย ซึ่งอาจต้องใช้เวลารอถึง 2 ปีกว่าเทคโนโลยีจะพร้อมใช้

และว่าประเทศที่มี 5G ให้บริการแล้ว ล้วนเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี สำหรับประเทศไทยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นอีก 2-3 ปี คือปี 2564-2565

Advertisement

เหนือสิ่งอื่นใดแต่น่าจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี คือเรื่องการลงทุนครั้งใหม่ เพราะทุกรายเพิ่งลงทุนไปกับการประมูล และพัฒนาบริการบนเทคโนโลยี 4G ไปค่อนข้างมากเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าจะให้ลงทุน 5G ต่อเลยคงต้องขอยื้อไว้ก่อนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะได้แลกกับยืดจ่ายค่าคลื่น 900MHz ออกไปก็ตาม

“ราคาคลื่น” เป็นตัวแปรสำคัญ

ก่อนหน้านี้ “หัวเว่ย” เคยเปิดเผยข้อมูลว่าราคาแบนด์วิดธ์ต่อ MHz ต่อประชากรของเทคโนโลยี 5G ที่มีเปิดประมูลไปแล้วไม่ว่าจะเป็นสเปน, เกาหลีใต้ หรืออังกฤษจะอยู่ที่ 30%, 47% และ 58% ตามลำดับ ทั้งที่มาตรฐานโลกต้นทุน 5G ควรจะอยู่ที่ 5% ของ 4G แต่คงเทียบไม่ได้เพราะต้นทุน 4G ของไทยค่อนข้างสูงมาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทุกเจ้าต้องคิดสะระตะโดยเร็วเพื่อให้ทันเดดไลน์ “กสทช.” เชื่อว่าทุกรายคงไม่มีใครยอมตกขบวน แม้จะพยายามบอกว่าทำแบบนี้ ไม่ได้เอื้อให้ผู้ประกอบการเปิดให้บริการ 5G ได้เร็วหรือสะดวกขึ้น แต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากกว่า เพราะคลื่น 700 Mhz ไม่มีความจำเป็นสำหรับการทำ 5G ในช่วงแรก

ก็ว่ากันไป แต่โจทย์ “กสทช.” ยังไม่เปลี่ยน คือผลักดันให้ประเทศไทยเปิดให้บริการ 5G โดยเร็ว โดยกำหนดไทม์ไลน์ไว้ว่าหลังจัดสรรคลื่น 700 MHz แล้วจะทยอยจัดสรรคลื่น 2600 MHz เป็นลำดับถัดไปในปลายปีหน้า (2562) หรืออย่างช้าต้นปี 2563 โดยประมูลแบบมัลติแบนด์ในความถี่ 26 GHz และ 28 GHz ส่วนคลื่น 3500 MHz เกี่ยวข้องกับสัมปทานดาวเทียมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 จึงอยู่ในคิวท้ายๆ ที่จะนำออกมาจัดสรร

สำนักงาน กสทช.ประเมินว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก 5G ในประเทศไทยปี 2578 จะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิต การค้าและการเงิน รวมถึงภาคโทรคมนาคมจะได้รับมูลค่าเพิ่มสูงสุด โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนอาจสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2563 และลดต่ำลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2578 ขณะที่มูลค่าเพิ่มมีทิศทางสวนการลงทุน โดยจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 พันล้านบาท จนถึง 2.3 ล้านล้านบาท

จุดเด่นของเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับ 3G และ 4G คือความเร็วในการส่งข้อมูลที่สูงกว่า

“เฉียง หัว” กรรมการผู้จัดการ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ย้ำว่า 5G จะเข้ามาพลิกโฉมทุกอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ต้นทุนและผลผลิต ความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก เพราะจะไม่ใช่แค่การใช้คลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารอีกต่อไป แต่จะรวมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเชื่อมต่อ IOT (อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์) จึงส่งผลกับทุกอุตสาหกรรม

5G จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการสร้างระบบนิเวศสำหรับบริการและโซลูชั่นใหม่ๆ ตั้งแต่รถยนต์ไร้คนขับในอุตสาหกรรมยานยนต์,

โดรนที่ขนส่งสินค้าได้ และใช้เพื่อการเกษตรได้ รวมถึง IOT ที่รองรับการเชื่อมต่อได้ถึง 1 ล้านอุปกรณ์ต่อ 1 ตร.กม. ทำให้คอนเซ็ปต์เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เกิดขึ้นได้จริง

ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ และโซลูชั่นด้านไอซีที “หัวเว่ย” เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญในอาเซียนในการลงทุน 5G และคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี นับจากนี้จะมีผู้ใช้ 5G สูงถึง 80 ล้านราย และสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย

สำหรับบ้านเราก่อนที่จะไปถึงประโยชน์หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความสามารถของเทคโนโลยี 5G ต้องยอมรับว่า การดึงคลื่น 700 MHz มาจัดสรรให้ค่ายมือถือเพื่อให้เริ่มพัฒนาบริการ 5G โดยนำมาผูกโยงกับการเยียวยา “ช่องทีวีดิจิทัล” ที่เปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้พร้อมกับยืดจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz ให้ค่ายมือถือด้วยนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลไทย

ทำให้ “7 ช่องทีวีดิจิทัล” คืนใบอนุญาตได้ พลันที่กระบวนการคืนใบอนุญาตเสร็จสิ้นก็จะเหลือทีวีดิจิทัลช่องธุรกิจ 15 ช่อง โดยช่องเด็กและครอบครัวถึงกับสูญพันธุ์เลยทีเดียว โดย “กสทช.” ระบุว่าแนวทางนี้จะเป็นการปลดล็อกอุตสาหกรรมทั้งทีวีและโทรคมนาคมให้ไปต่อได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ขณะที่นักวิชาการมองว่าไม่ต่างอะไรกับ “นิทาน” เรื่องใหม่เพื่อกลุ่มทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image