คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates เจาะสมอง ‘บิล เกตส์’ ตอนที่ 2 คนอวดดี ผู้เปลี่ยนแปลงโลก

ภาพประกอบจาก Youtube Video/Netflix

“ซีรีส์สารคดี” เรื่อง “Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates” นำเสนอให้เห็นชีวิต และความคิดของ “บิล เกตส์” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ในปัจจุบัน ว่า ณ ปี 2019 บิล เกตส์ วัย 63 ปี มองย้อนดูตัวเองแตกต่างจากเดิมแค่ไหน เมื่อครั้งยังเป็น “บิล เกตส์” วัยหนุ่ม ที่ถูกขนานนามในยุครุ่งโรจน์ว่าเป็นนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกที่มีทั้งผู้คนยกย่อง กับผู้คนที่เกลียดชัง โดยบรรยายสรรพคุณเขาไว้ว่า “ยโส” “อีโก้” “อวดดี” และทำธุรกิจ “ผูกขาด”

ปัจจุบัน บิล เกตส์ ที่อยู่ในวัยผ่านร้อนผ่านหนาว เขามีมุมมองสะท้อนต่อตัวเองอย่างไร

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates เจาะสมอง ‘บิล เกตส์’ ตอนที่ 1 มหาเศรษฐีผู้ทำเรื่องสกปรกให้สะอาด

โดยหนึ่งในเหตุการณ์ “เปราะบาง” ในยุคที่เขายังคงบริหารไมโครซอฟท์อย่างบ้าคลั่ง พาบริษัทพุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง คือ มิตรภาพระหว่าง “บิล เกตส์” กับ “พอล อัลเลน” เพื่อนรุ่นพี่สมัยเรียนมัธยมที่ร่วมมือกันก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ด้วยกัน

Advertisement

ทว่าสุดท้ายลงเอยที่ “ทางใครทางมัน” โดย “พอล อัลเลน” เสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปเมื่อปี 2561

เรื่องราวทวนเข็มนาฬิกาไปสมัยเด็ก “บิล เกตส์” คือเด็กห้าวประจำห้อง ผู้มีความเชื่อมั่นในสมองของเขาอย่างเต็มเปี่ยม เพราะสามารถทำคะแนนข้อสอบคณิตศาสตร์สูงลำดับต้นๆ ของประเทศ

ที่ห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน “บิล” ที่เรียนอยู่เกรด 7 เข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มโปรแกรมเมอร์ของโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยเด็กเกรด 10 หนึ่งในนั้น คือ “พอล อัลเลน” รุ่นพี่มัธยมในโรงเรียนที่อายุมากกว่า 2 ปี เขาทำให้ “บิล” ทึ่งในความสามารถในเรื่องคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรม

กระทั่งเป็น “พอล” ที่ชวน “บิล” มาร่วมกันเขียนซอฟต์แวร์ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์จนทำให้มองเห็น “ช่องทาง” ทำรายได้ และเป็น “จุดเริ่มต้น” ของไมโครซอฟท์ จนบิลตัดสินใจดรอปเรียนที่ฮาร์วาร์ด ทั้งคู่ออกมาลุยธุรกิจ เริ่มตั้งบริษัทจากห้องอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แออัดกับทีมงาน ทำงานกันดึกดื่น

ช่วง “ก่อร่างสร้างตัว” นั้น ถ้าจะมีใครใคร่ครวญในเวลานั้นว่า ทั้งบิล และพอล เป็นคู่หูที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในเรื่อง “ไลฟ์สไตล์” และเรื่อง “งาน” ก็จะไม่แปลกใจว่าเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทเติบใหญ่ ทำไมทั้งคู่จึงห่างเหินกัน

ไม่ว่าจะทำงานหนักหน่วงแค่ไหน “พอล” มีส่วนหนึ่งของมนุษย์ “สุขนิยม” เขาไม่ใช่โปรแกรมเมอร์สายเนิร์ดหมกมุ่นเนื้อแท้ แต่พอล มีความเป็นศิลปินในอีกด้านหนึ่ง เขาสามารถละวางงานโปรแกรมเมอร์เพื่อแบ่งเวลาไปฟังเพลง ร้องเพลงเล่นกีตาร์เพลงจิมิ เฮนดริกซ์ อ่านวรรณกรรมโปรดอย่างเชคสเปียร์เคล้านิยายวิทยาศาสตร์แบบบันเทิงคดี

ขณะที่ “บิล” ผู้มีแง่มุมที่จริงจังและมีแรงผลักดันในหน้าที่การงานมากกว่านั้น คลั่งไคล้การเขียนซอฟต์แวร์ชนิดที่ว่าทำได้ทั้งวันทั้งคืน เป็นมนุษย์ทำงานบ้าพลังที่ไม่เชื่อเรื่องวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดพักร้อน

เวลาผ่านไปหลายปีเมื่อบริษัทเติบใหญ่ขึ้น งานของบริษัทขยายไปมากกว่าการเขียนโปรแกรม “บิล” ผู้ทุ่มเททำงานให้ไมโครซอฟท์ 110% จึงมองว่า “พอล” ทุ่มเทต่อหน้าที่การงานน้อยลง

“ผมต้องการมีเงินในธนาคารมากพอ ที่ถึงแม้ไม่มีใครจ่ายเงินเราหนึ่งปี ผมยังจ่ายเงินเดือนทุกคนได้อยู่” บิลเล่าย้อนถึงความกระตือรือร้นอย่างยิ่งยวดของเขา

“มีหลายครั้งที่ผมจัดหนักใส่พอล ผมเรียกเขามาพูดว่า นี่ทำงานให้หนักขึ้นสิ”

