สุจิตต์ วงษ์เทศ : อยุธยาเมืองเก่า ถูกทำลายซ้ำซาก จากประวัติศาสตร์สงคราม

ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าของพระนครศรีอยุธยา (สร้างด้วยสถาปัตยกรรมเมื่อ พ.ศ.2484) ยกเป็นศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา แล้วไปสร้างศาลากลางหลังใหม่อยู่นอกเกาะเมือง เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์อยุธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ซึ่งควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง ที่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการที่ยังอยู่ในเกาะเมืองควรดูเป็นเยี่ยงอย่าง

“ประวัติศาสตร์สงครามถูกสั่งให้จำ แล้วถูกทำให้ลืมประวัติศาสตร์สังคม” ด้วยอำนาจนิยมทางการเมืองในไทย ทำให้การศึกษาไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคมที่บอกเล่าวิถีชีวิตประจำวันของคนทุกชนชั้นสมัยนั้นๆ

ส่งผลให้เกิดการทำลายอย่างต่อเนื่องยาวนานบรรดาหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่บอกสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนบ้านเมืองโบราณทั่วประเทศ ตั้งแต่หลังกรุงแตก ราว 250 ปีมาแล้ว

แนวแก้ไขทางหนึ่งอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ให้ความสำคัญประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม แล้วลดเนื้อหาประวัติศาสตร์สงคราม

ประวัติศาสตร์สงคราม ทำลายสังคม

ราว 60 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2510) ครบ 200 ปีกรุงแตก ภาคประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องรัฐบาลเผด็จการเลิกทำลายอยุธยาทางหลักฐานประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, โบราณคดีและศิลปกรรม ขอให้อนุรักษ์อยุธยา “เมืองน้ำ” เป็นเมืองประวัติศาสตร์

Advertisement

รัฐบาลเผด็จการทหาร ฟัง แต่ไม่ได้ยิน ส่งผลอยุธยาถูกทำลายต่อไปจนยับย่อยด้วยประวัติศาสตร์สงคราม

ประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งเป็น “ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก” เต็มไปด้วยสงคราม โดยไม่มีสังคม ไม่มีเรื่องราว “กินขี้ปี้นอน” ของคนหลายเผ่าพันธุ์และหลายชนชั้น ซึ่งล้วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้

จึงมีการทำลายหลักฐานโบราณคดีทางประวัติศาสตร์สังคมเกือบหมดเกาะเมืองและปริมณฑลสองฝั่งแม่น้ำลำคลองในอยุธยา ด้วยเหตุผลต่างๆ จากธรรมชาติและมนุษย์ ทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยเจตนา (เพราะ รู้ทั้งรู้ แต่พร้อมทำลาย) ซึ่งกรมศิลปากรต้องขอระงับแล้วรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นที่ทำลายหลักฐาน

Advertisement

หลักฐานประวัติศาสตร์สังคม

หลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมสมัยอยุธยา ที่ถูกทำลายทั้งจากราชการและไม่ราชการ ได้แก่

บ้านเรือน, ตลาดที่มีอาคารเป็นตึกและเรือนไม้, ถนนหนทางทั้งปูด้วยอิฐและไม่ปูอิฐ, สะพานทั้งสร้างด้วยอิฐและไม้, คลองมีมากตัดกันเป็นตาราง, ท่าเรือมีทุกหนแห่งทั้งในเมืองและนอกเมือง, ซ่องโสเภณีมีทั้งตึกและเรือนไม้ อยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง ฯลฯ

คลองเทพหมี (บางทีเรียกคลองเทศหมี) เป็นคลองต่อจากบึงพระราม (อยู่ทางเหนือ) ลงไปเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา (อยู่ทางใต้) ผ่านย่านการค้านานาชาติ ได้แก่ เจ๊ก, แขก, ฝรั่ง

สะพานข้ามคลองเทพหมี (ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกสะพานวานร) เป็นสะพานก่ออิฐมีช่องโค้ง 3 ช่องให้เรือลอดผ่านเข้าออก (ซึ่งพบไม่มากในอยุธยา) โครงสร้างแบบเปอร์เซีย (อิหร่าน) เพราะอยู่ใกล้บ้านเฉกอะหมัดอันเป็นหลักแหล่งพ่อค้าแขก (อินเดีย, เปอร์เซีย) และพ่อค้าฝรั่ง (วิชาเยนทร์) ต่อเนื่องทางตะวันออกเฉียงใต้ถึงตลาดพ่อค้าจีน ป้อมเพชร (นิวาสสถานเดิมของ ร.1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรุงรัตนโกสินทร์)

คลองเทพหมีและสะพานโค้งก่ออิฐข้ามคลอง อยู่ด้านหลัง สถาบันอยุธยาศึกษา (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา) ที่ควรมีภาระสำคัญแบ่งปันข้อมูลข่าวสารและความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์คลองและสะพาน ตลอดจนวิถีไพร่บ้านพลเมืองโดยรวมของสังคมอยุธยา

คู่มือนำชมโบราณสถานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยสถาบันอยุธยาศึกษา มีผู้ส่งแล้วปริ๊นต์ออกมาเป็นแผ่นกระดาษให้อ่าน ผมอ่านแล้วขอขอบคุณสถาบันฯ แต่ต้องขยันทำงานวิชาการสู่สาธารณะมากๆ และหลากหลายกว่านี้รวมทั้งอย่างง่ายๆ กว่านี้

อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน

สังคมบริเวณอยุธยามีความเป็นมานานนับร้อยปีพันปีก่อนมีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ตัดตอน” เอาแค่ พ.ศ.1893 เลยทำให้ “ด้วน” อย่างควรจะไม่เป็น

อยุธยาสืบเนื่องอโยธยาซึ่งมาจากการรวมกันของ 2 รัฐใหญ่สมัยนั้นนานหลายสิบปี (อาจจะเป็นร้อยปี) ก่อน พ.ศ.1893 ได้แก่ 1.รัฐสยาม (สุพรรณบุรี) พูดภาษาไต-ไท กับ 2.รัฐละโว้ (ลพบุรี) พูดภาษาเขมร

ต่อเรื่องนี้ ร.5 มีพระราชกระแสไว้มากกว่า 100 ปีมาแล้ว และโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ “นักโบราณคดีคนแรกของสยาม” ขุดแต่งโบราณสถานตามแบบตะวันตกเพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

หลัง พ.ศ.2475 คณะราษฎรปลุกกระแส “อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน” เป็นสมบัติของประชาชนตราบจนปัจจุบัน โดยสถาปนากรมศิลปากรเป็นหน่วยงานดูแลสมบัติเหล่านี้เพื่อประชาชนทั้งประเทศและมนุษยชาติทั้งโลก

ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยกับนักโบราณคดีกรมศิลปากร ควรร่วมมือทำวิจัยหาเหตุว่าทำไมจึงไม่ได้ผลในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์อยุธยา? จนเป็นเหตุให้มีการทำลายไม่หยุดหย่อน

ต้นเหตุการทำลายจากท่องจำประวัติศาสต์สงคราม แล้วลืมประวัติศาสตร์สังคม จริงไหม? เมื่อรู้เหตุแล้วต้องร่วมสามัคคีกันแก้ไขอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องเคร่งครัดต่อกฎ กติกา มารยาท อย่าทำลายอีกซ้ำซาก ซึ่งแม้จะยากมาก แต่ไม่ควรสิ้นเพียร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image