อาศรมมิวสิก : พ่อแก่หรือฤๅษี ครูตระกูลช่าง ดนตรีนาฏศิลป์ โขนละคร มรดกแห่งภูมิปัญญาและความกตัญญู : โดย สุกรี เจริญสุข

พ่อแก่หรือฤๅษี เป็นนักพรต เป็นผู้ถือศีลบำเพ็ญภาวนา เป็นเจ้าแห่งศิลปะการแสดง อาจจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป อาทิ ฤๅษีตาไฟ ฤๅษีนารอด ปู่ฤๅษี 108 หรือพ่อแก่ เชื่อว่าเป็นจิตวิญญาณครูของช่างแขนงต่างๆ ครูดนตรีนาฏศิลป์ โขนละคร และศิลปะการแสดง การถ่ายทอดวิชาของฤๅษีให้แก่ศิษย์นั้น ถือว่าเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่จะเรียนศิลปะการแสดง ฤๅษีได้ชื่อว่าเป็นครูผู้มีวิชา เมื่อศิษย์ได้เรียนกับครู ก็ถือว่า “เป็นศิษย์ที่มีครู” ศิษย์ก็ต้องไหว้ครูเสียก่อนการแสดง เมื่อได้ไหว้ครูแล้วก็จะเริ่มการแสดงได้ เชื่อว่ามีครูคอยให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือให้คำแนะนำ เมื่ออยู่บนเวทีแสดงนั้น การที่ครูได้มาลงหรือลงครู หมายถึง ครูพ่อแก่ฤๅษีก็จะเข้าไปกำกับจิตวิญญาณการแสดง เพื่อให้มีความสวยสดงดงามดังปรารถนา ในประเพณีดั้งเดิม ดนตรีไทย โขนละคร จึงมีพิธีไหว้ครูและครอบครูเป็นงานประจำปี หนังตะลุงก่อนการแสดงเรื่อง ก็ต้องมีการออกรูปฤๅษีก่อน เพื่อที่จะไหว้ครู

พวกดนตรีสากลนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือครู ถือว่าเป็นความรู้สมัยใหม่ เป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อจ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว ก็ถือว่าเป็นค่าจ้างครู เรียนจบก็ไม่มีความผูกพันกัน ครูกับศิษย์ก็มีฐานะเท่าเทียมกัน ลูกศิษย์สามารถที่จะล้างครูได้ วัดรอยเท้าครูได้ จะหัวล้านนอกครูก็ไม่ถืออะไรกัน การแข่งฝีมือประชันกับครู ก็สามารถทำได้ พวกดนตรีสากลจึงไม่นิยมเข้าในพิธีไหว้ครู ส่วนในโรงเรียน ส่วนของราชการ กรมศิลปากร กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพที่มีหน่วยดนตรี คนดนตรีสากลก็จะเข้าในพิธีไหว้ครูพร้อมพวกดนตรีไทย

เนื่องในสังคมโบราณนั้น นับถือทั้งผีและเทวดา อาศัยทั้งผีและเทวดาช่วยปกป้องคุ้มครอง โดยมอบหน้าที่ให้แก่ฤๅษีเป็นผู้กำกับศีลธรรม สั่งสอนมารยาทของสังคม สืบสานประเพณีอันดีงาม เรียนรู้การรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่ในร่องในรอย ตามครรลองคลองธรรม การกระทำผิดถือว่า “ผิดผี” ซึ่งไม่ควรทำ การมีชีวิตดีก็จะอยู่อย่างมั่นคง

เพราะเมื่อได้เป็นศิลปินแล้ว มีผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงโด่งดัง มีอำนาจต่อมวลชน ก็มักจะเสียคน หากมีครูคอยกำกับ แนะนำ ครูจะช่วยเตือนคอยช่วยเหลือ ให้ลูกศิษย์กระทำในสิ่งที่ถูกที่ควร รู้จักยับยั้งชั่งใจ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของศิลปินไม่เสียคน มีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว คนที่มีบารมีก็จะได้สืบทอดเป็นครูต่อไป

Advertisement

ผู้เขียนเรียนดนตรีสากล (เป็นคนดิบ) ไม่มีความรู้เรื่องการครอบครู แม้ได้มีโอกาสอยู่ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ครูช่าง ครูนาฏศิลป์บ่อย แต่ในฐานะผู้บริหาร ไม่ได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าอะไรมากนัก ซึ่งก็ได้แต่ทำแบบ “จำทรง” เอาไว้เท่านั้น หมายมั่นปั้นมือว่า หากมีเวลาและมีโอกาสก็จะเข้าไปเรียนรู้เป็นนักเรียนที่จะอยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งจะได้มีประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้ได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยรู้

เมื่อถึงช่วงเวลาประสบความยากลำบากเข้ามาในชีวิต ก็รู้ว่าไม่สามารถจะไปพึ่งใครได้ นอกจากพึ่งตัวเอง ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปทางไหน ในที่สุดจึงได้ขออาศัยโอกาสพึ่งใบบุญครู “พ่อแก่” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมาก เพราะจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้และก็อยากรู้มาก่อนด้วย

