คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : คิกออฟ 5G สไตล์ไทยๆ

เป็นไปตามคาดสำหรับการจัดสรรคลื่น 700MHz ที่ในที่สุดแล้วก็มากันครบ ทั้ง “เอไอเอส-ทรู และดีแทค” แม้ช่วงแรกค่ายมือถือแสดงทีท่าว่าไม่อยากได้แถบคลื่นช่วงนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมนำมาจัดสรรเพื่อคิกออฟไปสู่การปักธงพัฒนาบริการ 5G

แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าเบื้องหลังการนำคลื่น 700MHz ออกมาทำ 5G โดย “กสทช.” มีที่มาจากความพยายามในการหาทาง “เยียวยา” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหลายที่ต้านกระแส “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ไม่ไหว หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่อยากไปต่อแล้ว และมีความประสงค์จะขอคืนใบอนุญาต

ยักแย่ยักยันอยู่นาน จนได้ยาสามัญประจำรัฐบาลชุดที่แล้ว ชื่อ “ม.44” มาช่วยจัดการจึงไปต่อได้

ทีวีช่องไหนอยากคืนช่อง-คืนคลื่นจะได้เงินเยียวยา มีด้วยกัน 7 ช่อง ได้แก่ 1.ไบร์ททีวี 20 2.วอยซ์ทีวี 21 3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 “3SD” 6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง 26 ของกลุ่มเนชั่น

Advertisement

เงินที่จะนำไปใช้เยียวยามาจากการนำคลื่นไปจัดสรรให้ค่ายมือถือนี่ล่ะ

แต่สิ่งที่ค่ายมือถือต้องการ (ยัง) ไม่ใช่ “คลื่นความถี่”

ถ้าจำเพาะจงลงมาที่ย่าน 700MHz ทุกรายมองว่าถ้าจะต้องทำ 5G จริงๆ “กสทช.” ควรจัดสรรแถบคลื่นความถี่สูงมากกว่าคลื่นความถี่ต่ำที่มีจุดเด่นเรื่องความครอบคลุม ด้วยว่าในช่วงแรกของการเปิดบริการยังไม่จำเป็น

Advertisement

ก็ว่ากันไปแต่ถึงจะไม่อยากได้คลื่น 700MHz แต่ไม่มีใคร ไม่อยากได้สิทธิยืดจ่ายค่าคลื่น 900MHz ที่พ่วงมาให้ ซึ่งน่าจะบอกว่าเป็นการได้สิทธิยืดจ่ายหนี้ที่มีคลื่น 700 MHz แถมพ่วงมาด้วยมากกว่า

ค่ายมือถือบางรายพูดชัดเจนมาตลอดว่า ไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน แถมเตรียมเงินที่จะต้องจ่ายไว้แล้ว

ถึงจะอย่างนั้น แต่ค่าคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายที่จะทยอยครบกำหนดปีหน้าถือเป็นเงินก้อนโต (มาก) หากยืดระยะเวลาในการจ่ายออกไปได้ ยิ่งนานก็น่าจะยิ่งดี ต่อสภาพคล่อง และการบริหารจัดการด้านการเงิน

งวดการจ่ายเดิม ในปีหน้า (2563) “เอไอเอส” ต้องจ่าย 63,744 ล้านบาท “ทรู” 64,433 ล้านบาท ขณะที่คิวจ่ายของ “ดีแทค” อยู่ในปี 2565 ที่ 32,126 ล้านบาท

เมื่อทุกรายตัดสินใจยื่นขอการจัดสรรคลื่น 700MHz จะได้สิทธิยืดจ่ายหนี้จากเดิมแบ่งจ่าย 4 งวด ขยายเป็น 10 งวด

งานนี้จึง Happy Together ทั้งค่ายมือถือ-ช่องทีวีดิจิทัล และ กสทช.

