คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Rocket Man สร้างสรรค์ ฉูดฉาด กล้าเล่น ไม่กลัวพัง เพราะนี่คือชีวิต ‘เอลตัน จอห์น’

หลังความสำเร็จของ “Bohemian Rhapsody” ตำนานของวง “ควีนส์” และ “เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่” ที่ส่งให้ “เรมี่ มาเล็ค” คว้าออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ความที่หนังได้ทั้งเงินทั้งกล่องเรื่องนี้จึงส่งผลอย่างมากต่อภาพยนตร์ที่ตามมาในแนวทางคล้ายคลึงกันอย่าง “Rocket Man” ภาพยนตร์กึ่งชีวประวัติของ “เซอร์ เอลตัน จอห์น” ศิลปินรุ่นใหญ่ของอังกฤษ ในวัย 72 ปี

ในแง่ที่ทั้งสองเรื่องกำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน “เด็กซเตอร์ เฟล็ทเชอร์” แม้อันที่จริง Bohemian Rhapsody จะกำกับโดย “ไบรอัน ซิงเกอร์” ไปแล้วเกินครึ่ง ก่อนที่เจ้าตัวจะมีปัญหาในกองถ่ายอย่างหนักจนถูกให้ออก และเป็น เฟล็ทเชอร์ ที่เป็นผู้มาทำส่วนที่เหลือให้จบ

กระนั้นอย่าเพิ่งคิดว่า “Rocket Man” จะมีรสชาติซ้ำรอยแบบเดียวกับ “Bohemian Rhapsody”

หาก Bohemian Rhapsody คือจานอาหารที่ปรุงตามสูตรได้รสชาติเป๊ะ เพิ่มส่วนผสมรสชาติจัดจ้านโดยผ่านการแสดงของเรมี มาเล็ค และบทเพลงของเฟร็ดดี้ที่เป็นอมตะ

Advertisement

แต่ “Rocket Man” เป็นจานอาหารสุดครีเอทีฟ สร้างสรรค์ กล้าเล่น ไม่กลัวพัง

ภาพยนตร์ Rocket Man จึงแซ่บในแบบฉบับความฉูดฉาดของตัวเซอร์ เอลตัน จอห์น เอง ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงเช่นกัน

ความกล้าแซ่บประการแรก นี่เป็น “หนังกึ่งชีวประวัติ” ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นแนวทาง “หนังเพลง” หรือ “Musical Movie” ที่ตัวละครในเรื่องร้องเพลงเองทั้งหมด ไม่ได้ใช้การลิปซิงค์เพลงเอลตัน จอห์น ดังนั้น เราจึงได้ยินเนื้อเสียงเต็มๆ ของ “ทารอน อีเกอร์ตัน” ผู้รับบทเป็นเอลตัน จอห์น ในยุคหนุ่มร้องทุกเพลงของเอลตัน จอห์น ทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวร้องเพลงส่งอารมณ์ออกมาดีมาก ระดับที่ เอลตัน จอห์น ให้สัมภาษณ์บอกว่า ตั้งแต่เขาฟังใครก็ตามที่ร้องเพลงของเขา เขาโอเคกับการร้องของทารอน อีเกอร์ตัน มากที่สุด

Advertisement
ภาพประกอบจาก Youtube Video/Paramount Pictures

ความแซ่บที่ตามมา เมื่อเป็นหนังเพลง ที่เป็นมิวสิคัล ทำให้ตัวหนังเล่าเรื่องไปสู่ความแฟนตาซีได้หลายจังหวะโดยไม่ต้องขัดเขินกับข้อเท็จจริง การเชื่อมต่อฉากต่อฉาก การเลือกใช้เพลงเอลตัน จอห์น มาร้องในช่วงเวลาไหนก็ได้ ซึ่งนั่นคือความฟู่ฟ่ากล้าเล่นของหนังเรื่องนี้ ในเรื่องการลำดับเพลงที่ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงตามไทม์ไลน์เพื่อเล่าตามช่วงเวลาที่เพลงถูกแต่งขึ้นจริง แต่ผู้กำกับฯเลือกใส่ความสร้างสรรค์เข้าไปแทนมากกว่า

ความกล้าแซ่บประการต่อมา นี่ไม่ใช่หนังชีวประวัติแบบถูกต้องครบถ้วนของเอลตัน จอห์น แต่หลายจังหวะที่เห็นในหนัง และบางช่วงเวลาของเหตุการณ์เป็นการปรับบทให้มีอรรถรสขึ้น อาทิ ที่มาของชื่อ “เอลตัน จอห์น” ที่ “จอห์น” ไม่ได้มาจาก “จอห์น เลนนอน” อย่างที่ในหนังนำเสนอ แต่แท้จริงมาจาก “Long John Baldry” ศิลปินเพลงบลูส์ที่เป็นเกย์เช่นกัน ส่วนชื่อ “เอลตัน” มาจากชื่อนักแซกโซโฟน “Elton Dean”

แม้ในหนังจะมีข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ “เอลตัน จอห์น” ไม่ได้มีปัญหากับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตรงกันข้ามเขาใจกว้างพอที่จะให้หนังใส่ความเพ้อฝัน แฟนตาซีเข้าไปด้วย

