สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทอดน่องท่องเที่ยว สมเด็จโต, สุนทรภู่, ระยอง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ภาพนี้สันนิษฐานว่าถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 หนึ่งในภาพที่แพร่หลาย และบุคคลในภาพนอกเหนือเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถูกสันนิษฐานตีความกันหลายความเชื่อว่าเป็นใครบ้างในภาพ ซึ่งบุคคลในภาพ 2 คนด้านหน้านี้ จากคำบอกเล่าของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า คุณสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่าสุนทรภู่นั่งพับเพียบด้านขวาของสมเด็จโต (มีวงไว้ด้านซ้ายในภาพ) ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ [รายงานโดย ชินวัฒน์ ตั้งสิทธิจิต]

ทอดน่องท่องเที่ยวไประยอง เมื่อสิงหาคม 2562 ผมเพิ่งได้รับความเห็นและข้อข้องใจของผู้ดูพริ้นต์บนกระดาษเมื่อตุลาคม 2562 [ผมล้าหลังทางเทคโนโลยี จึงไม่เคยเปิดดูเอง]

มีความเห็นและข้อข้องใจเกี่ยวกับ (1) สมเด็จโตกับสุนทรภู่ และ (2) ระยองหมายถึงอะไร? ผมขอสนทนาด้วยดังนี้

สมเด็จโต กับ สุนทรภู่

ขอเรียนถามว่าสุนทรภู่และสมเด็จโต เป็นบุคคลดัง เข้านอกออกในมหาราชวัง ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน เคยมั้ยที่ทั้งสองเคยพบกัน หรือเคยกล่าวเอ่ยถึงกันและกัน เช่น เวลาสมเด็จโตเทศน์แล้วกล่าวถึงสุนทรภู่ หรือสุนทรภู่แต่งกลอนแล้วกล่าวถึงสมเด็จโต เป็นต้น….ขอกราบขอบคุณครับ

ขณะที่สุนทรภู่บวชเป็นพระ เคยไปกราบสมเด็จโตด้วยหรือไม่” [Togtoy Gatoy]

Advertisement

ภาพเก่าเล่าเรื่อง

สุนทรภู่ เกิด พ.ศ.2329 สมเด็จโต เกิด พ.ศ.2331

สุนทรภู่ อายุมากกว่าสมเด็จโต 2 ปี ถือว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.1 โดยสามัญสำนึกก็น่าเชื่อว่ารู้จักมักคุ้นกัน แต่จะมากน้อยขนาดไหนไม่พบหลักฐาน

อ.ล้อม เพ็งแก้ว บอกว่าเมื่อดูตามช่วงเวลาแล้ว เชื่อว่าทันเห็นกัน แต่ไม่เคยเห็นหลักฐานว่าทั้งสมเด็จโตและสุนทรภู่เคยพูดถึงกัน แต่ขอให้สังเกตว่าเนื้อธรรมะที่สอนนางละเวงวัณฬา น่าจะมีคำสอนของสมเด็จโตสอดแทรกอยู่ด้วย

Advertisement

เรื่องสมเด็จโตกับสุนทรภู่ ผมเคยได้ยินตั้งแต่ราว พ.ศ.2518 สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ (ถึงแก่กรรม) กวีเมืองตรัง เคยกระตือรือร้นถอดรหัสภาพนิ่งสมเด็จโต มีศิษย์ 2 คน นั่งพับเพียบอยู่ด้านหน้า คนหนึ่งน่าจะเป็นสุนทรภู่ แต่ด้วยเหตุผลอะไรผมไม่ได้จำ เพราะตอนนั้นอ่อนด้อยทางปัญญา พื้นฐานความรู้ความเข้าใจไม่พอ แม้ถึงทุกวันนี้ก็มีเท่าเดิม จึงแสดงความเห็นใดๆ มิได้ นอกจากทบทวนความจำแล้วเขียนมาเล่าสู่กันอ่าน

สมเด็จโต บวชเณรในแผ่นดิน ร.1 เรียนที่สำนักวัดระฆัง กล่าวกันว่าเมื่อเป็นสามเณรท่านเทศน์ได้ไพเราะนัก

