คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : มหาอำนาจ 5G

ว่ากันว่า เทคโนโลยี 5G จะเป็นจุดเปลี่ยนของหลายสิ่งในโลกในอนาคตไม่ไกลจากนี้ และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมากทำให้สิ่งที่เคยเป็นไปได้ยาก เป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่หรือการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นการเพิ่มสปีดให้ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่นต์” มาเร็ว และแรงยิ่งขึ้นไปอีก

สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ลุกลามบานปลายมาเป็น “เทควอร์” หลายฝ่ายเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความโดดเด่น และการเป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G ของมังกรจีน “หัวเว่ย”

ถึงจะเผชิญแรงกดดันมากมาย “เหรินเจิ้งเฟย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” อดีตทหารประจำกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กล่าวว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยไปไกลกว่าที่สหรัฐจะคาดคิดมากนัก

และมั่นใจมากว่าในระยะ 2-3 ปีจากนี้ยากที่ใครจะตามได้ทัน

Advertisement

“เราพร้อมที่จะสู้กับสงครามที่ยืดเยื้อ และเราจะแกร่งขึ้นในช่วงของการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์”

ในบ้านเรา ชัดเจนว่าโต้โผในการทั้งผลักทั้งดันเพื่อแจ้งเกิด 5G ไม่มีใครเกิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งที่ผ่านมาให้ข้อมูลมาตลอดว่านอกจากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย “เทคโนโลยี ดิจิทัล” แล้วยังจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้หลายแสนล้านบาทอีกด้วย

แม้ค่ายมือถือจะประสานเสียงตรงกันว่าเร็วเกินไปที่จะเริ่มลงทุนบริการ 5G ในจังหวะนี้ และว่าการเริ่มต้นด้วยคลื่นความถี่ 700MHz ไม่เหมาะสมนัก เพราะเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่มีจุดเด่นเรื่องความครอบคลุม จะให้ดีควรมีแถบคลื่นความถี่สูงๆ อย่างคลื่น 2600, 3500 Mhz ด้วย

Advertisement

แต่ก็อย่างที่รู้กัน การจุดพลุเร่งแจ้งเกิด 5G ด้วยช่วงคลื่น 700 MHz ของ “กสทช.” มีอะไรมากไปกว่าเรื่องความเหมาะสมของแถบความถี่ เช่นกันกับค่ายมือถือที่ยังไม่อยากลงทุนใหม่ เพราะลงไปกับ 4G ไม่ใช่น้อย

อย่างไรก็ตาม “กสทช.” เตรียมเดินหน้าเรียกคืนคลื่น 2600 MHz คืนจาก บมจ.อสมท เพื่อนำมาประมูลพร้อมกับคลื่นย่าน 26 GHz และ 28 GHz ในปลายปีนี้เช่นกัน

ในฟากของผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ไม่ได้มีแค่ “หัวเว่ย” ที่โดดเด่นเรื่องเทคโนโลยี 5G แต่ยังมี “อีริคสัน”
อีกรายที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย

ล่าสุด “อีริคสัน” ลงทุนจำลองงาน Mobile World Congress 2019 ที่จัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เมื่อต้นปีมาที่กรุงเทพฯในงาน “Barcelona Unboxed” เพื่อโชว์ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะ

มีการขนเทคโนโลยีมาโชว์ให้ดู ตั้งแต่วิวัฒนาการเครือข่ายไปสู่ 5G, การปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G และ IoT การเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงานด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงการยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี 5G และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับแนวคิดให้กับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

“นาดีน อัลเลน” ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครือข่าย 5G จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ทั่วโลกที่นอกจากจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ และยกระดับประสิทธิภาพแล้วยังสร้างโมเดลทางธุรกิจที่แปลกใหม่เพิ่มเติมด้วย

และย้ำว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยจะสามารถสร้างความได้เปรียบก่อนใครด้วยการเตรียมการเพื่อเปลี่ยนย้ายไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตแต่เนิ่นๆ ได้

