คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ปั้นเมืองดนตรี

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก "Thailand Philharmonic Orchestra"

อ่านมติชนพบความเคลื่อนไหวของจังหวัดสุพรรณบุรี ขยับเสนอให้ยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองดนตรี

เข้าใจว่าหมายถึง เข้าไปเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” ของยูเนสโก

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ดังกล่าวแบ่งเป็น 7 สาขา คือ วรรณคดี (Literature) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) ดนตรี (Music) หัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) มีเดีย อาร์ต (Media arts) และอาหาร (Gastronomy)

ในจำนวนนี้เมืองไทยเราได้เข้าร่วมเครือข่ายไปแล้วหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สาขาด้านการออกแบบ สุโขทัย และเชียงใหม่ สาขาด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน รวมถึงภูเก็ตสาขาด้านอาหาร

Advertisement

นี่ถ้าสุพรรณบุรีเข้าสาขาดนตรีก็น่าจะดี

แต่นอกจากสุพรรณบุรีแล้ว ดูเหมือนว่านครปฐมก็ต้องการผลักดันจังหวัดให้เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ด้านดนตรีเหมือนกัน

วันก่อนได้พบปะพูดคุยกับ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยินคำว่า “เมืองดนตรี” นี่เหมือนกัน

Advertisement

อาจารย์ณรงค์บอกว่า จังหวัดนครปฐมน่าจะมีโอกาสได้รับการรับรองจากยูเนสโกในด้านดนตรี

เพราะคุณสมบัตินครปฐมเข้าเกณฑ์เมืองดนตรีดังกล่าว

ยกตัวอย่าง เช่น คุณสมบัติที่ว่า ในพื้นที่ดังกล่าวต้องมีสถานศึกษาดนตรีชั้นสูง

คุณสมบัติข้อนี้ อาจารย์ณรงค์ถ่อมตัวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะตอบโจทย์”

ขณะที่คุณสมบัติเรื่องพื้นที่การแสดงและฝึกซ้อมจังหวัดนครปฐมก็ไม่มีปัญหา

จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ลานโล่งตอบสนองโจทย์ข้อนี้

และยังมีหอแสดงภายในพระราชวังสนามจันทร์ที่สามารถเล่นดนตรีได้

นอกจากนี้ ยังมีหอประชุมมหิดลสิทธาคาร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการยอมรับว่าเหมาะสำหรับการดนตรี

ขณะเดียวกัน นครปฐมมีครูเพลง มีศูนย์ฝึกอบรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง

นี่แค่ยกมาเป็นตัวอย่าง

ความเพียบพร้อมดังกล่าวน่าจะดลใจให้ยูเนสโกรับรองให้นครปฐมเป็นเมืองดนตรี

ถ้าทำได้ นครปฐมจะเป็นเมืองที่โลกรู้จัก และยังจะมีแรงสนับสนุนให้นครปฐมมีศูนย์วิจัยด้านดนตรีอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยภูมิศาสตร์ของนครปฐมที่เป็นเมืองศูนย์กลางมาตั้งแต่อดีต

ต่อไปถ้าจีนขยายเส้นทางการค้า นครปฐมจะได้รับอานิสงส์

เมื่อรวมกับแผนระบบขนส่งที่จะมีรถไฟลอยฟ้ามาถึงนครปฐม มีสถานีรถไฟฟ้าอยู่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

นครปฐมจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์จุดหนึ่ง

ผลที่ตามติดเป็นลำดับต่อมาคือ ครีเอทีฟ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์

คำคำ นี้ได้ยินมานานแล้ว และเคยเป็นความหวังที่จะผลักดันให้ขับเคลื่อน

แต่ระยะหลังข่าวคราวจางหายไป มาได้ยินครั้งนี้ที่อาจารย์ณรงค์พูดถึง จึงช่วยสะกิดให้ระลึกถึง

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นอีกหนึ่งทางออกของไทย

เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ “เอกลักษณ์ไทย” ด้วยวิธีที่เข้ากับโลกใบนี้ได้

ในมุมมองของอาจารย์ณรงค์เห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีของดี

มีพื้นฐานความพร้อมทางศิลปวัฒนธรรมและดนตรี

มีวัฒนธรรม มีครูเพลง มีพื้นที่ และมีสถาบันศึกษาด้านดนตรี

สถาบันการศึกษาด้านดนตรีที่ว่านั้น ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

หากสามารถผลักดันนครปฐมให้เป็นเมืองดนตรีได้

นวัตกรรมจากไอเดีย และฝีมือคนไทยจะมีช่องทางอวดโฉม

โลกจะรู้จักคนไทยในเชิงคุณภาพด้านดนตรี

ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามผลักดันในเรื่องนี้

มีงานประกวดดนตรี และการแสดงดนตรีหลายครั้งจนแวดวงคนดนตรีทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ

สุดสัปดาห์นี้ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ หรือ TIJC 2020

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 แล้ว

พอถึงเดือนเมษายน มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ (Thailand International Wind Symphony Competition) รอบสุดท้าย ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

การประกวดนี้เคยจัดมาระยะหนึ่งแล้วต้องเลิก เพราะขาดการสนับสนุน กระทั่งเครือคิง เพาเวอร์ เห็นคุณค่า “พลังคนไทย” จึงยื่นมือเข้ามาสนับสนุน

การประกวดระดับนานาชาติจึงหวนกลับมาอีกครั้ง

ส่วนวงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือวงไทยแลนด์ฟีลฯ ก็ยังมีแสดงในวันศุกร์และเสาร์

ทุกๆ การประกวด ทุกๆ การแสดง ล้วนแล้วแต่มีความสร้างสรรค์

มีต่างชาติสนใจ มีคนไทยเข้าร่วม

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์นับตั้งแต่ยุคอาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นคณบดี จนบัดนี้อาจารย์ณรงค์ รับช่วงต่อ มีพัฒนาการ จากพัฒนาวง พัฒนาในรั้วมหาวิทยาลัย ก้าวต่อไปคือ ชุมชน

ผลักดันนครปฐมให้เป็น city of music ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด อีกปีสองปีข้างหน้าคนไทยคงได้ยินข่าวดี

ข่าวที่ไทยมีเมืองดนตรีที่คนทั่วโลกสนใจมาเยี่ยมเยือน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image