คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เตรียมรับปีใหม่

แฟ้มภาพ

เข้าสู่เดือนธันวาคมแล้ว เดือนนี้ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปี

เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม แสดงว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงปีใหม่

ปี 2562 นี้ก็เช่นกัน

จากวันนี้ถึงวันสิ้นเดือน เหลือระยะเวลาอีกไม่นาน

Advertisement

เมื่อเข้าสู่เทศกาลวันปีใหม่ คนไทยจะไชโยกับวันหยุดยาว

ก่อนจะถึงวันหยุดยาว สสส.ได้ส่งข้อมูลมาให้ช่วยกันเตือนสติ

เตือนสติสำหรับการเดินทาง

Advertisement

เอกสารเรื่อง “กลับบ้านปลอดภัย คือ ของขวัญที่ล้ำค่า ครอบครัว พร้อมหน้า รอคุณอยู่” นั้นบ่งบอกแผนปฏิบัติการที่ทุกฝ่ายควรตระเตรียม

เป็นแผนเตรียมการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

พลิกไปพลิกมาสรุปสาระสำคัญน่าสนใจหลายประการ

อย่างหนึ่ง คือ สถิติการสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่

ปี 2560 มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 4,128 คน

ปี 2561 บาดเจ็บ 4,005 คน ปี 2562 บาดเจ็บ 3,892 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อปี 2560 มี 478 คน ปี 2561 เสียชีวิต 423 คน และปี 2562 เสียชีวิต 463 คน

การสูญเสียดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก 3 ประการใหญ่ๆ

หนึ่ง เกิดจากคน เช่น ประมาท ไม่เคารพกฎจราจร ร่างกายไม่พร้อม

สอง เกิดจากยานพาหนะ เพราะพื้นฐานขาดความพร้อม

สาม เกิดจากสภาพถนน อาทิ จุดอันตราย ผิวถนน ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น

โฟกัสไปที่พฤติกรรมผิดกฎหมายและนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ มี 10 ประการ

1.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 2.ขับรถย้อนศร 3.ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร

4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5.ไม่มีใบขับขี่ 6.แซงในที่คับขัน

7.เมาสุรา 8.ไม่สวมหมวกนิรภัย 9.มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย

และ 10.ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

เอกสารของ สสส.ยังชี้เป้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากๆ และพื้นที่เสี่ยงน้อยๆ

พื้นที่เสี่ยงมาก แทนด้วย สีแดง มี 34 อำเภอ

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงรองลงมา มี 138 อำเภอ แทนด้วย สีส้ม

พื้นที่เสี่ยงน้อยลงมาอีกหน่อย เป็นพื้นที่สีเหลือง มี 664 อำเภอ

และความเสี่ยงน้อย หรือไม่เสี่ยง แทนด้วย สีเขียว มี 42 อำเภอ

สรุปว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้นมีมากเหลือเกิน จึงต้องเตรียมการกันตั้งแต่เนิ่นๆ

และต้องเตรียมการกันในรูปแบบ “บูรณาการ” คือ ร่วมมือร่วมใจกัน

ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น

สำหรับข้อเสนอแนะในการป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียมีปรากฏอยู่ในเอกสารด้วย

ยกตัวอย่างข้อเสนอสำหรับท้องถิ่น

คือ ให้ท้องถิ่นใช้กลไก “ด่านครอบครัว” ช่วยกันป้องกันความเสี่ยงของคนที่บ้าน

ทำหน้าที่ตักเตือน ป้องปรามคนในบ้านไม่ให้ดื่มแล้วขับ ไม่ให้ขับรถเร็ว ไม่ให้ฝืนกฎจราจร

ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สวมหมวกกันน็อก ใส่เข็มขัดนิรภัย และอื่นๆ

เสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ แล้วจัดโครงการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” ขึ้นมา

แล้วบูรณาการความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับฝ่ายปกครอง และตำรวจ ช่วยกันรณรงค์เรื่องวินัยจราจร

เรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่นี้ เคยเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เขามี “ด่านชุมชน” มีชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกัน

คอยตักเตือนคนในพื้นที่ให้ทำตามกฎจราจร และดูแลความปลอดภัยไปในตัวด้วย

เอกสารที่ส่งมาตอกย้ำความพร้อมในเรื่องแผน

แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ

และต้องเป็นการร่วมกันปฏิบัติ

ภาครัฐต้องเอาใจใส่ต่อสภาพถนน และเข้มงวดกวดขันเรื่องรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องตรวจเช็กยานพาหนะ และมีความพร้อมในการขับขี่

ถ้ายังรักสนุกในเรื่องดื่ม ถ้ายังฝืนง่วงแล้วขับ ถ้ายังนิยมใช้ความเร็วราวจรวด

สุดท้ายคงหนีไม่พ้นความสูญเสีย

แต่ถ้าทุกฝ่ายรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ

เตรียมสภาพถนนให้พร้อมสำหรับยวดยาน เตรียมยานพาหนะให้พร้อมก่อนเดินทาง

เตรียมตัวเองมิให้เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่

ความฝันที่อยากเห็นเมืองไทยไร้การสูญเสียจากอุบัติเหตุก็น่าจะเป็นจริงได้

หรือแม้จะไม่สามารถทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ แต่ถ้าการสูญเสียเป็นศูนย์ได้ ก็ยังดี

ทุกอย่างจะเป็นจริงได้ ทุกคนต้องช่วยกัน

ช่วยกันพาตัวเองกลับบ้านอย่างปลอดภัย

เพราะนั่นคือของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดของครอบครัว

ดังนั้น ไม่เพียงแค่หน่วยงานรัฐเท่านั้นที่จะต้องเตรียมรับปีใหม่

ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทาง

ทุกคนควรเตรียมพร้อมสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

เตรียมพร้อมเพื่อความปลอดภัย เพื่อความสุขของครอบครัว

จากวันนี้กว่าจะถึงปีใหม่ ทุกคนยังมีเวลาตระเตรียม

หวังว่า ปีใหม่ปีนี้จะเป็นปีที่ไม่มีผู้ใดสูญเสียไปจากอุบัติเหตุ

ยังมีเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ยังมีเวลาเตรียมพร้อมก่อนปีใหม่

ขออวยพรให้แต่เนิ่นๆ ขอให้ทุกคนโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image