“5G เป็นเทคโนโลยีที่มีเสถียรภาพ มีความหน่วงต่ำ รองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมาก และมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการรองรับวิสัยทัศน์ Digital Thailand สำหรับทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย”

“แม่ทัพหญิงอีริคสัน” ประเทศไทยระบุว่า ผู้ให้บริการในประเทศไทยจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจาก 5G ภายในปี 2569 ทั้งย้ำว่า “อีริคสัน” เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทที่ติดตั้งเครือข่าย 1G, 2G, 3G, 4G และ 5G ให้ประเทศไทยด้วยเครือข่ายธุรกิจและความเชี่ยวชาญระดับโลกผนวกกับฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งตลอด 113 ปีที่ผ่านมา

โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการสาธิต และทดลองใช้เครือข่าย 5G ตั้งแต่ปี 2560 และพบว่าระบบสาธิตดังกล่าวสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้รวดเร็วถึง 5.7 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และมีความหน่วง (Latency) เพียง 3 มิลลิวินาที

ข้อมูลจากรายงาน Ericsson Mobility ฉบับล่าสุดยังเปิดเผยด้วยว่า 5G เป็นเจเนอเรชั่น ที่เร็วที่สุดของเทคโนโลยีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังจะเปิดใช้งานทั่วโลกในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้ประเทศต่างๆ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาทำเลที่ตั้งสำหรับการเปิดดำเนินงานในรูปแบบ “ดิจิทัล”

และสำหรับประเทศไทย “อีริคสัน” มองว่า จำเป็นต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเริ่มต้นใช้งาน 5G โดยภาครัฐควรมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ “ถนน-ทางรถไฟ และสนามบิน”

ในมุมของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ “5G” จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยยกระดับการใช้งาน IoT ด้วยการเชื่อมต่อความเร็วสูง และอัตราความหน่วงต่ำ ทั้งมีการคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อภาคอุตสาหกรรม และรองรับเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคตด้วย

สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม บริการ 5G มีประโยชน์ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.ลดต้นทุนต่อกิกะไบต์ 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย และ 3.เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ และสร้างรายได้เพิ่มเติม

“อีริคสัน” โชว์ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่ทำสัญญากับบริษัท และเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว 19 รายทั่วโลก มีเครือข่าย 5G ที่ใช้งานจริงแล้ว 8 รายในสหรัฐอเมริกา, เกาหลี, ออสเตรเลีย และยุโรป ทั้งมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในระบบนิเวศ 5G ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา (R&D) คิดเป็นสัดส่วน 18.5% ของรายได้ทั่วโลกต่อปี

เรียกได้ว่าลงทุนลงแรงกับการปักธง 5G อย่างเป็นจริงเป็นจัง มากไม่แพ้มังกรจีน “หัวเว่ย”

ที่น่าสนใจก็คือ จากการสำรวจล่าสุดของ Ericsson Consumer Lab พบว่าผู้บริโภคในประเทศไทยตั้งตารอคอยเทคโนโลยี 5G โดยครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะเปลี่ยนเครือข่ายผู้ให้บริการภายใน 6 เดือน หากผู้ให้บริการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่พัฒนาไปสู่ระบบ 5G

ขณะที่ 40% ของผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าจะเปลี่ยนไปใช้งานระบบเครือข่าย 5G ได้ภายใน 1 ปี

อะไรจะขนาดนั้น แต่จะว่าไปก็ไม่แปลกเพราะคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้วเรื่องการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ เรียกว่าแทบจะตลอดเวลาที่ตื่นกันเลยทีเดียว

ใครจะชิงความเป็นมหาอำนาจโลกด้านเทคโนโลยีก็ว่ากันไป แต่เราเป็นอยู่แล้วในแง่การใช้งาน ยิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องจ่ายมาก จะเป็นกี่ G ก็แล้วแต่ การผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังจึงจำเป็นสำหรับประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image