คอลัมน์ โลกสองวัย : วันวานที่ผันผ่าน-คือ นิภา บางยี่ขัน

นรนิติ เศรษฐบุตร เล่าว่า ความเป็นกวีของนิภา บางยี่ขัน ไม่เคยจางหาย บทกวีจึงเป็นของดีมีค่าราคายิ่ง คนอาจ มองข้ามไป แต่คุณค่ายังคงอยู่พิสูจน์ได้ทุกเวลา บทกวีรวมเล่มของเธอบ่งบอกว่า “ชื่นใจเหมือนกวีไม่มีเลย”

แล้วมาถึง ชัชวาลย์ อินทรภาษิต-นิภา ทองถาวร ที่ผมรู้จัก “ห้าสิบปีกว่าที่คบกัน นิภายังเหมือนเดิม คือให้ความเป็นเพื่อนที่สนิทมาก รู้ใจกันหลายอย่าง นับถือและไม่นับถือกันก็หลายอย่าง ดีใจที่นิภามีโอกาสรวบรวม ‘เดี่ยวนิภา 1’ ได้สำเร็จ หลังเคยบ่นว่า เขียนกลอนไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วผมจะได้หายสับสนเสียทีว่า กลอนบทไหนเป็นของนิภา บทไหนเป็นของทวีสุข ทองถาวร ขอให้เธอสุขภาพแข็งแรงสู้ต่อไปยัยต๋อย”

“พี่นิภา” เพื่อนรุ่นน้อง-ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนถึง นิภา บางยี่ขัน ว่า

ร่ำลือกันว่า-นิภา บางยี่ขัน-นิภา บางยี่ขัน ทองถาวร

Advertisement

สรวยโสตรยิ่งกว่านั้นคือ

“นิภากวี มีอะไรต่างไปกว่า บุษบา ท่าพระจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 9”

งานกวีนิพนธ์ของพี่นิภา ถ้าอ่านด้วยตาเนื้อ ความไพเราะ คล้องจอง บรรเจิดเลิศตระการย่อมผ่านจากตาเนื้อกระทบโสตร

Advertisement

แต่ถ้าอ่านด้วยตาใน จะได้ยินความพริ้งเพราะของดนตรีที่เล่นถูกทำนอง ถนอมเนื้อเหมือนบุพเพสันนิวาสผลัดผ่านฉากมาเบาๆ

ขอให้เชื่อเถอะว่า การส่งเสริมการอ่านในประเทศด้อยพัฒนาแห่งนี้ยังต้องดำเนินต่อไป และถ้าถ้อยคำคือสติปัญญา ก็น่าเชื่ออีกว่า ทั้งแผ่นดินจะไม่มีใครยากจน ถ้ารักและหลงใหลในการอ่านโคลงฉันท์กาพย์กลอน

หนังสือกวีนิพนธ์ของพี่นิภาเล่มน้อยๆ เล่มนี้ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของเสี้ยวสมองของผู้เขียน

อ่านด้วยความรักเถิด โลกจะเป็นโลกที่น่ารักอย่างเดิม

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เขียน คือนิภา บางยี่ขัน “ผมรู้จักพี่นิภา บางยี่ขัน ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2506 และได้รู้จักตัวจริงในปี 2507 เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมของชุมนุมวรรณศิลป์ในชุดที่ ‘เสาวรส ทองเจิม’ (รศ.เสาวรส ณ บางช้าง) เป็นประธานชุมนุม ฯลฯ รุ่นใหญ่ที่สุดที่ได้คุ้นเคย ในยุคนั้น คือ นิภา บางยี่ขัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทวีสุข ทองถาวร และดวงใจ รวิปรีชา และอีกหลายคน ถึงรุ่นผม ศุภกิจ นิมมานนรเทพ เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร ชาญชัย ลวิตรังสิมา ปราณีต ประดิษฐสาร ดร.ปรัชญา เวสารัชช์

“พี่นิภาให้คำแนะนำแก่รุ่นน้องๆ ในการเขียนกลอนตลอดจนการแข่งขันกลอนสด ไม่ทำให้มือใหม่เสียกำลังใจ วิธีติติงก็นุ่มนวลเพียงบอกว่า ‘ก็ดีอยู่นะ แต่พี่ไม่ค่อยชอบ’ เท่านี้พอเดาได้ว่ากลอนของเราไม่ได้เรื่อง จนกว่าพี่จะบอกว่า ‘ชิ้นนี้ดีนะ’ หรือ ‘ตรงนี้พี่ชอบ’ ก็แปลว่ากลอนของเราสอบผ่าน”

อีกคนหนึ่ง พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล นักกลอนธรรมศาสตร์รุ่นราวคราวเดียวกับ นิภา บางยี่ขัน วันนี้ผันตัวเองไปเป็นนักการเมืองระดับรัฐมนตรี เขียนถึง 80 ปี บุษบา ท่าพระจันทร์ ยังคงวาดแววบทกลอน ฝากไว้ใน “คืนวันที่ผันผ่าน”

“ชื่อนิภา บางยี่ขัน เมื่อวันก่อน คือสตรีนักกลอนพรสวรรค์ สมญานาม ‘บุษบา ท่าพระจันทร์’ ยอดกวีวงวรรณคู่ขวัญโดม และ เป็นดาวเด่นประจำธรรมศาสตร์ ทุกบทบาทสร้างสรรค์อย่างมั่นเหมาะ คณะสังคมศาสตร์องอาจเฉพาะ นักสังคมสงเคราะห์เสนาะสำเนียง กับ ขอให้ ‘คืนวันที่ผันผ่าน’ ได้สืบสานอยู่อย่างนั้นนิรันดร์สมัย เป็นธงทองฉลองขวัญวรรณศิลป์ไทย เป็นหลักชัยให้จดจำตำนานกลอน”

สุดท้ายจากน้องร่วมชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ ซึ่งผันผ่านชีวิตครองกาสาวพัสตร์ในนาม ชาญชัย อธิปฺญโญ (ลวิตรังสิมา) ฝากชื่นชม …ควบคุมจิตมั่นด้วยปัญญา…ปิดท้ายว่า

“อาตมาขอชื่นชมและอนุโมทนาในความสามารถด้านกวีนิพนธ์ของโยมพี่นิภา ทองถาวร (บางยี่ขัน) ขอให้คุณประโยชน์จากความเพียรสร้างสรรค์งานนี้ จงเกื้อกูลหนุนนำให้โยมพี่ประสบแต่สิ่งดีงามในชีวิตมีความสุข และสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา”

หาซื้อตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้ โทรศัพท์ไปที่ 0-2636-6550-8 น่าจะทราบว่ามีจำหน่ายที่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image