คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน : Property Tax เศรษฐีอีแอบ

Photo by Acharaporn Kamornboonyarush from Pexels

มาละเหวยมาละวา มาดูปาหี่ภาษีที่ดิน ตา ลา ลา

เอ้า หุย ฮา โห่ ฮิ้วววว

หัวข้อชวนคุยวันเน้ ขอปรบมือดังๆ ให้กับเกมลับ ลวง พราง ว่าด้วยการบังคับจัดเก็บภาษีตัวใหม่ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

ชื่อพระราชบัญญัติชัดเจนที่สุดในสามโลกว่าเก็บภาษีจากผู้ถือครองทรัพย์สิน+สิ่งปลูกสร้าง

Advertisement

ใครไม่อยากจ่าย ก็ไม่ต้องมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเป็นของตัวเอง

ชื่อเล่นภาษีใหม่ก็เลยมีหลายชื่อ ขึ้นกับความสะดวกปาก เช่น ย่อคำเหลือแค่ภาษีที่ดิน

บางทีก็เรียกว่าภาษีทรัพย์สิน ซึ่งก็เลยเข้าใจกันโดยอัตโนมัติว่ามันคือ property tax

Advertisement

แต่ก่อนแต่ไรไม่เคยเอะใจ หรือระแคะระคายใดๆ มาก่อน ยุครัฐบาล คสช. ก็เคยทำท่าจะแท้ง แต่ในที่สุดก็คลอดเป็นกฎหมายออกมาจนได้

ในระหว่างทาง มีความพยายามอธิบายหลักการและเหตุผลว่า เพื่อกระจายความยุติธรรมทั่วถึง การจัดเก็บก็เลยแบ่ง 4 กลุ่ม

ประกอบด้วย 1.ที่ดินเกษตรกรรม 2.ที่อยู่อาศัย 3.ทำการค้า (คนอธิบายเขาพยายามพูดให้ติดปากว่าเป็นที่ดินประเภทอื่นๆ) และ 4.ที่ดินเปล่า

ที่ดินประเภทเกษตรกรรมกับที่อยู่อาศัย กระทบพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศ

ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา มีการยกเว้นมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เจ๊ากันไป ไม่ต้องจ่ายภาษี

แต่ถ้าเป็น “นิติบุคคล” ขึ้นมาเมื่อไหร่ รัฐบาลเก็บตั้งแต่บาทแรก

โอ๊ย ทั่นผู้ชม ออกแบบภาษีมาแบบนี้ก็สะใจกันทั้งเมือง โขกมันเข้าไป เก็บภาษีแพงๆ พวกบริษัทห้างร้านทั้งหลาย

ยิ่งยี่ห้อบิ๊กเนม คราวนี้ล่ะเว้ย อยากดูเศรษฐีปาดน้ำตาจ่ายภาษีทรัพย์สิน

แต่คำตอบสุดท้ายคือคุณคิดผิด เพราะเขาประดิดประดอยกลไกลับไว้ข้างใน

เอาเป็นว่าเรามาเปิดโปง เอ้ย ไม่ใช่ เรามาเปิดปูมเรื่องใหญ่ๆ สัก 2 ประเด็นละกันค่ะ

เริ่มจากการยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมสำหรับบุคคลธรรมดา

หลักกฎหมายใหม่บอกว่า บุคคลธรรมดาถือครองที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

อันนี้ดีงาม เจอหน้าอยากกราบเบญจางคประดิษฐ์คนที่ต่อสู้เรื่องนี้ให้พี่น้องเกษตรกร

ปัญหามีอยู่ว่าไปสอดไส้กันมาอีท่าไหนไม่ทราบ พวกเล่นยกเว้นให้กับทุก อบต.

