คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Ghosts of Sugar Land แด่เพื่อนผู้หายไปอยู่กับ ‘ไอเอส’

ภาพประกอบจาก Youtube Video / Netflix

วันหนึ่งในฤดูร้อน “บัสซั่ม ทาริค” หนุ่มอเมริกัน-มุสลิม ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊ก สิ่งที่เห็นบนหน้าฟีดของเขา คือเรื่องชวนประหลาดใจเข้าขั้นน่าตื่นตระหนก เขาได้เห็นโพสต์มากมายของอดีตเพื่อนสมัยเด็ก “วอร์เรน คริสโตเฟอร์ คลาร์ก” โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองบอกว่า ตอนนี้เขาอยู่ในรัฐอิสลาม

“ผมค่อนข้างแน่ใจว่าหลายคนต้องการรู้ว่าชีวิตที่นี่เป็นยังไง ดังนั้นผมจะเล่าอย่างไม่ปิดบัง” วอร์เรน บรรยายชีวิตของเขาลงบนเฟซบุ๊กหลังเข้าร่วมกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม “ไอเอส” ในซีเรีย

เรื่องราวของเขาท่ามกลางชีวิตในกลุ่มไอเอส และมุมมองต่อความเชื่อถูกเล่าอย่างพรั่งพรูราวกับเขียนไดอารี่ประจำวัน ผิดแต่ว่ามันถูกโพสต์ให้คนใกล้ชิด เพื่อนฝูงได้อ่านทางโซเชียลมีเดีย

ข้อความที่โพสต์มากมายเหล่านี้ชวนสะกิดใจให้ “บัสซั่ม” ที่นอกจากเป็นเพื่อนกับ “วอร์เรน” แล้ว เขายังเป็นนักสร้างหนังที่ย้ายมาทำงานในนิวยอร์ก ต้องการใช้ภาพยนตร์มาเป็น “สื่อกลาง” ให้เขาได้เริ่มต้นย้อนกลับไป “นับหนึ่ง” ใหม่ทั้งหมด หาเหตุจูงใจ เพื่อจะทำความเข้าใจความนึกคิดของ “วอร์เรน” เพื่อนสมัยมัธยมที่เรียนมาด้วยกันว่ามีจุดพลิกผัน ณ ตรงไหนสักช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ “วอร์เรน” ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มไอเอส เมื่อปี 2018

Advertisement

นำมาสู่การสร้างภาพยนตร์สั้นกึ่งสารคดีจากเรื่องจริง “Ghosts of Sugar Land”

“ชูการ์ แลนด์” คือชื่อเมืองในรัฐเท็กซัส เป็นชุมชนชานเมืองที่มีคนเอเชีย อาหรับ มุสลิม อาศัยอยู่หนาแน่น “วอร์เรน” คือเด็ก “แอฟริกัน-อเมริกัน” ที่เติบโตและสนิทชิดเชื้ออยู่กับกลุ่มเด็ก “มุสลิม-อเมริกัน” ด้วยความที่เขาแทบจะเป็นคนผิวดำส่วนน้อยในเมืองที่เต็มไปด้วยคนเอเชีย แม้แต่ในโรงเรียนเขาก็เป็นเด็กนักเรียนผิวสีเพียงคนเดียวท่ามกลาง เอเชีย-อเมริกัน และ มุสลิม-อเมริกัน

Advertisement

“ไม่มีใครรู้สิ่งที่เขาคิด” บัสซั่มเล่าไว้ “มันเป็นเรื่องเซอร์เรียล” ที่เพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนขี้อาย เป็นคนแปลกๆ และช่างคิด กำลังไปสู่เส้นทางที่หลงผิดหรือไม่?

คำถามที่อยู่ในหัวของ “บัสซั่ม” นำมาสู่การสร้างหนังสั้นกึ่งสารคดี ที่ผนวกด้วยเรื่องราวทั้งอ่อนไหวและชวนคิดใคร่ครวญหาตัวตนของ “วอร์เรน” ก่อนจะตัดสินใจไปเข้าร่วมไอเอส

ในซีเรีย

เราได้รู้จัก “วอร์เรน” ที่ในหนังแทนชื่อจริงของเขาด้วยนามสมมุติว่า “มาร์ค” ผ่านการบอกเล่าของกลุ่มเพื่อนมุสลิม-อเมริกันแต่ละคน ว่ามีประสบการณ์ ภาพจำ ความทรงจำแบบไหนต่อ “วอร์เรน” บ้าง

เพื่อนๆ มองว่า วอร์เรน น่าจะรู้สึกแปลกแยกมานานแล้วตั้งแต่เด็ก ทั้งเรื่องเชื้อชาติ และการไม่มีเพื่อนที่มาจากชาติพันธุ์เดียวกันในละแวกถิ่นที่อยู่เลย นั่นทำให้เขาได้คลุกคลีกับกลุ่มเพื่อนมุสลิมในโรงเรียนละแวกบ้านในชูการ์ แลนด์

ในมุมมองเพื่อนๆ มองว่า “วอร์เรน” รู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนนอก” มาโดยตลอด

