คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Unicorn Store เผชิญหน้ากับความล้มเหลว จากสิ่งที่รักที่สุด

ภาพประกอบ Netflix

ตอนเป็นผู้ใหญ่เราเคร่งเครียด จริงจัง จนต้องบอกกันว่าให้เหลือความเป็นเด็กไว้ในตัวบ้างเพื่อจะได้มองอะไรอย่างมีความหวัง ความฝัน และสนุกสนานกับชีวิตอยู่เสมอ

แต่เมื่อเรายังเป็นเด็กที่กำลังก้าวข้ามสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว กลับต้องเผชิญสถานการณ์ที่ถูกเรียกร้องให้เติบโตและเข้าใจชีวิตจริงมากขึ้น

ทางสายกลางระหว่าง “ความเป็นเด็กในตัว” และ “ความเป็นผู้ใหญ่ในตัว” เป็นสารสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง “Unicorn Store”

ภาพยนตร์ที่กำกับโดยนักแสดงสาวเจ้าของรางวัลออสการ์นำหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Room “บรี ลาร์สัน” ซึ่งเพิ่งมีผลงานการแสดงจากหนังระดับเมเจอร์อย่าง “Captain Marvel”

Advertisement

โดยตัวเธอยังรับบทนำในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

หนังมีโครงเรื่องเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ผ่านหญิงสาวที่เพิ่งเข้าสู่ชีวิตผู้ใหญ่วัยทำงานที่ชื่อ “คิท” ที่อยู่ระหว่างเผชิญหน้ากับ “ความล้มเหลวจากสิ่งที่รักที่สุด” คือการวาดภาพ ซึ่ง “คิท” ถูกให้ออกจากสถาบันศิลปะ ด้วยเหตุที่เธอวาดภาพที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป ผิดจากโจทย์ที่ทางสถาบันตั้งไว้

เพราะงานศิลปะของ “คิท” วนเวียนอยู่ในธีมเดียวนั่นคือ “สายรุ้ง” และ “ยูนิคอร์น” ที่เธอคลั่งไคล้ชื่นชอบตั้งแต่ยังเด็กจนจุดประกายให้เธอเรียนศิลปะ แต่โจทย์ที่เธอต้องทำข้อสอบของสถาบันคือการวาดภาพเหมือน (Portrait)

Advertisement

“สายรุ้ง” และ “ยูนิคอร์น” คือภาพแทนค่าเฉลี่ยที่เด็กหญิงตัวน้อยโดยมากต่างหลงใหล และสลัดทิ้งความชอบนี้ได้เมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับ “คิท” เธอชื่นชอบสายรุ้งและยูนิคอร์นไม่เสื่อมคลาย

แม้จะมีไอเดียสร้างสรรค์ในการวาดภาพพอทเทรทสไตล์ตัวเอง (ที่มีแต่สายรุ้งและยูนิคอร์น) แค่ไหน แต่ในแง่นี้ “คิท” ถูกประเมินว่าล้มเหลวต่อมาตรฐานที่ถูกขีดไว้

หากมอง “โลกแห่งเยาว์วัย” ดูเหมือน “คิท” กำลังถูกตัดสินและจำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ แต่ใน “โลกของผู้ใหญ่” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คิท” ไม่พยายามที่จะเข้าใจ เติบโต และไหลลื่นไปกับมัน

เส้นทางชีวิตหลังถูกให้ออกจากสถาบันศิลปะ “คิท” ต้องหา “ทางสายกลาง” ที่จะดำรง “ตัวตน” ของตัวเองไว้ให้ได้ในโลกความจริงที่เธอกำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว

หนังใช้วิธีเล่าผ่านเรื่องราวแฟนตาซี เมื่อจู่ๆ “คิท” ได้รับเชิญให้ไปเป็นลูกค้าคนพิเศษของ “ร้านขายของ” ปริศนาร้านหนึ่งที่ชื่อว่า “The Store” มี “เซลส์แมน” ประจำร้านที่รับบทโดย “แซมมวล แอล. แจ๊กสัน” ทำหน้าที่ขายสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ได้ยื่นข้อเสนอว่า หากคิทต้องการโอกาสได้เลี้ยงม้ายูนิคอร์นของจริง เธอจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อเสนอต่างๆ ที่เขาจะมอบภารกิจให้ เมื่อสำเร็จเธอจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของม้ายูนิคอร์นอย่างไม่ต้องสงสัย

เหลือเชื่อจนเกินจริง แต่เพราะ “คิท” คือเด็กสาวช่างฝันที่สลัดความเป็นเด็ก และเพื่อนในจินตนาการที่เป็นม้ายูนิคอร์นออกไปไม่ได้ เธอจึงตอบรับข้อเสนอนี้อย่างยินดี และปฏิบัติภารกิจตามที่เซลส์แมนเสนอ