ซึ่งจริงๆ ก็คือยกเว้น 50 ล้านบาทแรกให้กับทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ 7,700 แห่งทั่วไทย

จิงจิงแล้วเรื่องนี้ไม่น่าจะหนักศีรษะใคร แต่บังเอิญไปรู้มาว่ากฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปคือภาษีบำรุงท้องที่

มีหลักการยกเว้นมูลค่าทรัพย์สินให้กับผู้ถือครองประเภทบุคคลธรรมดาแค่จังหวัดเดียว

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ยกเว้นจ่ายภาษีให้เพียงแค่ 1 จังหวัด

แต่กฎหมายใหม่บอกว่าทุกๆ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เทศบาล พัทยา และ กทม.(กรุงเทพมหานคร)

ใครมีที่ดินมูลค่า 50 ล้านบาทแรก ฟรีจ้า

แบบนี้คหบดี อาซิ้มอาซ้อ อาเฮียอากู๋ นั่งหัวเราะจนกรามโยกกันเลยทีเดียว

อืมม์ จะนับรวมหัวคะแนนกับนักการเมืองเข้าไปด้วย ดีหรือป่าวน้อ

ภาษีเก่า อั๊วมีที่ดินกระจายอยู่ 10 อบต. แต่ได้รับยกเว้นภาษีแค่จังหวัดเดียว

ภาษีใหม่ ฉีกหลักการจังหวัดเดียวทิ้ง แบบนี้ที่ดิน 10 อบต.ก็เท่ากับได้รับยกเว้นมูลค่า 500 ล้าน

ถ้ามี 100 อบต. ห๋า เท่าไหร่นะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่ารวมกัน 5,000 ล้าน

จบข่าว

อีกเรื่องคือห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย รวยแบบไม่เกรงใจใคร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าเจ้าของห้าง โรงแรม ออฟฟิศบิลดิ้ง มีรายได้ค่าเช่า ก็ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน 12.5%

ส่วนจะแจ้งตามรายได้ค่าเช่าจริง หรือแจ้งแบบบอกไม่ครบ เป็นอีกเรื่อง

ปรากฏว่า Property tax ซึ่งเป็นของใหม่ ทำท่าจะจ่ายภาษีน้อยลง

อยากรู้ว่าทำยังไง วิธีการมีดังนี้

กฎหมายใหม่บอกชาวบ้านว่าเพื่อความยุติธรรมและจูงใจให้บริษัทห้างร้านมาจ่ายภาษี ก็เลยมีการซอยภาษีเป็นขั้นบันได

จะได้ดูแลผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย

เท่านั้นไม่พอ กฎหมายยังอุตส่าห์ไปแยกเก็บ “ที่ดิน” กับ “สิ่งปลูกสร้าง” แยกกันคนละก้อน

ความมาแตกทีหลังว่าสิ่งที่กฎหมายบอกไม่หมด เรื่องเหล่านี้กลายเป็นช่องทาง “อุ้ม” เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นนิติบุคคล

คิดเล่นๆ สมมุติ “นายโต๊ะ ตู้ เตียง” เป็นเจ้าของศูนย์การค้า

เดิมเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งศูนย์มีบริษัทเดียว

ต่อมา อุ๊ยตาย property tax เปิดช่องนี่หว่า อย่ากระนั้นเลย

นายโต๊ะ ตู้ เตียง สั่งลูกน้องให้ตั้งบริษัทหลายๆ แห่ง เพื่อแยกกันถือกรรมสิทธิ์ในศูนย์การค้า

เช่น ห้างสรรพสินค้าวิมานในอากาศ มีบริษัท ก ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน, บริษัท ข ถือกรรมสิทธิ์ตึกด้านหน้า

บริษัท ค ถือกรรมสิทธิ์ตึกด้านหลัง, บริษัท ง ถือกรรมสิทธิ์ที่จอดรถ ฯลฯ

สมมุติว่าเรื่องนี้มีจริง ศูนย์การค้าแห่งเดียวแต่มีนิติบุคคลหลายแห่งถือกรรมสิทธิ์

นั่นหมายความว่าทุกๆ นิติบุคคลจะได้รับสิทธิยกเว้น-ลดหย่อนเท่าเทียมกัน

ถอดสมการออกมา หนึ่งห้างหนึ่งเจ้าของ=จ่ายแพง

แต่ถ้าหนึ่งห้างหลายเจ้าของ=จ่ายถูกลง

ปาหี่ภาษีที่ดิน จบอีกข่าว (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image