ในสารคดีได้สัมภาษณ์ความเห็นของเพื่อนทีมงานชุดแรกเริ่มของไมโครซอฟท์ที่มองว่า พอลไม่มีความปรารถนาที่จะบริหารบริษัทใหญ่โต และเขาเริ่มเบื่อกับการทำงานหนักจนดึกดื่นตลอดเวลา

ขณะที่ “พอล” ให้สัมภาษณ์ไว้สั้นๆ ในช่วงท้ายๆ ของชีวิตว่า “บิลกับผมเป็นหยินกับหยาง เรามีความต่างทางรูปแบบในเรื่องของความเอาจริงเอาจัง”

เป็นความแตกต่างของสองผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจไมโครซอฟท์ จากแรกเริ่มที่เป็นธุรกิจกลุ่มเพื่อนที่สนิทเหมือนครอบครัวผันแปรไปเมื่อ “พอล” ตัดสินใจลาออกจากบริษัทในปี 1982

ความระหองระแหงของอดีตเพื่อนซี้กลายเป็นความเหินห่าง เมื่อทั้งคู่ปล่อยเวลานานเกินไป

ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ถาม “บิล เกตส์” ที่ไม่ได้แม้แต่ร่ำลา “พอล อัลเลน” ในห้วงสุดท้ายว่า “คุณเสียใจเรื่องพอลบ้างไหม”

…มีเพียงสีหน้านิ่งเรียบ แต่ในสมองกำลังครุ่นคิดอย่างปั่นป่วนหรือไม่…ไม่มีใครล่วงรู้คำตอบ

แม้จะสูญเสียมิตรภาพ ทว่า “บิล เกตส์” ยังมีอีกหนึ่งมิตรที่ชิดเชื้อจนถึงกาลปัจจุบันระดับที่คุยโทรศัพท์กันทุกวัน นั่นคือ มหาเศรษฐีหุ้นที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

ซีอีโอแห่งเบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ ผู้มีระบบการใช้ความคิดที่ซับซ้อนคล้ายกับเขา โดยบิล ประทับใจครั้งแรกที่ได้คุยกับเศรษฐีหุ้นคนนี้ตรงที่บัฟเฟตต์ตั้งคำถามทางธุรกิจได้น่าสนใจ

นอกจากเป็นคู่หูทางธุรกิจ “บัฟเฟตต์” ยังเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินรายใหญ่ให้ “มูลนิธิบิล เกตส์”

เงินส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในโปรเจ็กต์ที่มูลนิธิผลักดันเรื่อง การกำจัด “โรคโปลิโอ” ให้หมดไปอย่างถาวรในประเทศด้อยพัฒนา

มูลนิธิโฟกัสที่ “ไนจีเรีย” ที่มีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายใน 1 ปี ซึ่งการเข้าไปให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในประเทศไนจีเรียให้ทั่วถึงทุกชุมชนทำได้ยาก ในฐานะนักธุรกิจผู้ร่ำรวยบนความซับซ้อนของเทคโนโลยี เขาระดมทีมงานใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสร้างแผนที่ภูมิศาสตร์ประเทศไนจีเรียระดับแม่นยำสูงสุด ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง สร้างเป็นแผนที่ที่จะส่งต่อวัคซีนเข้าพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ ผนวกด้วยเขียนอัลกอริทึ่มเพื่อประเมินอัตราประชากร และความเร่งด่วนของพื้นที่ที่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปให้วัคซีนก่อน

เหมือนแผนการกำจัดโรคโปลิโอจะไปได้ดี แต่กลุ่มก่อการร้ายโบโกฮาราม เข้ามายึดพื้นที่ในไนจีเรีย ส่งผลให้การลำเลียงวัคซีนเข้าไปตามหมู่บ้าน ชุมชนทำได้ยากลำบากจนเข้าขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตของอาสาสมัครด้านสาธารณสุข

จนถึงปัจจุบันนี้ เป้าหมายที่จะกำจัดโรคโปลิโอของ “บิล เกตส์” ยังไม่ถึงฝั่งฝัน

หลังลาออกจากบริษัทไมโครซอฟท์เมื่อปี 2008 บิล เกตส์ ตั้ง “มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์” ทำงานด้านช่วยเหลือสังคมสงเคราะห์พื้นฐาน แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ทำมากกว่านั้น นั่นคือสร้าง “ทีมนวัตกรรม” ที่จะแก้ปัญหาในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งหลายโปรเจ็กต์ “บิล เกตส์” มีความฝันในระดับที่จะ “เปลี่ยนแปลงโลก”

ในตอนจบของลิมิเต็ดซีรีส์สารคดีชุดนี้ในสัปดาห์หน้าจะเล่าถึง “วิกฤตครั้งใหญ่” ของบิล เกตส์ ผู้ถูกมองเป็นปีศาจและนักธุรกิจผู้กระหายในโลกทุนนิยมจากกรณีไมโครซอฟท์เผชิญข้อหาบริษัทผูกขาดทางตลาด

ขณะที่ โปรเจ็กต์ล่าสุดของเขาคือ เทคโนโลยีสร้าง “โรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ต้นแบบที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ที่เขามั่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่ซ้ำรอย “เชอร์โนบิล” ที่รัสเซีย และ “ฟุกุชิมะ” ของญี่ปุ่น

แต่ทำไมโครงการที่เหมือนจะรุดหน้านี้กลับต้องสะดุดชะงักงันแบบที่ “บิล เกตส์” ถึงกับอุทานว่า “เวรแล้ว!”

ติดตามตอนจบของซีรีส์สารคดีเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image