คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : หลอกให้ดีใจ ปลดล็อกกู้ร่วม

สุภาษิตสินเชื่อ แบงก์ชาติไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นพ่อพระเจ้า (ฮา)

อันนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ หยอกแบงก์ชาติขำๆ ไปอย่างนั้นเองค่ะ

หัวข้อชวนคุยวันนี้ ลึกลับซับซ้อน บอกเลย แม้แต่กระจิบข่าวด้วยกันเองอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรก็ยังทำหน้างง งง

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าตลาดคอนโดมิเนียมเมืองไทย

Advertisement

อยู่ๆ บูมไม่ดูตาม้าตาเรือ ยุคน้ำขึ้นให้รีบตักเริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนมาพีคสุดขีดในปี 2561 เพราะมีกำลังซื้อจากคนไทยที่ซื้อเก็งกำไรเป็นปกติ

ที่ไม่ปกติคือมีกำลังซื้อต่างชาติไหลทะลักทลายเข้ามาซื้อ คิดดูนะ เคยโอนเงินถูกกฎหมายเข้ามาซื้อ

คอนโดอย่างเดียวปีละ 7 หมื่นล้าน ปีที่แล้ว (2561) เพิ่มเป็น 9.2 หมื่นล้าน

Advertisement

โรคเก็งกำไรคอนโดคงกำเริบหนัก แบงก์ชาติในฐานะผู้คุ้มกฎก็เลยสวมบทผู้รักษาอาการป่วย มีคนกระแนะกระแหนว่าตลาดคอนโดร้อนแรงมาก แบงก์ชาติตีความว่ามีการเก็งกำไรเข้าขั้นวิกฤต เหมือนคนเป็นมะเร็ง

เพราะฉะนั้น ก็เลยใช้ยาแรง ไม่ต้องกิน ไม่ต้องฉีด ให้คีโมมันเลยดีกว่า ว่าแล้วก็ออกมาตรการ LTV-loan to value หรือมาตรการบังคับเพิ่มเงินดาวน์ในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

ถ้าซื้อบ้าน-คอนโด 1 หลัง ถือว่าเข้าหลักการธรรมชาติเป๊ะ เพราะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ อันนี้เรียกว่าเรียลดีมานด์ หรือลูกค้าตัวจริง

มีอีกประเภทก็คือการซื้อเพื่อเก็งกำไร เวลาคนเราทำอะไรฝืนธรรมชาติมักจะจับผิดได้ง่าย กรณีนี้เขาก็ดูกันโต้งๆ เลยว่าซื้อบ้าน-คอนโดมากกว่า 1 หลังขึ้นไป

ปัญหาอยู่ที่ถ้าคนรวยเก็งกำไร แบงก์ชาติไม่ค่อยเดือดร้อนเพราะพวกมักใช้เงินสดซื้อ

แต่ถ้าประชาชนคนตาดำๆ หรือผู้บริโภคทั่วไป ถูกหลอกมั่ง ถูกความโลภเข้าสิงมั่ง ริอยากเก็งกำไรแต่ไม่มีปัญญา ก็ต้องใช้วิธีขอเงินกู้มาซื้อเก็งกำไร

ตรงนี้แหละเป็นวงจรอุบาทว์ที่แบงก์ชาติกลัวว่าถ้าคนรวยตัวปลอมแห่แหนกันมาขอสินเชื่อเพื่อเก็งกำไรมากเกินไป ถึงวันหนึ่งมีแต่คนขอเงินกู้ แต่ไม่มีใครชำระหนี้ วันนั้นแหละที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะพังเอา

แบงก์ชาติก็เลยต้องออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรคอนโด เคยซื้อง่ายขายเพลินเพราะถูกบังคับให้วางเงินดาวน์แค่ 10% ถ้าใครขอเงินกู้เพื่อซื้อหลังที่ 2 เอาไปเลย บังคับเงินดาวน์ 20% ยิ่งหลังที่ 3 เป็นต้นไปบังคับดาวน์ 30%

งานนี้ เพิ่งบังคับ LTV ใหม่แค่ 4 เดือนเศษ เพราะเริ่มใช้จริงวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีการสรุปตัวเลขไตรมาส 2/62 (เมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน 2562)

ว่ากันว่าสินเชื่อซื้อบ้านหลังเดียวไม่มีผลกระทบ แต่การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป ในภาพรวมติดลบ -13%

โฟกัสให้ชัดๆ ไปเลย สินเชื่อซื้อคอนโดหลังที่ 2 เป็นต้นไป ติดลบ -24.8% แปลว่าหายไป 1 ใน 4

อ่านมาตั้งนาน เริ่มงงแล้วชิมิ ว่า…แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการกู้ร่วม

สินค้าที่อยู่อาศัย แบงก์ชาติอยากสกัดเก็งกำไรคอนโด อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ คนซื้อบ้านแนวราบ ไม่ว่าบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ คิดเองเออเองว่าตรูไม่เกี่ยว นอนผึ่งพุงเล่นที่บ้านได้สบายใจเฉิบ

ปัญหามันดันมาเกิดอีตรงที่แบงก์ชาติเพลินไปหน่อย ดันไปออกกฎเหล็กควบคุมเรื่อง “การกู้ร่วม” (มีคนแอบนินทาให้ฟังว่าคิดแบบพ่อพระเจ้าไง)