หากหนัง Bohemian Rhapsody มีฉากอันน่าจดจำชวนขนลุกที่คอนเสิร์ต “Live Aid” ที่เรมี มาเล็ค แสดงชนิดปล่อยพลังเป็นเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ ได้อย่างถึงที่สุด

ใน “Rocket Man” ก็มีฉากที่ชวนจดจำเช่นกัน นั่นคือฉากที่ “ทารอน อีเกอร์ตัน” ผู้สวมบทเอลตัน จอห์น ร้องเพลงและเล่นเปียโนเพลง “Crocodile Rock” ในผับ ฉากนี้ไม่ได้โฟกัสความอลังการ แต่ใช้การออกแบบฉากที่สร้างสรรค์ มีความแฟนตาซี ส่งอารมณ์ถึงคนดูว่าดนตรี เนื้อร้อง และเปียโนของเอลตัน จอห์น ช่างเป็นเพลงที่พาเราล่องลอยหลุดออกไปจากโลกได้ชั่วขณะเลยทีเดียว

หรือฉากเรียบง่ายกับเพลงหวานอย่าง “Your Song” ที่เป็นเพลงเมโลดี้ไพเราะเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อใส่มาอย่างถูกจังหวะในหนังทำให้เพลงของเอลตัน จอห์น ยิ่งเพราะขึ้นทวีคูณ

และแน่นอนเมื่อนี่เป็นหนังกึ่งชีวประวัติเราย่อมต้องเห็นทั้งด้านสว่างและด้านมืดของชีวิตด้วย ใน Bohemian Rhapsody ตัวหนังเน้นไปที่พรสวรรค์ด้านศิลปินของเฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ การหมกหมุ่นสร้างสรรค์เพลงของเขา ผสมกับช่วงเวลาความรักกับอดีตภรรยา และช่วงรอยต่อจุดแตกหักของชีวิตที่เข้าสู่วังวนยาเสพติด โดยทั้งหมดถูกเล่าเรื่องไปตามลำดับเวลา

ขณะที่ Rocket Man เล่าชีวิตได้แฟนตาซี ยอกย้อน ผันผวน ไม่เรียงลำดับเวลาผ่านแต่ละบทเพลงของเอลตัน จอห์นเอง เรื่องราวตั้งแต่เด็กน้อย “เรจินัลด์ ดไวท์” (ชื่อจริงวัยเด็กของเอลตัน จอห์น) ที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรีแบบพิเศษมาก ไปจนถึงครอบครัวที่พ่อกับแม่ไม่ลงรอยกันก่อนจะหย่าร้างกันในเวลาต่อมา เรื่องราวที่ผนวกไปกับความรักความเปราะบาง จนถึงความความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเพื่อนคู่บุญผู้ร่วมแต่งเพลง “เบอร์นีย์ ทอปิน” และความสัมพันธ์อันลุ่มๆ ดอนๆ กับ “จอห์น รี๊ด” ผู้จัดการส่วนตัวอันยาวนานของเขากว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งรับรู้กันว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังไปไกลกว่านั้นด้วย ไล่ไปถึงช่วงที่เขาตัดสินใจแต่งงานกับผู้หญิง

โดยตัวหนังมีแก่นที่เล่า “ปม” ของเอลตัน จอห์น กับครอบครัวไว้ได้ลึกถึงความรู้สึกพอสมควร ซึ่งข้อดีของการเล่าเรื่องในแบบหนังมิวสิคัล ทำให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกภายในผ่านเพลงออกมาแทนคำพูดได้ดี

ขณะเดียวกันช่วงชีวิตที่เขาติดยาเสพติด ติดเหล้า ป่วยเป็นซึมเศร้า และเคยคิดฆ่าตัวตายถูกเล่ามาในภาพยนตร์ด้วย

“เอลตัน จอห์น” ให้สัมภาษณ์มองย้อนถึงชีวิตตัวเอง จากหนัง Rocket Man ว่า “เวลานั้นผมมีทางเลือกแค่สองทางคือมีชีวิต หรือจะจบมัน”

เขามองว่าการที่เขารอดพ้นช่วงชีวิตเปราะบางหักพังมาได้นั้น เพราะเขาไม่เก็บปัญหาไว้กับตัว แต่บอกเล่าปัญหากับผู้คนที่ไว้ใจ

“เวลาคุณไม่มีความสุข เวลาคุณรู้สึกผิดกับตัวเอง รู้สึกโดดเดี่ยว ให้หาใครสักคนที่คุณไว้ใจแล้วบอกเขา พูดคุยกับเขา ผู้คนเหล่านั้นช่วยให้ชีวิตผมกลับมาได้จนถึงทุกวันนี้”

“…วันนี้ผมก็ยังรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเด็กที่สนุกสนานอยู่ตลอดเวลา ยังมีพลังในชีวิต และก็คิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีที่สุดในโลก”

“Rocket Man” เป็นหนังเพลงกึ่งชีวประวัติที่เล่าผ่านความแฟนตาซี ฉูดฉาด กล้าเล่น มีความสร้างสรรค์ ที่สำคัญตัวหนังเล่าเรื่อง “ความรู้สึกภายใน” ของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง “เอลตัน จอห์น” ออกมาได้อย่างลึกซึ้งผ่านบทเพลงตลอดหลายทศวรรษของเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image