สมหวังกันทุกฝ่าย

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.บอกว่าเมื่อทั้ง 3 ค่ายมือถือ เข้ามารับจัดสรรคลื่น 700MHz ครบแล้วก็ถือได้ว่าภารกิจสำคัญตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 สำเร็จลุล่วงด้วยดี

โดย “กสทช.” จะได้รับเงิน 56,544 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีเงินราว 36,000 ล้านบาท สำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักได้ ขณะที่ประเทศไทยจะได้ก้าวเข้าสู่การใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้ภายในสิ้นปี 2563

แถมเหลือเงิน 20,000 ล้านบาท นำส่งเข้ากระทรวงการคลังได้อีกต่างหาก

เลขาธิการ “กสทช.” ระบุว่า ในการจัดสรรคลื่น 700MHz นั้น ค่ายมือถือทั้ง 3 ราย สามารถตกลงเลือกชุดคลื่นกันได้ โดยไม่ซ้ำกันจึงไม่ต้องมีการเสนอราคาเพิ่ม โดยแต่ละรายต้องจ่ายค่าใบอนุญาต เท่ากันที่ 17,584 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 งวด

“ทรูมูฟ เอช” เลือกชุดคลื่นที่ 1 ช่วงความถี่ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz “ดีแทค” เลือกชุดที่ 2 ช่วงความถี่ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz และ “เอไอเอส” เลือกชุดที่ 3 ช่วงความถี่ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz

และตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 การจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ของทั้ง 3 บริษัทจะเปลี่ยนไป โดยในปี 2563 “เอไอเอส” ต้องจ่ายเงิน 23,269 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2564-2568 ต้องจ่ายงวดละ 8,095 ล้านบาท

ส่วน “ทรู” ต้องจ่ายที่ 23,614 ล้านบาท ในปี 2563 และตั้งแต่ปี 2564-2568 จ่ายปีละ 8,164 ล้านบาท ขณะที่ “ดีแทค” เดิม ในปี 2563 และ 2564 ต้องจ่ายปีละ 2,151 ล้านบาท ก่อนจ่ายงวดสุดท้าย ที่ 32,126 ล้านบาท ในปี 2565 เปลี่ยนมาเป็น จ่าย 7,917 ล้านบาท ในปี 2563 และในปี 2564-2570 จ่ายปีละ 4,073 ล้านบาท

“อเล็กซานดรา ไรช์” ซีอีโอ(หญิง) หนึ่งเดียวจากค่าย “ดีแทค” พูดถึงการตัดสินใจยื่นขอรับการจัดสรรคลื่น 700MHz ว่าดีแทคเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยจะสามารถนำคลื่น 700MHz ไปใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารไร้สายเทคโนโลยี 5G ต่อไปได้

และการเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพิ่มเติมยังทำให้ดีแทคมีจำนวนคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low band) ที่จะนำมาให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 2×10 MHz ทำให้มีคลื่นความถี่ที่ให้บริการทั้งหมด 130 MHz รวมคลื่น 2300 MHz ที่โรมมิ่งบนคลื่นทีโอที

“แม้ว่าคลื่น 700 MHz จะนำมาใช้งาน 5G ได้ แต่ กสทช. ควรให้ความสำคัญต่อแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างชัดเจน ทั้งคลื่นย่านความถี่สูง และความถี่ต่ำ”

และจากการที่ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ความพร้อมของเทคโนโลยี 5G เป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจนจึงมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในการตัดสินใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว และเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นด้วย

ซีอีโอ “ดีแทค” บอกว่า คลื่นย่าน 700MHz จะทำให้ดีแทคขยายสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือในพื้นที่ห่างไกลและทำให้การใช้งานในเมืองมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม “กสทช.” รู้ดีว่าการจะเปิดให้บริการ 5G ได้จริง เฉพาะแค่คลื่น 700MHz ยังไม่พอจึงเตรียมจัดสรรคลื่นเพิ่มเติมทั้งในส่วนของคลื่น 2600 MHz และคลื่นย่าน 26-28 GHz ไว้ และคาดว่าหากดำเนินการจัดสรรคลื่นได้ภายในสิ้นปีนี้ก็อาจได้ใช้ 5G ภายในปีหน้า

ถ้าทำได้ตามไทม์ไลน์ข้างต้น ประเทศไทยจะไม่ตกขบวน 5G โลก อย่างแน่นอน การันตีโดย “กสทช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image