ไม่รู้ว่าตีความเป็นกระบวนการสมคบคิดในการเก็งกำไรด้วยหรือเปล่า ก็เลยออกกฎหว่านแหไปเลยว่า การขอสินเชื่อแบบกู้ร่วมก็โดนด้วย

กล่าวคือ “ผู้กู้ร่วม” ซึ่งไม่ใช่ผู้กู้หลัก ถูกตราหน้า

เอ้ย ไม่ใช่ ถูกนับรวมว่าเป็นการขอสินเชื่อหลังแรกไปแล้ว

อีตอนที่ถูกยืมชื่อตัวเองยังไม่เคยซื้อบ้านสักหลัง อีตอนที่อยากซื้อบ้านหลังแรกตัวเอง ดันถูกพิพากษาว่าเป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2

ข้อแตกต่างคือ ถ้าซื้อบ้านหลังแรก เงินดาวน์แค่ 5% หรือล้านละ 5 หมื่น

แต่ถ้าถูกนับเป็นซื้อบ้านหลังที่ 2 เงินดาวน์กระโดดเป็น 20% หรือล้านละ 2 แสน

เพราะฉะนั้น การกู้ร่วมจึงไม่ใช่การห้ามซื้อบ้าน แต่ทำให้โอกาสในการซื้อบ้านของผู้กู้ร่วมหรือผู้ถูกยืมชื่อลดลง เพราะไม่มีปัญญาไปหาเงินดาวน์มาโปะแพงๆ

งานนี้ “พี่ต๊ะ-วสันต์ เคียงศิริ” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร บ่นกระปอดกระแปดตั้งแต่ปีมะโว้ ว่ากฎของการกู้ร่วมที่นับเป็นการซื้อหลังสอง เป็นการทำลายบรรยากาศการซื้อขายบ้านแนวราบ ซึ่งเกือบ 100% ไม่มีการซื้อเก็งกำไร

ต่อมา แบงก์ชาติคงโดนต่อว่าเยอะ ก็เลยส่งข่าวแจกตอน 1-2 ทุ่มของวันพะหัสที่ 15 สิงหาคม 62 จำได้เพราะนั่งปิดต้นฉบับหัวฟูอยู่บนชั้น 5 ออฟฟิศย่าน

วัดเสมียนนารี ประมาณว่าแบงก์ชาติปลดล็อกการกู้ร่วม

เรื่องใหญ่แบบนี้ต้องทำการบ้าน พอถามหลายๆ คน ดีเวลอปเปอร์ส่ายหัวกันด๊อกแด๊กๆ บางคนบอกว่างานนี้อาจดีใจเก้อ เพราะเกาไม่ถูกที่คัน

เขาบอกว่า (อย่ารู้เลยว่าเขาเป็นใคร?) ใน 100 รายที่กู้ร่วม เป็นบัญชีแบบ “ถือกรรมสิทธิ์ร่วม” ระหว่างผู้กู้หลักกับผู้กู้ร่วม 90-95 รายหรือ 90-95%

หมายความว่าเป็นการกู้ร่วมแบบผู้กู้ร่วม “ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม” กับผู้กู้หลัก เรียกว่าเป็นผู้กู้ลอยๆ ก็ได้ มีแค่ 5-10%

และเป็น 5-10% ที่แบงก์ชาติโพนทะนาว่าปลดล็อกสินเชื่อ ปลดล็อกการกู้ร่วมให้แล้วนะจ๊ะ

คนเดือดร้อนจากกฎการกู้ร่วมส่วนใหญ่ 90-95% ก็ปล่อยค้างเติ่งไว้อย่างนั้นแหละ

มีอีก 2 ขยักที่แหล่งข่าวแอบกระซิบมา 1.ตั้งแต่แบงก์ชาติตั้งกฎเหล็กการกู้ร่วมถูกนับเป็นหลังแรก ทำให้คนที่จะถูกยืมชื่อพร้อมใจกัน “ไม่ยอมเซ็น” เป็นผู้กู้ร่วม เพราะไม่อยาก ซ.โซ่-ว.แหวน-ย.ยักษ์

2.เอกชนชี้เป้าไปที่นายแบงก์นั่นแหละ ตัวดีเลย ใครที่ทำเรื่องกู้ร่วม นายแบงก์เจ้ากี้เจ้าการจับชื่อยัดใส่ช่อง “กรรมสิทธิ์ร่วม” ไม่ว่าจะถูกยืมชื่อมาโปะเครดิตมากหรือน้อย นายแบงก์ไม่สน

จับมัดตราสังไว้กับกรรมสิทธิ์ร่วมนี่แหละ แบงก์ปลอดภัยกว่ากันเยอะ

สรุป ปลดล็อกการกู้ร่วมให้กับสินเชื่อที่ไม่ถือกรรมสิทธิ์ร่วม โฟกัสช่วยคนกลุ่มน้อย 5-10% ทิ้งคนกลุ่มใหญ่อีกพะเรอเกวียนไว้ข้างหลัง

คนที่จะทำแบบนี้ได้ ไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นพ่อพระเจ้า สินะ (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image