สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท้องถิ่นมีวัฒนธรรม วัดพระงาม นครปฐม

เจดีย์ใหญ่แบบทวารวดีอายุนับพันปีมาแล้ว เท่าพระปฐมเจดีย์ พังทลายถูกดินทับถมเป็นเนินขนาดใหญ่ในวัดพระงาม ริมทางรถไฟ ใกล้สถานีนครปฐม กรมศิลปากรเริ่มโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม (ภาพเมื่อตอนบ่ายวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2562) (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2562)

เจดีย์พันปีที่นครปฐม มีอายุเก่าแก่พอๆ กับพระปฐมเจดีย์ (องค์ข้างใน) กำลังถูกขุดศึกษาทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร

มีป้ายประกาศขนาดใหญ่ติดไว้ใกล้เนินโบราณสถานในวัดพระงาม อ.เมืองฯ จ.นครปฐม และมีในข่าวสดออนไลน์ (วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2562)

เนินโบราณสถานวัดพระงามเป็นที่รู้กันกว้างขวางในหมู่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ว่าเป็นซากเจดีย์น่าจะมีอายุในเรือน พ.ศ. 1000 สมัยเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ (ที่ถูกครอบ) เป็นช่วงเวลาเริ่มแรกการค้าโลกมากกว่าพันปีมาแล้ว (ปัจจุบันมักเรียกสมัยทวารวดี)

เจดีย์วัดพระงามที่เห็นเนินดินมหึมาเป็นส่วนหลงเหลือจากถูกรื้อถอนทำลายเพื่อใช้พื้นที่สร้างทางรถไฟสายใต้สมัย ร.5 ถ้าครบสมบูรณ์จะมีขนาดใหญ่ไพศาลเพียงใด เดาไม่ออก บอกไม่ได้ และนักโบราณคดีไทยไม่เคยขุดศึกษาตรวจสอบมาก่อน

Advertisement

เมื่อกรมศิลปากรลงมือขุดศึกษาครั้งนี้ย่อมน่ายินดีและเป็นงานมีคุณค่ามากทางวิชาการ ซึ่งไม่ควรปกปิดซ่อนเร้น แต่ควรประโคมข่าวบอกกล่าวสาธารณชน แล้วเปิดช่องให้ท้องถิ่นร่วมทำงานวัฒนธรรม เพราะทั้งหมดเป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งประเทศ และสากลโลก (ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของรัฐราชการ)

แบ่งปันข้อมูลความรู้

กรมศิลปากรควรประกาศเชิญชวนประชาชนและนักเรียนนักศึกษาเยี่ยมชมการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่วัดพระงามตามอัธยาศัย โดยจัดที่ทางกั้นเขตเดินลัดเลาะจะได้ไม่กีดขวางการทำงาน แล้วควรมีนิทรรศการย่อยแสดงเรื่องราวสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดกว้าง เช่น

1.แผนผังเมืองนครปฐมโบราณ แสดงสถานที่สำคัญพร้อมคำอธิบายสั้นๆ กะทัดรัด ได้แก่ พระปฐมเจดีย์, วัดพระงาม, ทางรถไฟ, วัดพระประโทณ, เจดีย์วัดพระเมรุ ฯลฯ

Advertisement

2.แผนผังวัดพระงาม และเจดีย์ที่คาดว่าจะมีรูปร่างอย่างไร? (ถ้าสันนิษฐานได้) พร้อมภาพถ่ายโบราณวัตถุที่เคยพบ เช่น พระพุทธรูปงามได้ชื่อวัดพระงาม

3.จดหมายเหตุจีน 2 ฉบับ ที่กล่าวถึงชื่อ “หลั่งเกียฉู่” อยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา กับ “โถโลโปตี” อยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา

4.ความเป็นมาของชื่อ “ทวารวดี” เมืองราชธานีศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ (ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ในคัมภีร์อินเดีย

รัฐราชการอำนาจนิยมไม่เคยแบ่งปันสม่ำเสมอสู่สาธารณะ แต่เขียนมานี้เพื่อบอกไว้ให้ท้องถิ่นรับรู้ แล้วร่วมกันพิจารณาเองว่าควรทำอย่างไรต่อไป

เจ้าขุนมูลนายรัฐราชการ

รัฐราชการอำนาจนิยม มีพฤติกรรมเป็นที่รู้กันในสากล ได้แก่ ปกปิดข้อมูลข่าวสาร แล้วหลีกเลี่ยงการตรวจสอบถ่วงดุล

ทางวัฒนธรรม รัฐราชการอำนาจนิยมวางตนเป็น “เจ้าขุนมูลนาย” ปกปิดข้อมูลที่เป็นจริงทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดี แล้วหลีกเลี่ยงการตรวจสอบถ่วงดุลจากสาธารณชนทางข้อมูลความรู้ทางวิชาการด้านนั้นๆ เช่น

รัฐราชการอำนาจนิยมสถาปนาคำอธิบายแบบมัดมือชกว่า “ทวารวดี” เป็นอาณาจักรชื่อเดียวกับชื่อในเหรียญเงินพบที่นครปฐม เพื่อครอบงำความคิดคนอ่านโน้มเอียงคล้อยตามว่าอาณาจักรทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐม แล้วปฏิเสธแนวคิดต่างซึ่งมีหลักฐานแน่นหนา

แท้จริงแล้วทวารวดีที่นครปฐมเป็นความเห็นหนึ่งของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง แต่มีนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อยคัดค้านว่าหลักฐานสำคัญในเอกสารจีนไม่ได้สนับสนุนอย่างนั้น และพบหลักฐานอื่นอีกไม่น้อยที่ระบุว่าทวารวดีเป็นชื่อพบหนาแน่นทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี จนถึงกัมพูชา

จึงควรเปิดกว้างให้สาธารณะรับรู้พร้อมกัน แล้วไตร่ตรองตัดสินใจเองว่าเชื่ออย่างไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image