สุนทรภู่ ไม่ได้บวชเณร แต่อยู่วังหลัง แล้วเรียนหนังสือสำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม)

วังหลังทุกวันนี้คือโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ต่อเนื่องวัดระฆังด้านทิศเหนือ น่าเชื่ออย่างยิ่งว่าต่างวิ่งเล่นไปมาเป็นปกติอยู่ย่านนั้น บ้าน, วัด, วัง

รุ่นราวคราวเดียวกันยังมีอีกท่านหนึ่ง คือ ครูแจ้ง วัดระฆัง (ครูเสภาผู้แต่งกำเนิดกุมารทอง ผ่าท้องนางบัวคลี่) เชื่อว่าท่านเหล่านี้คุ้นเคยกัน

ระยอง หมายถึงไม้ประดู่

“ระยอง เป็นไปได้ไหมครับอาจารย์ว่าจะมาจากคำว่า ค่ะยอง ในภาษาชองที่แปลว่ากะซ้าหอย (กองเปลือกหอย) ซึ่งอยู่แถบแถวชายหาดเขตปากน้ำระยอง

ยุคที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ท่านหนึ่ง โปรโมตว่า ระยองมาจาก ราย็อง แปลว่าประดู่ ทำไมวัดกลางเมืองระยอง ที่มีพระพุทธไสยาสน์ตะแคงซ้ายจึงไม่ชื่อ วัดป่าราย็อง ทำไมชื่อวัดป่าประดู่ เรียนเป็นข้อมูลคร่าวๆ ประมาณนี้ก่อน ขอบคุณครับ” [Oak Wunnakrai]

ชื่อบ้านนามเมืองจากพรรณไม้

ระยอง มาจากภาษาชอง (ตระกูลมอญ-เขมร) ว่า ราย็อง แปลว่า ไม้ประดู่, ต้นประดู่, ป่าประดู่ ซึ่งเป็นไม้พื้นเมือง [จากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระยอง พิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 หน้า 21-22]

ระยอง เป็นภาษาชอง แปลว่า ไม้ประดู่ ผมได้จากหนังสือของทางการตามที่บอกมานี้ สอดคล้องเข้ากันได้กับชื่อบ้านนามเมืองใกล้เคียงแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มาจากชื่อพรรณไม้ต่างๆ ได้แก่ จันทบุรี มาจากไม้จันทน์, ตราด มาจาก ไม้ยาง

ด้วยความอยากรู้คำว่า ระยอง มาจากภาษาชองแน่หรือ? ผมตามไปขอซื้อหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา (จ.นครปฐม) พจนานุกรมภาษาชอง-ไทย-อังกฤษ ของ สุวิไล เปรมศรีรัตน์, ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร, อิสระ ชูศรี [สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522]

แต่เปิดหาหลายรอบไม่พบคำว่าระยอง จึงพยายามหาช่องทางติดต่อสอบถามนักวิชาการที่ทำพจนานุกรมที่ซื้อมาว่าทำอย่างไรจะรู้ที่มาและความหมายของระยอง แต่ความอดทนของผมไม่มากพอเลยล้มเลิก แล้วยอมโง่ต่อไปสบายกว่า

คำถามของ Oak Wunnakrai มี 2 เรื่อง ดังนี้

1.ระยอง มาจากค่ะยอง เป็นภาษาชอง แปลว่ากองเปลือกหอย ผมไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แต่ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น

2.ระยอง มาจากราย็อง เป็นภาษาชอง แปลว่าไม้ประดู่ ทำไมวัดกลางเมืองระยองไม่เรียกวัดป่าราย็อง? ตรงนี้ชวนคิด เลยต้องขอแรงช่วยกันคิดต่อไปอีก แต่น่าจะมีเหตุหนึ่งจากวัดนี้ไม่ได้มีมาแต่ครั้งคนชองตั้งหลักแหล่งอยู่ตรงนั้น เพิ่งมีวัดเมื่อคนทั้งหลายพูดไต-ไท เลยตั้งชื่อวัดป่าประดู่ตามสภาพแวดล้อมด้วยไม้ประดู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image