อาจารย์สงัด ภูเขาทอง ท่านเคยสอนไว้ว่า “คนที่คิดแล้วไม่ได้ทำ หรือคนที่ทำโดยไม่ได้คิด ฉิบหายทั้งคู่” สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อคิดได้ก็ต้องลงมือทำเลย ไม่ต้องรั้งรออะไรทั้งสิ้น เพราะว่าความยุ่งยากและความลำบากของชีวิตมาถึงแล้ว โอกาสของครูพ่อแก่ก็มาถึงแล้วด้วย

Advertisement

การเริ่มต้นค้นหาความรู้เรื่องพ่อแก่ เดินหาเหรียญพ่อแก่ไปทุกพื้นที่ ศึกษาเกจิทั้งหลายที่มีทักษะในการปลุกเสกคาถาอาคม ก็ได้พบกับช่างเษม (นพชัย ชูแสง) ช่างปั้นและมีโรงหล่อเหรียญด้วย ก็ได้หารือกันว่า หากจะปลุกเสกทำเหรียญพ่อแก่ ซึ่งต้องการให้มีรูปลักษณ์หน้าตาที่ทันสมัย (จิ๊กโก๋หน่อย) ทั้งขลังและศักดิ์สิทธิ์ ตั้งใจทำด้วยความเคารพ จะทำอย่างไร กระทั่งได้รับคำแนะนำจากคฑาวุธ ทองไทย (ไข่) ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต วงมาลีฮวนน่า ซึ่งมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับพระเครื่อง คาถาอาคม และรู้จักเกจิสำคัญในด้านการปลุกเสกทำพระทำเหรียญแห่งยุค การเดินทางเพื่อไปแสวงหาความรู้ เมื่อต่อติดและเดินทางไปเรื่อยๆ ก็จะมีทางเดินต่อไป ไปให้ถึงจุดที่พอใจ ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย

วันดีคืนดีมาถึง ณ โรงหล่อพระ บนถนนพุทธมณฑล สาย 8 วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.31 นาฬิกา พราหมณ์เจ้าพิธีเป็นผู้บอกว่าเวลา เมื่อถึง 13.30 น. นั้น ยังเป็นยามของพญานาค เมื่อเลยเวลา 13.30 น. แล้ว ก็จะเข้าสู่ฤกษ์ของพระฤๅษี ซึ่งสามารถทำพิธีปลุกเสกฤๅษี (พ่อแก่) ได้

การทำเหรียญพ่อแก่วิธีหล่อดินไทย เกจิเชื่อว่าขลังและเท่ ที่ได้ทำขึ้นใหม่เป็นรุ่นเจริญสุข โดยมีเกจิสำคัญแห่งยุคเป็นเจ้าพิธี ประกอบด้วยพระอาจารย์ติ๋ว (พระครูวิมลญาณอุดม) เกจิแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก วัดมณีชลขัณฑ์ อาจารย์หนึ่ง (พระครูสุธรรมโฆษิต) วัดเชิงท่า ลพบุรี ผู้สวดยัติภังค์ในขณะเททองหล่อเหรียญ มีพราหมณ์เปลี่ยน หัทยานนท์ เกจิด้านคาถาอาคม จากสำนักวัดเขาอ้อ ควนขนุน พัทลุง เป็นศิษย์ของขุนพันธรักษ์ราชเดชที่ยังมีชีวิตอยู่ (83 ปี) และหมอฟอร์ด (นายแพทย์ดนัย โอวัฒนาพานิช) ผู้ศึกษามาทางวิทยาศาสตร์และศึกษาโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นเกจิแห่งสมัยอีกท่านหนึ่ง

ในช่วงย่ำค่ำ (เวลา 18.00-20.00 น.) ได้ทำพิธีปลุกเสกพ่อแก่อีกครั้งหนึ่ง ที่บ้านหมอฟอร์ด ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดกัลยาณมิตร มีหลวงพ่อใจ
ฐิตาจาโร (พระครูวินัยธรฐานานุกรม พระเทพสมุทรโมลี) วัดพระยาญาติ เกจิจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม มีพราหมณ์เปลี่ยน หัทยานนท์ จากพัทลุง และมีหมอฟอร์ด นพ.ดนัย โอวัฒนาพานิช เป็นเจ้าพิธี สวดอธิษฐานจิตเดี่ยว พร้อมวัตถุมงคลชุดกุมารทอง นารายณ์พลิกแผ่นดิน พบว่าเกจิแต่ละท่านมีประวัติที่ยืดยาว ล้วนผ่านการศึกษาจากอาจารย์ขมังเวททั้งสิ้น

