คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Great Hack ‘ประชาธิปไตย’ ถูกดิสรัปต์โดยใครกันแน่?

ภาพประกอบทั้งหมดจาก Youtube Video/Netflix

หากยุคหนึ่งโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก” “ทวิตเตอร์” คือเครื่องมือใหม่ของโลกที่เคยได้รับการยกย่องเชิดชู เมื่อครั้งมีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และผู้คนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้รายงาน “เรื่องจริง” “ภาพที่เห็น” “ข้อเท็จจริง” ตรงหน้า ให้คนทั้งโลกได้รับรู้จนเกิดการลุกฮือหรือปฏิวัติครั้งสำคัญ เช่น “อาหรับสปริง” “การปฏิวัติดอกมะลิ” ในตูนิเซีย ที่ประชาชนลุกขึ้นมาเดินขบวนอย่างเข้มข้นตามท้องถนนและใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารในประเทศ และนอกประเทศจนเกิดกระแส กระทั่งนำไปสู่การโค่นล้มประธานาธิบดีผู้ครองอำนาจมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ

แต่ภายในเวลาเพียงไม่ถึงทศวรรษ โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นกระจกอีกด้านที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความฉ้อฉลทางการเมืองไปด้วยเช่นกัน

ภาพยนตร์สารคดีจากเน็ตฟลิกซ์ “The Great Hack” ย้อนรอยพาไปดูเหตุการณ์ลักลอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจากเฟซบุ๊กของบริษัท “เคมบริดจ์ อะนาลิติกา” (Cambridge Analytica) บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองสัญชาติอังกฤษที่รับงานแคมเปญหาเสียงสนับสนุน “โดนัลด์ ทรัมป์” โดยบริษัทหาประโยชน์จากข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นชาวสหรัฐและเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่า 87 ล้านบัญชี โดยไม่ถูกต้อง และนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้าง “คอนเทนต์” โฆษณาชวนเชื่อและสร้างข่าวปลอมในทางการเมืองช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2016 และถูกสรุปว่าเป็นกลไกลหนึ่งที่นำมาสู่ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

ทั้งยังถูกเชื่อมโยงว่าบริษัทนี้อาจเกี่ยวข้องกับกรณีแคมเปญโหวตสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิท” ของกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองขวาจัดไปจนถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นล็อบบี้ยิสต์และปรากฏการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศ

Advertisement

หลังเรื่องอื้อฉาวถูกเปิดโปง เคมบริดจ์ อะนาลิติกา ปิดตัวบริษัทลง ขณะที่ “เฟซบุ๊ก” ต้องยอมจ่ายค่าปรับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.5 แสนล้านบาทไทย เพื่อไกล่เกลี่ยคดีละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก

หนังสารคดีพาไปดูกลยุทธ์ทางการเมืองแบบ “สื่อสารการตลาด” บนโซเชียลมีเดียของ “เคมบริดจ์ อะนาลิติกา” ที่เข้ามาทำแคมเปญการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่ามีข้อมูลผู้มีสิทธิโหวตและสามารถช่วยให้ลูกค้าชนะเลือกตั้ง ทั้งการยิงข่าวปลอม การโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมคนในโซเชียล ส่งไปหาคนที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลวงนั้น ผ่านโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า “อลาโม” โดยบริษัท เคมบริดจ์ อะนาลิติกา เข้ามารับผิดชอบดูแลใช้เงินลงโฆษณาในเฟซบุ๊กถึงวันละ 1 ล้านดอลลาร์

Advertisement

จะว่าไปก็คือวิธีการ “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” ผสมผสานการ “สื่อสารการตลาด” ระดับเข้มข้นสีเทาในทางการเมือง

ผลที่เห็นคือมี “ข่าวปลอม” ผุดเต็มบนโซเชียลมีเดีย และการทำแคมเปญการเมืองบนโซเชียลที่ดุเดือด

ภาพยนตร์สารคดี “The Great Hacker” แสดง “จุดยืน” ทางการเมืองชัดเจนอยู่มากว่า มุ่งเป้าตั้งคำถามต่อกลุ่มการเมือง “ขวาจัด” ผ่านการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นักวิชาการ และเอ็นจีโอสายลิเบอรัลและสายสิทธิมนุษยชน ที่กังวลถึงการใช้โซเชียลมีเดียมาเป็น “อาวุธใหม่” ในการหาเสียงเลือกตั้งแบบใส่ร้ายป้ายสี

ขณะเดียวกันยังฟาดไปที่ “บริษัทเทคโนโลยี” ยักษ์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสำคัญทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ว่ากำลังจะทำให้ประชาธิปไตยในโลกใบนี้ถูกสั่นคลอนจากกรณี “เคมบริดจ์ อะนาลิติกา” ที่ลักลอบใช้ข้อมูลร่องรอยทางดิจิทัลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียแบบละเอียดและนำมาวิเคราะห์แนวคิด ทัศนคติ พฤติกรรมเพื่อสร้าง “คอนเทนต์” ในแคมเปญการเลือกตั้งที่โน้มน้าวและโฆษณาชวนเชื่อต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้ผลมากที่สุด และหนึ่งในนั้นคือ “ข่าวปลอม”