ขณะที่ชีวิตอีกด้านหลังความล้มเหลวถูกให้ออกจากสถาบันศิลปะ “คิท” เดินทางกลับมาอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ และพยายามจะแสดงให้พ่อแม่เห็นว่า เธอมีความพร้อม มีความรับผิดชอบเพียงพอที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้เสียที จึงตัดสินใจสมัครงานเป็นพนักงานชั่วคราวในบริษัทประชาสัมพันธ์ คู่ขนานกับการซุกซ่อนภารกิจลับ “ตามล่าฝัน” ให้ได้ม้ายูนิคอร์นมาเลี้ยงด้วย

“บรี ลาร์สัน” สวมบท “คิท” สาวน้อยวัยยี่สิบกลางๆ ผู้ช่างฝัน มองโลกในแง่ดี มีความเป็นเด็กในตัวเองสูง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ไม่ชอบอะไรก็พร้อมจะบอกและแสดงออกมาให้คนรอบข้างได้รู้ในทันที คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ยุคนี้จำนวนมาก หากบทภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่กลุ่มยี่สิบกลางๆ ในสังคมอเมริกัน กลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบ และกำลังจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตผู้ใหญ่เต็มตัว ภาพยนตร์เรื่อง Unicorn Store ก็กำลังจะพูดถึงคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน

ในระยะ 4-5 ปีมานี้ สังคมอเมริกันเองมีปรากฏการณ์หนึ่งที่มีงานวิจัยรองรับ โดยอ้างอิง “Pew Research Center” ระบุว่า 1 ใน 3 ของหนุ่มสาวอเมริกันช่วงวัย 18-24 ปี ยังอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 เป็นต้นมา

สังคมอเมริกันเรียกลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่ เรียนหนังสือจบ หรือมีงานทำแต่ยังอยู่กับพ่อแม่ว่า “บูมเมอแรง คิดส์” (boomerang kids) เปรียบคนกลุ่มนี้เหมือนกับบูมเมอแรงที่ขว้างออกไปแล้วจะร่อนกลับหาตัวผู้ขว้าง

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คนรุ่นนี้กำลังเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นต้นว่าเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับคนเหล่านี้ไม่พอที่จะใช้อยู่กินเลี้ยงตัวเอง ไม่สามารถเก็บเงินไว้ซื้อบ้านเองได้เหมือนคนรุ่นก่อนๆ

คนกลุ่มนี้ จึงยืนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ที่ต้องสู้กับ “ภาระความรับผิดชอบ” ในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

และยังต้องเติมเต็ม “จิตวิญญาณความฝัน” ของตัวเองด้วยอีก

ดังจะเห็นได้จากฉากที่ “คิท” ถามรองประธานบริษัทที่เธอทำงานว่า “คุณรู้อยู่เสมอว่านี่คือสิ่งที่คุณอยากทำ หรือคุณอยากทำอีกอย่างก่อน” ซึ่งคำถามของเธอไปกระตุกต่อมความฝันวัยเด็กของเจ้านาย ก่อนที่เขาจะตัดบทตอบคิทไปว่า “ทำไมไม่หวังให้เราบินได้ไปเลยล่ะ เพราะเราบินไม่ได้ เราเลยจดจ่อกับสิ่งที่เราทำได้”

ในโลกคู่ขนานระหว่างการปฏิบัติภารกิจตามฝันให้ได้ม้ายูนิคอร์น กับโลกที่ “คิท” ต้องเข้าไปทำงานใช้ชีวิตผู้ใหญ่ นั่นทำให้ “คิท” มองเห็นตัวเองมากขึ้นทุกขณะ

ในโลกแห่งการทำงานเธอต้องรับมือกับความคิดในหัวที่วนเวียนว่า “ฉันไม่อยากเป็นคนที่น่าผิดหวัง” หรือระหว่างการพรีเซ็นต์งานให้ลูกค้า ที่เธอเล่นลูกบ้าใส่ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่เพื่อให้สนุกสนานจนคนดูอย่างเรา ยังรู้สึกว่าไอเดียเสนองานของเธอเข้าท่า แต่เมื่อโลกแห่งความจริงเมื่อลูกค้าไม่ซื้อ เจ้านายไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็ต้องจบ

แม้ในที่สุดภารกิจตามล่าหาฝันเรื่องม้ายูนิคอร์นของคิท ได้ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณ และความเชื่อให้ตัวเองได้สำเร็จ พร้อมกันนั้น ภารกิจนี้ยังทำให้เธอได้เปิดใจ และเข้าใจจังหวะก้าวใน “โลกของผู้ใหญ่” ที่จากนี้ “คิท” ยังคงต้องพยายามดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ให้ได้

ท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงที่เธอค่อยๆ ยอมรับมันขึ้นทีละนิด และพร้อมแล้วว่า “การเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโต” นั้น “ต้องพร้อมจะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในสิ่งที่ตัวเองรัก และแคร์ที่สุดให้ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image