คอลัมน์ โลกสองวัย : ปิดท้ายด้วย ‘ข้าวผัดอเมริกัน’

กิจการหนึ่งของเรื่องทำมาหากินที่ยังน่าจะเดินไปข้างหน้าไม่ว่ารัฐบาลจะเกิดขึ้นหรือยัง และนายกรัฐมนตรี ยังเป็น “ลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม คือกิจการ 2 อย่างที่ไปด้วยกันได้ กาแฟและอาหาร

อย่างที่คุณพี่ประวิทย์บอกไว้ว่า สถิติคนไทยดื่มกาแฟประมาณวันละ 1 ถ้วย จึงเห็นร้านกาแฟมีอยู่ทั่วไปทั้งริมถนน ปั๊มน้ำมัน และตรอกซอย เป็นกาแฟชนิดชงทั้งที่เป็นกาแฟสด กาแฟโบราณ และกาแฟชงจำนวนมากใส่ขวดโหลขนาดใหญ่ รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างอื่น เช่น ชาเย็น น้ำหวาน นมเย็น และน้ำผลไม้ปั่น

กาแฟส่วนที่เป็นร้าน ทุกวันนี้มีแฟรนไชส์ร้านกาแฟหลายยี่ห้อทั้งเป็นที่รู้จัก ตั้งร้านจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ตึกแถว ซึ่งมิได้จำหน่ายเฉพาะกาแฟ ยังมีของขบเคี้ยว เช่น คุกกี้ และขนมปังนานาชนิด

หรืออย่างร้านยี่ห้อ “แบล็ค แคนยอน” มีทั้งกาแฟและเครื่องดื่มนานาชนิด คุกกี้ และอาหารตามสั่งทั้งประเภทจานเดียวและเป็นกับข้าวมีตั้งแต่มื้อสาย มื้อเที่ยง มื้อเย็นและมื้อค่ำ

Advertisement

คุณประวิทย์อธิบายถึงการขยายแฟรนไชส์ของแบล็ค แคนยอน ว่าเพราะต้องการคุณภาพ ปีหนึ่งจึงขยายไม่มากนัก โดยค่าแฟรนไชส์ประมาณ 4 แสนบาทขึ้นไป (เมื่อสามสี่ปีก่อน) นับว่าถูกที่สุดในบรรดาแฟรนไชส์ร้านอาหาร (วันนี้เป็นเท่าไหร่สอบถามกันเอง) การขยายสาขาจะเน้นไปตามศูนย์การค้า เช่น เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โดยให้โอกาสแฟรนไชส์ก่อน หากไม่มีผู้บริหารจะเข้าไปลงทุนบริหารเอง ด้วยการเปิดร้านในห้างมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ราคาแพง

คุณประวิทย์บอกถึงขนาดของพื้นที่ว่า หากเป็นมุมกาแฟควรมีพื้นที่ 25-50 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกประมาณ 3 แสนบาทเป็นอย่างน้อย ร้านอาหารขนาดเล็กพื้นที่ประมาณ 50-80 ตร.ม. แต่หากเป็นร้านอาหารเต็มรูปแบบต้องใช้พื้นที่ตั้งแต่ 80 ตร.ม.ขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 200 ตร.ม. เพราะเงินลงทุนจะสูงเกินไป โอกาสคุ้มทุนจะยาก

“ส่วนเงินลงทุนสำหรับร้านอาหารจะเริ่มต้นที่ 2-5 ล้านบาท ตามขนาดพื้นที่ แต่ไม่รวมค่าพื้นที่ บริษัทขอแนะนำให้ “เซ้ง” เพราะจะคุ้มกว่าเช่าเป็นรายเดือน” คุณพี่ประวิทย์แนะนำอย่างนั้น

Advertisement

คุณพี่ประวิทย์บอกว่าลูกค้าที่จะซื้อแฟรนไชส์ คุณประวิทย์จะพิจารณาจากความตั้งใจว่าผู้ซื้อจะบริหารเอง หรือจ้างคนมาบริหาร และจะพิจารณาเรื่องเงินทุนด้วย

วันนี้ แบล็ค แคนยอน ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาร่วมวางระบบบริหาร เพื่อไปแข่งขันกับแฟรนไชส์ต่างประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมาจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีสาขาทั้งในอเมริกาและเอเชีย ทั้งกับจะขยายแฟรนไชส์เฉพาะในประเทศเอเชียก่อน เช่นทุกวันนี้เริ่มขยายเข้าไปในลาวและเมียนมา

“เพราะการขยายสู่สากลได้ ระบบต้องปรับให้เป็นสากลก่อน เช่นคู่มือต้องเป็นภาษาอังกฤษ ต้องละเอียด ข้อกำหนดต้องควบคุมคุณภาพและระบบให้ดี” คุณพี่ประวิทย์เน้นย้ำ

ทั้งคุณพี่ประวิทย์เชื่อว่า เมื่อพัฒนาระบบแล้ว จะทำให้ แบล็ค แคนยอน เป็นแฟรนไชส์ระดับสากลแฟรนไชส์ไทยอย่าง แบล็ค แคนยอนจะมีศักยภาพพอจะแข่งกับแฟรนไชส์ดังจากต่างประเทศได้ไม่น้อยหน้า

เมื่อถึงเวลานั้น คุณประวิทย์หวังว่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยได้อีกเรื่องหนึ่งเช่นกับความภูมิใจของคนไทยในเรื่องอื่นๆ ที่มีขึ้นมากแล้ว

วันนี้ ใครที่ต้องพ้นจากหน้าที่การงานไม่ว่าจะด้วยผลจากอะไรก็ตาม ได้รับค่าชดเชยก้อนหนึ่งเป็นเงินเท่าไหร่ก็ตามตั้งแต่จำนวนหลายแสนขึ้นไป ยังไม่รู้ว่จะนำไปลงทุนอะไร แล้วพิจารณาเปิดร้านกาแฟซึ่งเป็นที่นิยมเวลานี้ รวมร้านอาหาร เรียนการทำขนม คุกกี้เพิ่ม

แล้วไปคุยกับ คุณพี่ประวิทย์ จิตนราพงศ์ แวะถามกับพนักงานในร้านแบล็ค แคนยอน รับรองได้พบ

ถึงวันที่หมอให้ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) กลับได้ แอบโทรศัพท์สั่งข้าวผัดอเมริกันมารับประทานมื้อกลางวัน ไม่บอกว่าจากใคร รสชาติดีทีเดียว เรียกว่า “GOOD TEST”

แหม !! พอคนเสิร์ฟเห็นหน้าคนสั่ง ยังไม่เก็บตังค์เสียอีกแน่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image