คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Joan Didion : The Center Will Not Hold แด่ ‘โจน ดิเดียน’ นักเขียนสารคดี ผู้สะท้อนยุคสมัยอันปั่นป่วน

ภาพประกอบ Youtube Video/Netflix

“โจน ดิเดียน” คือนักข่าว คอลัมนิสต์ และนักเขียนหญิงชาวสหรัฐอเมริกา หนึ่งในตำนาน “นักเขียนสารคดี” ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งยุค ด้วยผลงานคลาสสิกอย่าง “The Year of Magical Thinking” ที่ถูกยกย่องในฐานะหนังสือที่สำแดงเรื่องเล่าอันทรงพลัง ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความอาลัยแด่ผู้สูญเสีย

เหนือสิ่งอื่นใดเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้คือ การเยียวยาต่อผู้ที่ยังอยู่ และต้องใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปให้ได้ด้วยเช่นกัน

“The Year of Magical Thinking” ติด 1 ใน 100 หนังสือน่าอ่านและควรได้อ่านแห่งยุค คุณค่าที่มิใช่เพียงที่หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัล “National Book Award” สาขางานเขียน Nonfiction ทั้งยังเข้ารอบสุดท้ายของ “National Book Critics Circle Award” และ “Pulitzer Prize” สาขาวรรณกรรมชีวประวัติ/อัตชีวประวัติ

“โจน ดิเดียน” เขียนหนังสือเล่มนี้ในช่วงวัยกว่า 70 ปี เมื่อปี 2004 หลังการจากไปอย่างกะทันหันของสามีคู่ชีวิต ผู้เป็นทั้งคู่ทุกข์คู่ยาก คู่คิดทางปัญญา จิตวิญญาณ และทุกอย่างของกันและกัน ขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เธอยังต้องเผชิญความเศร้าโศกกับสถานการณ์ที่ลูกสาวบุญธรรมที่รับมาอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะเกิดล้มป่วยและโคม่ายาวนาน กระทั่งเสียชีวิตหลังเธอเขียนหนังสือเล่มนี้จบได้เพียงไม่นาน

Advertisement

ภาพยนตร์สารคดีชีวิตเรื่อง “Joan Didion : The Center Will Not Hold” กำกับโดย “กริฟฟิน ดันน์” หลานชายของเธอ ได้ถ่ายทอดบริบทชีวิตของนักเขียนหญิงยิ่งใหญ่คนนี้ให้เราได้เห็นทุกช่วงชีวิตสำคัญ ความรู้สึกนึกคิดในห้วงต่างๆ พร้อมด้วยตัวอย่างบางถ้อยคำในงานเขียนที่เธอกลั่นออกมาในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยังเป็นสาวสะพรั่งจวบจนในวัยชรา

ตัวหนังสารคดีจะเล่าเรื่องราวของเธอตั้งแต่จุดเริ่มต้น ตัดสลับการใช้เสียงบรรยายอ่านงานเขียนบทความข่าว นิยาย และงานเขียนสารคดีของเธอเข้าไปในหนังสารคดีด้วย

วิธีเล่าเรื่องแบบนี้ ทำให้เข้าถึง เข้าใจ มองเห็น และสัมผัสความเป็น “โจน ดิเดียน” ได้ลึกซึ้งขึ้น

Advertisement

ปัจจุบันในวัย 84 ปี โจน ดิเดียน ได้รับการยกย่องในฐานะนักเขียนคนสำคัญผู้สะท้อนวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยของสหรัฐอเมริกา ด้วยสไตล์การเขียนที่เฉียบขาด สร้างสรรค์ผลงานที่ตรงไปตรงมา เปี่ยมด้วยความรอบรู้ ทำให้เรื่องราวแห่งปัจเจกมีความสากล สะท้อนรายละเอียดที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่แท้จริงเป็นหัวใจของชีวิต

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…

ย้อนไปตั้งแต่งานเขียนยุคเริ่มแรก “โจน ดิเดียน” เริ่มต้นอาชีพนักเขียนบทความที่นิตยสารโว้ก มีสไตล์งานเขียนแนว “ปัจเจก” (Personal) ด้วยลีลาการเขียนที่ไม่ได้ผลิตออกมาในแบบฮาวทู หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับสาวๆ แต่ระดับงานเขียนของเธอ มีชั้นเชิงทางภาษาในรูปแบบการพินิจไตร่ตรอง

ขณะที่หากย้อนไปไกลกว่านั้น พรสวรรค์ใน “งานเขียนแบบคิดคำนึง” ของเธอถูกค้นพบครั้งแรกผ่านสมุดบันทึกที่แม่ให้มาตอน 5 ขวบ

“แม่บอกให้ฉันเลิกบ่น และเรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยการจดบันทึกจากความคิดของตัวเอง” เธอเล่าไว้

บันทึกเรื่องแรกของเด็กหญิงโจน ดิเดียน คือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองกำลังจะแข็งตายในคืนอันมืดมิดแถบอาร์กติก เพียงเพื่อที่จะได้รู้เมื่อรุ่งสางว่าเธออยู่ในทะเลทรายซาฮาร่า ที่เธออาจตายด้วยความร้อนก่อนจะถึงมื้ออาหารเที่ยง

