แท็งก์ความคิด : ขยะที่ไม่ใช่ขยะ

ขยะพลาสติกกลายเป็นหัวข้อที่โลกต้องตระหนัก เพราะขยะเหล่านี้กำลังย้อนกลับมาคุกคามสิ่งมีชีวิต

เข้าหลักกฎแห่งกรรม มนุษย์ทำกรรม มนุษย์ก็ต้องรับกรรม

ดังนั้น โลกทั้งใบจึงเริ่มออกรณรงค์กันเรื่องขยะพลาสติก รวมไปถึงขยะอุตสาหกรรม

ทำอย่างไรให้ลดลง ทำอย่างไรให้หายไป

Advertisement

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เอสซีจี จัดงาน SD Symposium 10 Years : Collaboration for Action ขึ้นมา

อ่านรายละเอียดที่มีการนำมาเผยแพร่แล้วเห็นทางออกของปัญหาขยะพลาสติก

ภายในงานวันนั้น รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าให้ผู้เข้าฟังได้ยิน

Advertisement

ปี ค.ศ.2050 คาดว่าประชากรโลกจะสูงถึง 9.7 พันล้านคน

คนจำนวนที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

แต่ทรัพยากรโลกมีจำกัด เราจะอยู่กันอย่างไร

ข้อมูลสำหรับประเทศไทย รุ่งโรจน์เปิดเผยว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน

ปี 2561 ไทยมีขยะถึง 28 ล้านตัน หากขาดการจัดการที่ดีจะมีปัญหา

ขยะส่วนหนึ่งไหลลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์ทะเลตาย ดังเช่นกรณีพะยูนมาเรียม

ทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว รุ่งโรจน์บอกว่า แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy สามารถช่วยได้

เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการหมุนเวียนเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีก หรือ Make-Use-Return

Make คือ ผลิตสินค้าโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด

Use คือ ใช้สินค้านั้นๆ อย่างคุ้มค่า

Return คือ นำกลับมาผลิตใหม่ สร้างประโยชน์ใหม่ เพื่อให้คุ้มค่าสูงสุด

สำหรับเอสซีจีนั้นนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก

หนึ่ง Reduce และ Durability หรือการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต

และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น

สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม

เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากเยื่อธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้กล่องโฟม

สาม Reuse หรือ Recycle ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วให้กลับมาใช้ใหม่

ภายในงานแสดงความสำเร็จในการร่วมมือกับพันธมิตรกว่า 45 ราย

ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน

พร้อมกันนี้ยังเอื้อมมือไปเกี่ยวกับภาคีเครือข่ายระดับโลกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือสหประชาชาติ

ถ้าภาคีเครือข่ายนี้ขยายตัว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง

นี่ถ้าภาคเอกชนเริ่มต้นแล้วภาครัฐเข้าไปหนุนเสริม และนำเอาความหลากหลายในชุมชนเข้ามาผนึก

ไทยน่าจะมีโมเดลลดขยะที่สัมฤทธิผลในรูปแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้

เชื่อว่า ณ ปัจจุบันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนรับทราบถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้น

หลายชุมชนจัดการขยะเปียกขยะแห้งไปตามกำลังที่มีอยู่

ชุมชนไหนจัดการได้ ความสุขความปลอดภัยก็เกิดขึ้นในชุมชนนั้น

ความสำเร็จของชุมชนเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือ

ความร่วมมือเกิดขึ้นได้เพราะการส่งให้เสริมทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จเรื่องขยะมักเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม

ก่อเกิดเป็นความร่วมมือ และเดินเข้าสู่เป้าหมายไปด้วยกัน

วันนี้โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะพลาสติก

ได้ยินว่า ภาคีกว่า 35 บริษัทชั้นนำของโลกตั้งใจจะจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล

ได้ยินมาว่า มีความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดการขยะพลาสติกในไทย

ตั้งเป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570

ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570

นอกจากนี้ ยังได้ยินว่ามีความร่วมมือกับคนในชุมชนหลายแห่งเพื่อจัดการปัญหาขยะนี้แล้ว

แม้ฟังแล้วพบวิธีจัดการขยะที่คล้ายๆ เก่า เช่น การคัดแยกขยะ แต่ความคึกคักครั้งใหม่มีมากกว่าเดิม

ที่ผ่านมา เมื่อคัดแยกขยะเสร็จ ทุกอย่างก็จบ ไม่รู้ว่าจะแยกขยะไปทำไม

แต่ตอนนี้ เมื่อมีการเชื่อมต่อข้อมูล ทำให้คนในชุมชนรู้ว่าขยะที่คัดแยกนั้นสามารถ “หมุนเวียน” นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

บางส่วนกลับมาใช้งานได้อีก บางส่วนแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้

เมื่อคนรู้ว่ามีประโยชน์ สุดท้ายความร่วมมือก็เกิดในชุมชน

และความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นในลำดับต่อมา

เหมือนดั่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

เกิดขึ้นในชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ชุมชนโขดหิน 2 และชุมชนเขาไผ่ อ.เมือง จ.ระยอง

เช่นเดียวกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

รวมทั้ง โรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ ในเขตกรุงเทพฯ ด้วย

ทุกแห่งที่กล่าวมาดำเนินการได้สำเร็จเพราะเกิดความร่วมมือ

ร่วมมือกันใช้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดการกับขยะพลาสติก

ทำขยะไม่ให้เป็นขยะด้วยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

วันนี้เครือข่าย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เริ่มก่อตัว

บางทีอีกไม่นาน พลาสติกที่ถูกมองว่าเป็นขยะจะกลายวัตถุดิบในการผลิต

ไม่ได้เป็นขยะที่ใช้แล้วทิ้งเหมือนดั่งปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image