แม้ช่วงท้ายของหนังสารคดีพยายามจะพูดถึง “ประชาธิปไตย” ที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามา ดิสรัปต์ (disrupt) ในภาพรวม โดยไม่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง แต่เกินครึ่งเรื่องหนังก็ชี้เป้าไปแล้วต่อกลุ่มการเมืองฝั่งขวาจัดจากกรณีเลือกตั้งสหรัฐ

กระนั้นตัวหนังก็ทำให้เราเห็นความฉ้อฉลทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยี คืออาวุธทางปฏิบัติการทางจิตวิทยาชุดใหม่ที่ทำหน้าที่สร้าง โฆษณาชวนเชื่อได้ และอาจส่งผลต่อประชาธิปไตยภาพรวมได้จริง และสิ่งที่หนังชี้ให้เห็นว่าต้องขยับต่อไป คือ การเรียกร้องต่อการปกป้อง “สิทธิทางข้อมูล” บนโซเชียลมีเดียของเราทุกคนเปรียบดั่ง “สิทธิมนุษยชน” เช่นเดียวกันไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน ก็ไม่อาจมาล้วงเอาไปใช้ประโยชน์ได้โดยที่เราไม่ยินยอม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าคิดคือ แม้เคมบริดจ์ อะนาลิติกา จะทำสิ่งที่ไม่สมควรด้วยการลักลอบใช้ข้อมูลบนเฟซบุ๊กโปรไฟล์ส่วนตัวของประชาชนสหรัฐ และเฟซบุ๊กจะไม่รัดกุมต่อนโยบายความเป็นส่วนตัวมากพอ

แต่หากจะพูดถึงสิ่งที่ “สั่นคลอนประชาธิปไตย” ในสหรัฐแล้ว โดยเนื้อแท้เราน่าจะต้องเพ่งดูการเมืองสหรัฐก่อนหน้านี้เองว่าก็ถูกวิจารณ์จากคนในประเทศเสมอว่า มีความฉ้อฉลอยู่หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า “ซุปเปอร์แพค” หรือการทำกองทุนช่วยสนับสนุนผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะระดมเงินแบบมหาศาลจากนักธุรกิจใหญ่-มหาเศรษฐี และภาคเอกชนขนาดใหญ่มาสนับสนุนผู้สมัคร ซึ่งเกิดขึ้นทั้ง ผู้สมัครจากพรรครีพลับลิกันและเดโมแครต


“ซุปเปอร์แพค”
จึงถูกวิจารณ์อย่างมากมายาวนานแล้วว่าเป็นหนึ่งจุดมืดบอดของระบบการเมืองและการเลือกตั้งของสหรัฐ

แต่ถึงจะมีปัญหา “เออเร่อ” มีช่องโหว่จากระบบการเลือกตั้งในสหรัฐอย่างไร แต่บ้านเขาก็ยังวิพากษ์วิจารณ์และต่อสู้ทางการเมืองกันในรูปแบบประชาธิปไตย

ปลายปีหน้าสหรัฐจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอีกครั้ง แม้จะไม่มีบริษัท “เคมบริดจ์ อะนาลิติกา” เข้ามาเกี่ยวข้องได้อีกแล้ว แต่มันก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า โซเชียลมีเดียทรงพลังและเป็น “อาวุธ” สำคัญด้านโฆษณาแคมเปญทางการเมืองได้อย่างสำคัญยิ่งยวด เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีร่องรอยทางดิจิทัลของเรา บอกได้ว่า เราเป็นคนกลุ่มไหน มีแนวโน้มความเห็นทางการเมืองอย่างไร และแคมเปญทางการเมืองที่จะสร้าง “เรื่องราว” เพื่อให้อัลกอริทึ่มประมวลผลให้เข้าถึงตัวเราก็จะปรากฏขึ้น

เราจะเข้าสู่ยุคข่าวจริง ข่าวลวงอย่างน่าสับสนขึ้นไปอีก

บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นตัวบั่นทอนประชาธิปไตย เพราะมันจะถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองได้จากทั้งสองฝั่งการเมืองนั่นเอง

แม้ภาพยนตร์สารคดีราวกับจะให้น้ำหนักโทษว่าที่สหรัฐต้องมีประธานาธิบดีชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเหล่านี้ที่เชื่อมโยงกับแผนการปล่อยข่าวปลอมจนสามารถเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังลังเลได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่ต้องอย่าลืมว่าต่อให้ไม่มีโซเชียลมีเดีย ยุคหนึ่งที่ “อดอลฟ์ ฮิตเลอร์” และพรรคพวกใช้ฝีปากโฆษณาชวนเชื่อประชาชนให้สนับสนุนพรรคนาซี สิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งมันก็เป็นเรื่องของความมืดดำภายใต้จิตใจ “มนุษย์ล้วนๆ” โดยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนเลยด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image