มิใช่เพียงแค่จินตนาการของเด็กหญิงอายุเพียง 5 ขวบ ที่คิดธีมเรื่องนี้ขึ้นมาในสมุดบันทึกเท่านั้น แต่สมุดเล่มนี้ได้เผยความชื่นชอบของเธอขึ้นมาแล้ว

หลังมีประสบการณ์ทำงานเขียนที่โว้ก พร้อมกับใช้เวลาว่างเขียนนิยายเล่มแรก “Run River” ต่อมาเธอจึงหันเข้าสู่แวดวงนักข่าว ผลิตงานเขียนข่าวเชิงสารคดี และเขียนบทความวิพากษ์สังคมเป็นระยะ ซึ่งหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญให้เธอได้สัมผัสงานสไตล์นักข่าว คือ “จอห์น เกรเกอรี่ ดันน์” สามีนักหนังสือพิมพ์-นักเขียนของเธอนั่นเอง

งานของ โจน ดิเดียน พัฒนาไปสู่การเล่าเรื่องสังคม ยุคสมัย ฮิปปี้ ยาเสพติด ดนตรีร็อกแอนด์โรล อาชญากรรมสะเทือนขวัญ ช่องว่างระหว่างวัย การเหยียดสีผิว กระทั่งเข้าสู่ประเด็นการเมือง ผ่านลีลาภาษาที่ทำหน้าที่ราวกับยานพาหนะพาคนอ่านเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงตรงหน้า ซึ่งงานเขียนบทความตามยุคสมัยของเธอได้รับคำยกย่องว่าดีพอๆ กับเพลงของ “บ๊อบ ดีแลน” เลยทีเดียว

ในหนังสารคดีเรื่องนี้ เราจะเห็นวิถีการทำงานของ “โจน ดิเดียน” ที่อาจจะไม่ใช่นักข่าว นักเขียน ผู้นิยมช่างซักถามมากมายนัก แต่ที่แน่แท้เธอเป็น “นักสังเกตการณ์” แห่งยุคสมัยของสหรัฐอเมริกา และถ่ายทอดได้ในระดับเป็น “นักพยากรณ์เหตุการณ์” ที่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของตัวเองขึ้นมาได้

“ฉันบอกตัวเองว่าเห็นให้พอ แล้วเขียนมันลงไป” โจน ดิเดียน พูดไว้เรียบๆ

บางตอนจากงานเขียนถึง “นักการเมือง” สหรัฐที่เธอบรรยายได้เห็นแง่มุมของ “คนการเมือง” อย่างแยบคายว่า…

“พวกเขามักพูดด้วยภาษาที่ใช้แพร่หลายในวอชิงตัน (ที่ตั้งทำเนียบขาว, รัฐสภา) แต่พวกเราที่เหลือไม่ได้ใช้ภาษานั้น พวกเขาพูดถึงโครงการ นโยบาย และวิธีที่จะดันโครงการ พูดถึงการแลกเปลี่ยนฐานเสียงและการวางตัวผู้สมัคร และการไม่สนับสนุนผู้สมัคร พูดถึงข่าวสารและวิธีรับมือกับมัน พวกเขาพูดถึงผลงานของผู้สมัคร ซึ่งปกติหมายถึงทักษะของเขาในการเลี่ยงตอบคำถาม ไม่ใช่ในฐานะพลเมือง แต่ในฐานะวงในมืออาชีพ พวกเขามีหูที่ปรับรับเสียงต่างๆ ในระดับที่คนปกติไม่ได้ยิน”

เป็นการบรรยายสรรพคุณของนักการเมืองไว้ได้ครบครัน

เรื่องราวดำเนินมาถึงหนังสือเล่มที่สร้างชื่อให้เธอเป็นที่จดจำมากที่สุด “The Year of Magical Thinking” ที่ถ่ายทอดความอาลัยต่อการจากไปของ “สามี” ผู้ที่เธอรักที่สุด

ผลงานเลื่องชื่อชิ้นนี้ โจน ดิเดียน ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ยากที่สุด คือ การเขียนให้จบ เพราะระหว่างทางที่เขียนเธอต้องรับมือกับห้วงคำนึงที่ทำให้หวนรำลึกความเศร้านี้ออกมาเป็นระยะ และต้องทำความเข้าใจกับความคิดและจิตใจตัวเองว่า ถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้คนตายได้จากไป

“The Year of Magical Thinking” ถูกจัดกลุ่มเป็นหนังสือเยียวยาจิตใจ อาลัยต่อการสูญเสียเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลก เป็นการเขียนที่ค้นหาความคิดของเธอเอง เป็นการปลดปล่อย และได้ก่อร่างตกผลึกสร้างความคิดที่ชัดเจนบางอย่างหลังการสูญเสียขึ้นมา

ในภาพยนตร์สารคดี “Joan Didion : The Center Will Not Hold” ได้ถ่ายทอดภาพชีวิตแต่ละช่วงชั้นของ โจน ดิเดียน ออกมาอย่างหมดจด พร้อมส่งไม้ต่อให้คนดูอย่างเราขวนขวายหาผลงานอันแยบคาย ลุ่มลึกของเธอผู้นี้มาอ่านกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image