กระทั่งเขาพบเจอที่ที่เหมาะกับตัวเอง คือ การเข้ากลุ่มกับเพื่อนมุสลิม-อเมริกันที่โรงเรียน ซึ่งยินดีต้อนรับ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ “วอร์เรน” หันมานับถือศาสนาอิสลาม และสนใจลงลึกในหลักคำสอนต่างๆ ซึ่งเพื่อนๆ ต่างยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้เคร่งครัดเรื่องศาสนามากนัก ผิดกับ “วอร์เรน” หนุ่มผิวสีผู้หันมานับถือศาสนาอิสลาม ที่มักเกิดข้อสงสัยต่างๆ ในหลักศาสนา กระทั่งเขาไปหาคำตอบเหล่านั้นด้วยตัวเอง

สภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่อาจมีส่วนบางอย่างต่อการตัดสินใจของ “วอร์เรน” นอกจากเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง หลังเรียนจบคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮุสตัน เขาไม่สามารถหางานทำได้ เพื่อนๆ เริ่มสังเกตเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปคือเขาเริ่มไว้หนวดเครายาว ขณะที่ในเฟซบุ๊กก็เริ่มโพสต์ข้อความตำหนิชาวมุสลิม-อเมริกันที่ไม่เคร่งครัดในหลักศาสนา จนวันหนึ่งเมื่อ “วอร์เรน” หายไป เพื่อนๆ ในชูการ์ แลนด์ ต่างได้รับทราบข่าวคราวอีกครั้งผ่านโพสต์บนเฟซบุ๊กของเขา ที่เล่าเรื่องราวชีวิตในไอเอสนั่นเอง

ในหนังเราจะได้เห็นเพื่อนๆ สะท้อนความรู้สึกผิด ความกลัว ความเศร้า โดยทั้งหมดได้ประกอบสร้างเข้าด้วยกันเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรกับ “เพื่อนสนิท” ที่หายไปจาก “ชูการ์ แลนด์”

เพื่อนบางคนโทษตัวเองว่า ทุกครั้งเวลาที่ “วอร์เรน” สงสัยหรือสนใจในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เขาควรจะให้คำตอบ หรือพาไปพูดคุยกับผู้นำศาสนาที่จะอธิบายถึงแก่นแท้ของมุสลิม แต่เพราะการเพิกเฉยของพวกเขาทำให้วอร์เรนถลำตัวไปในแนวทางสุดโต่ง

ถึงตรงนี้ในมุมมองเพื่อนๆ มองว่า “วอร์เรน” คือคนหนุ่มที่มีชีวิตแสนเหงาและต้องการมีชุมชนในแบบของเขา ซึ่งลงเอยที่เขาคือหนึ่งในคนสัญชาติอเมริกันราว 300 คน ที่ถูกรายงานว่าเข้าไปร่วมกับไอเอส โดยเขาเริ่มเข้าไปในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษในรัฐอิสลาม

ขณะเดียวกันดูเหมือนเป็นการจงใจที่ “บัสซั่ม” ใช้วิธีเล่าเรื่อง ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อนๆ ของวอร์เรน โดยให้พวกเขาสวม “หน้ากาก” ตัวการ์ตูนต่างๆ เพื่ออำพรางหน้าตา เสมือนหนึ่งให้พวกเขาก็เป็น “มนุษย์ไร้ตัวตน” ไม่ต่างจาก “วอร์เรน” เพราะเรื่องราวจากมุมเพื่อนๆ ก็มีความ “อ่อนไหว” เจือปนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยอัตลักษณ์ที่พวกเขาเป็นมุสลิม-อเมริกัน ในสหรัฐอเมริกา ที่มักถูกสอดส่องจากทางการ และต้องถูกผู้คนหวาดระแวงไม่ไว้ใจ หลังเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือ 9/11 ซึ่งสังคมมุสลิม-อเมริกันในชูการ์ แลนด์ ก็ตกอยู่ในสภาพความกลัวที่อาจเป็นเป้าของการถูกทำร้ายหรือถูกกลั่นแกล้งจากความเกลียดชังได้เช่นกัน

“บัสซั่ม” เล่าว่า ความยากของการถ่ายทอดเรื่องนี้ คือ เขาพยายามจะไม่พรรณนาหรือบรรยายบ่งชี้ตัดสินการกระทำและการตัดสินใจของวอร์เรน เพราะไม่ใช่ทั้งความโง่เขลา หรือสภาวะจิตใจที่ต้องการก่ออาชญากรรม แต่ต้องการนำเสนอให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน

ไม่นานหลังจากหนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จ มีรายงานว่า “วอร์เรน” ถูกจับกุมตัวได้ที่ซีเรีย และส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อมาดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา โดยขณะนี้คดีของเขาอยู่ระหว่างการพิจารณา

“Ghosts of Sugar Land” คือหนังรางวัล “ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม” ประเภท Nonfiction ที่ “เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์” ปีนี้ ความที่ตัวหนังไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องของเพื่อนวัยเด็กคนหนึ่งที่ตัดสินใจไปเข้าร่วมกับไอเอสเท่านั้น แต่ยังพูดถึงชีวิตและสังคมคนมุสลิม-อเมริกัน ชนชั้นกลางในย่านชานเมืองด้วยว่าพวกเขาเองต่างก็ต้องเผชิญสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน

โดยเฉพาะการถูกตัดสิน และอาจมองพวกเขาอย่างระแวดระวัง ราวกับเขาเหล่านั้นเป็น “ผี” ณ ชูการ์ แลนด์ นั่นคือคำตอบที่ “บัสซั่ม” ทิ้งท้ายไว้ในหนังสั้นกึ่งสารคดีที่เล่าได้ลึกซึ้งเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image