มูลเหตุการณ์ทำเหรียญพ่อแก่ เพราะมีท่านเกจิได้ทักว่า “ชีวิตกำลังมีเคราะห์ เพราะบริวารเป็นพิษ ให้ทำบุญทำทาน เพื่อที่จะสร้างบริวารใหม่” เกจิก็ยังทักอีกว่า มีองค์อยู่ในตัว จึงถือโอกาสสร้างเหรียญพ่อแก่ ซึ่งเป็นฤๅษีที่เคารพบูชาของหมู่ศิลปินทั้งหลาย โดยได้ขออนุญาตครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เพื่อสร้างเหรียญพ่อแก่รุ่นเจริญสุข ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ช่างเษมเป็นคนปั้นต้นแบบ ท่านเกจิเป็นผู้เลือกวันทำพิธี ฤกษ์ยามนั้น ถือวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2562 เวลา 13.31 นาฬิกา เป็นวันทำพิธีเทหล่อเหรียญ

ในการปลุกเสกครั้งนี้ มีพ่อแก่ที่ตั้งใจหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ที่มีเนื้อชนวนรวม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากเกจิทั้งหลาย โดยเฉพาะหมอฟอร์ด เพื่อหล่อเหรียญมวลรวม จำนวน 999 เหรียญ ส่วนที่เป็นเนื้อเงินอีก 100 เหรียญ ในวันทำพิธีนั้น ได้หล่อเนื้อทองแดง 99 เหรียญ เพื่อแจกให้แก่ผู้ติดตาม ลูกศิษย์เกจิทั้งหลาย เมื่อเสร็จแล้วก็ทุบเบ้าหล่อทิ้งเสีย เพื่อให้กิจกรรมที่ทำจบลงแค่นั้น เป็นเสร็จพิธี

เดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนเกิด จึงถือโอกาสแจกเหรียญให้แก่ลูกศิษย์และผู้ที่ชอบพอรักใคร่กัน ซึ่งให้บริจาคสมทบเหรียญพ่อแก่ตามใจศรัทธา เป็นความหมายในการแลกเปลี่ยนซึ่งของมีค่าให้แก่กัน ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า “ไม่มีของฟรีในโลก” โดยคิดค่ากำนลได้ ก็จะมอบให้แก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ทั้งหมด เพื่อจะได้นำไปทำกิจกรรมดนตรี ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่ต้องการเรียนดนตรีต่อไป

ความรู้ใหม่ พบว่า ในพิธีของหมอผี พิธีพราหมณ์ และพิธีของพุทธนั้น ปะปนกัน ยืมกันไปยืมกันมา เห็นส่วนไหนดีก็เอาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเซ่นสังเวย มีตั้งแต่ของดิบ ของสุก เครื่องคาวหวาน ส้ม กล้วย อ้อย ผลไม้ ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า ยาสูบ หมาก พลู ซึ่งตั้งไว้บูชาเซ่นผี อสุรกาย ฤๅษีผู้บำเพ็ญภาวนา ไปกระทั่งเทวดา ได้รับการอัญเชิญให้มาอยู่ในพิธีเพื่อรับเครื่องสังเวย เกจิท่านได้บอกว่า ให้ตั้งจิตอธิษฐาน
“อากาเสสติ เจ้ากรรมนายเวร ศัตรูหมู่มารทั้งหลาย ขอจงไปสู่ที่ชอบที่ชอบเถิด อย่าได้มีเวรมีกรรมต่อกันเลย”

ในสมัยใหม่นั้น ความเชื่อ ความศรัทธา ก็น่าจะหายไปจากสังคมไทยมากแล้ว ขณะเดียวกันพบว่า เมื่อเจ้ากระทรวงทุกกระทรวง (รัฐมนตรี) เดินเข้าไปทำงานวันแรกที่กระทรวงใหม่ เจ้ากระทรวงทุกคนต่างก็จุดธูปเทียน พร้อมเครื่องสักการะ ไหว้พระภูมิเจ้าที่ ไหว้ทั้งผีสางเทวดา เจ้ากระทรวงบางคนยังต้องหาพระหรือหมอดูช่วยจับยามสามตาก่อน

แม้จะเชื่อว่า “พิธีกรรมบางพิธีก็ล้าสมัยไปแล้ว แม้ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย แต่ระหว่างทำกับไม่ทำ ก็ให้เลือกที่จะทำดีกว่า เพราะเมื่อได้ทำไปแล้ว รู้สึกสบายใจกว่า”

ความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์นั้น ถือความศรัทธา ความรัก ความเมตตา และความกตัญญู เป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นความเอื้ออาทรต่อกัน ถือเป็นเสบียงอันประเสริฐในการดำเนินชีวิต แต่ความผูกพันของลูกน้องกับเจ้านายนั้นไม่มี เพราะขึ้นอยู่ที่ผลประโยชน์ที่มีต่อกัน
การหล่อเหรียญพ่อแก่ครั้งนี้ ถือเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาและความกตัญญู ถือเป็นมงคลแห่งชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image