คอลัมน์ โลกสองวัย : มรดกลูกเสือมอบไว้เมื่อมีพิพิธภัณฑ์

วันก่อน อรรถ แสงจิตต์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการลูกเสือโลก ส่งข้อความพร้อมภาพผ่านไลน์มาว่า รับเด็กๆ ลูกเสือญี่ปุ่นมาพักที่บ้านเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ประเพณีของสังคมไทยกับลูกชายที่เป็นลูกเสือเช่นกัน เป็นการยืนยันตามกฎของลูกเสือที่ว่า “เราเป็นมิตรกับทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก”

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 เป็นวันระลึกถึงประมุขคณะลูกเสือโลก พลโท ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ แห่งกิลเวลล์ ที่มีสารบันทึกไว้ว่า

ลูกเสือที่รักทั้งหลาย ถ้าเธอเคยได้ดูละครเรื่อง พิเตอร์แพน เธอจะจำได้ว่าหัวหน้าโจรสลัดได้กล่าวสุนทรพจน์ก่อนที่เขาจะตายอยู่เสมอ เพราะเขากลัวว่าเมื่อถึงเวลาที่เขาจะตายจริงๆ เขาอาจไม่มีเวลาที่จะพูดมาให้พ้นอกของเขา ฉันเองก็อยู่ในสภาพคล้ายเช่นนั้นมาก และแม้ว่าในขณะนี้ฉันจะยังไม่ตาย วันหนึ่งฉันก็คงจะต้องตาย และฉันต้องการกล่าวคำอำลาต่อเธอก่อนที่ฉันจะจากไป

จงจำไว้ว่าจดหมายนี้จะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เธอจะได้ยินจากฉัน ฉะนั้นขอให้เธอคิดดูให้ดี ฉันได้มีชีวิตที่เป็นสุขอย่างยิ่ง และฉันต้องการให้เธอแต่ละคนมีชีวิตที่เป็นสุขเหมือนกับฉัน

Advertisement

ฉันเชื่อว่าพระเจ้าได้ส่งให้เรามาเกิดบนโลกที่สนุกสนานนี้ โดยมุ่งหมายให้เรามีความสุข และได้รับความพอใจจากชีวิต ความสุขมิใช่มาจากความมั่งมี และมิใช่เพียงได้ประสบความสำเร็จในงานอาชีพของเธอ หรือโดยการตามใจตนเอง อันหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสุข คือทำตนให้มีอนามัยดีและแข็งแรงในขณะที่เธอยังเด็ก เพื่อว่าเธอจะได้เป็นคนที่มีประโยชน์ และสามารถรับความพอใจจากชีวิตในเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่

ธรรมชาติศึกษาจะแสดงให้เธอเห็นว่าพระเจ้าได้สร้างโลกซึ่งเป็นไปด้วยสิ่งสวยงามและน่าอัศจรรย์ใจสำหรับให้เธอเพลิดเพลิน จงมีความพอใจในสิ่งที่เธอมีอยู่และใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จงมองเรื่องต่างๆ ในแง่ดี แทนที่จะมองในแง่ร้าย

แต่ทางอันแท้จริงที่จะหาความสุข คือโดยการให้ความสุขแก่ผู้อื่น จงพยายามปล่อยอะไรทิ้งไว้ที่โลกนี้ให้ดีกว่าที่เธอได้พบสักเล็กน้อย และถึงเวลาที่เธอจะต้องตาย เธอก็จะสามารถตายอย่างมีความสุข โดยระลึกว่าอย่างน้อยเธอก็มิได้ทำลายเวลาให้เสียไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

Advertisement

“จงเตรียมพร้อม” ในทางนี้เพื่อจะได้มีชีวิตมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข และตายอย่างมีความสุข

จงยึดมั่นในคำปฏิญาณของลูกเสือของเธอไว้เสมอ แม้ว่าเธอจะพ้นวัยเด็กแล้วก็ดี และขอให้พระเจ้าจงช่วยเธอทำเช่นนั้น-เพื่อนร้กของเธอ-เบเดน-โพเอลล์ แห่งกิลเวลล์

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ผ่านวันเวลาของชีวิตมาไม่น้อย ผ่านมาเท่าไหร่แล้วหรือ-ไม่บอก แต่มีเพื่อนหลายคนที่รุ่นราวคราวเดียวกันยังแข็งแรง ดูรูปร่างหน้าตาแล้ว อาจอยู่ได้ถึงร้อยปีปลาย แต่บางคนเพิ่งพ้นวัยเกษียณตามกำหนดของทางราชการ คือ หกสิบปีบริบูรณ์มาไม่นาน เห็นว่า “เตรียมพร้อม” เขียนพินัยกรรมยกสมบัติพัสสถานให้ลูกให้เมียกันแล้ว

คนหนึ่งคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล ตำแหน่งทางการศึกษา เป็นผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสาธารณะและการจัดการ บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

อยู่ในวงการลูกเสือมากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต มีตำแหน่งในคณะลูกเสือแห่งชาติหลายตำแหน่ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของคณะลูกเสือต่างประเทศหลายประเทศ

เมื่อหลายวันก่อน ดร.อาณัฐชัย พบกับ อรรถ แสงจิตต์ ซึ่งเป็นลูกเสือมานานเช่นเดียวกัน และมีอาชีพทนายความ ได้ปรารภว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเขียนพินัยกรรมไว้เพื่อมอบทรัพย์สมบัติอันพึงมีให้กับทายาท ขณะเดียวกัน มีสิ่งของจำนวนหนึ่ง คือเหรียญตราทั้งจากทางราชการไทย และเหรียญลูกเสือสดุดีจากคณะลูกเสือไทยและต่างประเทศ

“หากจะให้เป็นมรดกกับลูกหลานไม่น่าจะมีประโยชน์กี่มากน้อย จึงขอมอบให้คุณพี่อรรถช่วยพิจารณาว่าจะนำไปทำประโยชน์ในวงการลูกเสืออย่างไรบ้าง เช่น ส่งมอบให้คณะลูกเสือแห่งชาติ เผื่อไว้เป็นประโยชน์หากจะสร้างพิพิธภัณฑ์ลูกเสือไทยเป็นเรื่องเป็นราวจะได้มีสมบัติของลูกเสือไว้แสดงบ้าง” ดร.อาณัฐชัยว่าอย่างนั้น จึงขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image